มณฑลฝูเจี้ยนเป็นมณฑลที่มีความสมดุลทางระบบนิเวศ โดยมีพื้นที่ป่าไม้ครอบคลุมทั้งหมดกว่า 50 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 66.8 ของพื้นที่ทั้งหมดของมณฑล สูงเป็นอันดับ 1 ของจีนติดต่อกัน 42 ปี และได้รับการขนานนามว่าเป็น “มณฑลสีเขียวที่สุดของจีน” โดยล่าสุดรัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของมณฑลฝูเจี้ยน (ปี 2565 – 2568) โดยมีการดำเนินการสำคัญและความคืบหน้า ดังนี้
(1) การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ โดยมุ่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ พลังงานใหม่ วัสดุใหม่ ยานยนต์ไฟฟ้า และเรือโซลาร์เซลล์ ฯลฯ รวมถึงการสร้างระบบรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
(2) การส่งเสริมผลิตภัณฑ์และสินค้าเกษตรอินทรีย์ อาทิ “น้ำดื่มภูเขาอู่อี๋ซาน” และ “ใบชากู่เถียนแดง” เพื่อส่งเสริมการสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียวของมณฑลฝูเจี้ยน รวมทั้งการปรับปรุงแพลตฟอร์มการจำหน่ายผลิตภัณฑ์
(3) การส่งเสริมความตระหนักรู้ของประชาชนในการดำรงชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ การปรับปรุงโครงสร้างสถาปัตยกรรม/อาคารให้เอื้อต่อการประหยัดพลังงาน ส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ย่อยสลายได้ รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านการจัดกิจกรรมจิตอาสา อาทิ กิจกรรมเก็บขยะตามแนวชายหาดเมืองเซี่ยเหมิน
ล่าสุด มณฑลฝูเจี้ยนได้เร่งดำเนินการก่อสร้างฐานอุตสาหกรรมสีเขียวที่เมืองต่าง ๆ ในมณฑล อาทิ ฐานอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เมืองหนิงเต๋อ และฐานมอเตอร์แม่เหล็กถาวรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เขตจี๋เหม่ย เมืองเซี่ยเหมิน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเขตจี๋เหม่ยกับบริษัท Xiamen Tungsten จำกัด ด้วยเงินลงทุน 1 หมื่นล้านหยวน ซึ่งเป็นวิสาหกิจรายใหญ่ในอุตสาหกรรมทังสเตนของมณฑลฝูเจี้ยน และเป็นผู้ผลิตทังสเตนสู่ตลาดโลกกว่าร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์ทังสเตนทั่วโลก ซึ่งคาดว่า หลังจากสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถสร้างมูลค่าการผลิตทางอุตสาหกรรมได้ประมาณ 7 หมื่นล้านหยวนต่อปี
สำหรับประเทศไทยซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC ดังนั้น ไทยจึงควรจับตามองและติดตามแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาของมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อศึกษาและปรับใช้ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาของไทยต่อไปในอนาคต
แหล่งอ้างอิง https://www.fujian.gov.cn/jdhy/zcjd/202208/t20220830_5983884.htm
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู