บัลลังก์ทุเรียนไทยในจีนจะสั่นสะเทือนหรือไม่ และจะมีวิธีปรับตัวอย่างไร หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า ชาวสวนทุเรียนในเมืองม้าวหมิง มณฑลกวางตุ้ง ปลูกทุเรียนพันธุ์มูซังคิงและพันธุ์หนามดำที่นำต้นกล้าไปจากมาเลเซียได้สำเร็จ และเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เวียดนามเป็นประเทศที่ 2 ในโลกที่ส่งออกทุเรียนสดล็อตแรกถึงประเทศจีนได้สำเร็จ
กล่าวได้ว่า “ทุเรียน” เป็นผลไม้สุดโปรดของชาวจีน การบริโภคทุเรียนของชาวจีนมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ที่ผ่านมา “ไทย” เป็นประเทศเดียวที่ได้รับอนุญาตการส่งออก “ทุเรียนสด” ไปยังประเทศจีนได้ (มาเลเซีย สามารถส่งทุเรียนแช่แข็งแบบทั้งลูกและแกะเปลือก) มีปริมาณการส่งออกปีละหลายแสนตัน
เฉพาะปี 2564 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนสดจากไทยมากถึง 821,556 ตัน เพิ่มขึ้น 42.66% (YoY) มูลค่า 27,217 ล้านหยวน หรือราว 1.44 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 68.43% (YoY) โดย “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” เป็นมณฑลที่มีมูลค่าการนำเข้าทุเรียนจากไทยมากที่สุด ด้วยมูลค่า 8,078 ล้านหยวน (ราว 2.21 แสนตัน) ตามด้วยมณฑลกวางตุ้ง 7,253 ล้านหยวน (ราว 2.367 แสนตัน) นครฉงชิ่ง 3,876 ล้านหยวน (ราว 1.25 แสนตัน) มณฑลเจ้อเจียง 2,088 ล้านหยวน (ราว 80,513 ตัน) และมณฑลยูนนาน 2,088 ล้านหยวน (ราว 66,007 ล้านหยวน)
การเป็นประเทศผู้ส่งออก “ทุเรียนสด” ไปจีนเพียงรายเดียวของไทยได้กลายเป็นอดีต หลังจากที่เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของเวียดนามและสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน ได้ลงนามในพิธีสารเกี่ยวกับข้อกำหนดด้านสุขอนามัยพืสำหรับทุเรียนเวียดนามที่จะส่งออกไปประเทศจีน ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของเวียดนามในการส่งออกทุเรียนไปจีน ภายหลังจากใช้ความพยายามในการเจรจายาวนานกว่า 4 ปี
จับตา…ทุเรียนเวียดนาม ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินต์ ระบุว่า ปี 2564 เวียดนามมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 50,000 เฮกตาร์ หรือราว 3.12 แสนไร่ มีผลผลิตราว 642,600 ตัน ส่วนใหญ่ปลูกทางภาคใต้ของเวียดนาม เช่น จังหวัด Dak Lak / จังหวัด Lam Dong / จังหวัด Dong Nai / จังหวัด Vinh Long และจังหวัด Ben Tre ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2569 เวียดนามจะมีปริมาณผลผลิตทุเรียนอยู่ที่ 700,643 ตัน
นอกจากทุเรียนสายพันธุ์ท้องถิ่นที่ได้รับความนิยม อาทิ สายพันธุ์ Ri 6 (35% ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ) / สายพันธุ์ Hat Lep Chuong Bo / สายพันธุ์ Kho Qua Xanh และสายพันธุ์ Chin Hoa แล้ว เวียดนามยังมีการปลูกทุเรียนสายพันธุ์ไทยอย่างหมอนทอง (40% ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ) และก้านยาว รวมถึงสายพันธุ์ Cai Mon ของกัมพูชาด้วย
จนกระทั่งเมื่อช่วงสายของวันที่ 19 กันยายน 2565 ทุเรียนสดล็อตแรกของเวียดนาม น้ำหนัก 18.24 ตัน มูลค่า 512,400หยวน หรือราว 2.7 ล้านบาท ได้ลำเลียงเข้าประเทศจีนอย่างเป็นทางการแล้วผ่านด่านโหย่วอี้กวาน (Youyiguan Border Gate/友谊关口岸) ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง Runkong Foods Supply Chain Co.,Ltd. (润控食品供应链有限公司) บริษัทในเครือ China Resource ที่เป็นรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ชั้นนำของจีนกับบริษัท Chánh Thu Fruit Import-Export Joint Stock Company ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในแวดงวงนำเข้า-ส่งออกผลไม้ของเวียดนาม
ตามรายงาน การนำเข้าทุเรียนสดล็อตแรกจากเวียดนามเป็นไปด้วยความราบรื่น การขนส่งทุเรียนสดจากเวียดนามมาที่ด่านโหย่วอี้กวานใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ศุลกากรด่านโหย่วอี้กวาน ให้ข้อมูลว่า ทางศุลกากรได้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายเวียดนามผ่านระบบ VIDEO Call เป็นการล่วงหน้า เพื่อให้ฝ่ายเวียดนามปฏิบัติตามข้อกำหนดในพิธีสารฯ เพื่อสร้างหลักประกันด้านคุณภาพและความปลอดภัยของทุเรียนเวียดนามที่ส่งออกมายังประเทศจีน
คุณ Ngô Tường Vy ตำแหน่ง CEO บริษัท Chánh Thu Fruit Import-Export Joint Stock Company เห็นว่า จีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมาก มีกำลังซื้อสูง การขยายส่วนแบ่งทางการตลาดของทุเรียนเวียดนามในประเทศจีน จะต้องเริ่มจากการสร้างแบรนด์ทุเรียนเวียดนาม โดยคาดหวังว่าบริษัทฯ จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์ผลไม้เวียดนามในตลาดจีนผ่านความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับสวนผลไม้ เพื่อสร้างหลักประกันด้านคุณภาพที่เกี่ยวข้อง
ด้านบริษัท Runkong Foods Supply Chain Co.,Ltd. (润控食品供应链有限公司) ในฐานะที่เป็นตัวแทนจำหน่ายทุเรียนรายใหญ่ของบริษัท Chánh Thu จะช่วยสร้างแบรนด์ทุเรียนเวีดยนามในจีนผ่านช่องทางของบริษัทฯ เพื่อช่วยให้ทุเรียนเวียดนามเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคปลายทางในจีน ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคชาวจีน รวมทั้งใช้ e-Commerce ในการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในจีน เพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนมีโอกาสได้ลิ้มลองรสชาติที่สดใหม่ของทุเรียนเวียดนาม
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความได้เปรียบของทุเรียนเวียดนาม คือ เวียดนามมีฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนยาว ได้ผลผลิตต่อปีค่อนข้างสูง ที่สำคัญ การที่เวียดนามเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับจีน การขนส่งมีระยะทางสั้น ช่วยให้ผลทุเรียนยังคงความสดใหม่ และมีต้นทุนต่ำ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า… ข้อได้เปรียบข้างต้นจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะโครงสร้างราคาทุเรียนในตลาดจีน โดยเฉพาะราคาทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ได้รับความนิยมในจีน ซึ่งเวียดนามก็นิยมปลูกเช่นเดียวกับไทย
สิ่งที่ผู้ส่งออกไทยต้องจับตามอง และเตรียมพร้อมรับมือ คือ ประเด็นเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NBT) ที่เวียดนามอาจนำมาใช้กีดกันทุเรียนไทยที่ส่งออกผ่านเวียดนามไปยังตลาดจีนที่ด่านโหย่วอี้กวาน และด่านตงซิงของเขตฯ กว่างซีจ้วง หรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะในช่วงฤดูเกี่ยวกับทุเรียนของเวียดนาม
แนวทางการปรับตัวของประเทศไทย คือ การยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการของสวนทุเรียนและโรงคัดบรรจุทุเรียนไทยที่จะส่งออกไปจีนให้ได้คุณภาพความปลอดภัย ปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในพิธีสารฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของทุเรียนไทย
การประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคชาวจีนเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับรสชาติและเนื้อสัมผัสของทุเรียนไทยที่แตกต่างจากทุเรียนเวียดนาม และการส่งเสริมการรับรู้เกี่ยวกับทุเรียนไทยสายพันธุ์อื่นที่มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดจีน โดยอาจพิจารณาใช้วิธีการสร้างเรื่องเล่า (storytelling) ให้กับทุเรียน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุเรียนไทยเหมือนอย่างที่ทุเรียนมูซังคิงของมาเลเซียประสบความสำเร็จมาแล้วในการทำตลาดไฮเอนด์ในจีน
การพัฒนาช่องทางการขนส่งที่หลากหลายนอกเหนือจากการขนส่งด้วยรถบรรทุก เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินค้า ณ ด่านใดด่านหนึ่ง ซึ่งอาจส่งผลให้ผลไม้สดได้รับความเสียหาย โดยอาจพิจารณาการขนส่งทางรถไฟ (สถานีด่งดัง เวียดนาม – ด่านรถไฟผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง ก่อนกระจายทั่วประเทศจีน) ทางเรือ (ท่าเรือแหลมฉบัง – ท่าเรือชินโจว เขตฯ กว่างซีจ้วง) และทางอากาศ (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – ท่าอากาศยานนานชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง)
การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce ยักษ์ใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น JD.com / Taobao.com และแพลตฟอร์ม Live streaming ไลฟ์ขายของสดที่ได้รับความนิยม เช่น Tiktok หรือ Taobao รวมถึงพิจารณาใช้บริษัทที่มีระบบการบริหารจัดการด้านขนส่งและโลจิสติกส์ที่รวดเร็ว เช่น SF Express
สุดท้ายนี้ บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากผลทุเรียนสดที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนแล้ว หลายปีมานี้ ในตลาดจีนยังมีการนำเนื้อทุเรียนไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารคาวหวานที่หลากหลายด้วย อาทิ เค้ก เครป พิซซ่า ขนมหวาน ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนได้เป็นอย่างดี จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจในการส่งออกวัตถุดิบ “เนื้อทุเรียน” เพื่อขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอีกสายผลิตภัณฑ์ที่น่าพิจารณาของผู้ประกอบการไทยด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.sohu.com (搜狐) วันที่ 22 กันยายน 2565
เว็บไซต์ www.xinhuanet.com (新华网) วันที่ 21 กันยายน 2565
เว็บไซต์ www.163.com วันที่ 20 กันยายน 2565