รายงานข่าวเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เรือบรรทุกลำไย และมะพร้าวจากประเทศไทย เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือชินโจว ในเขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรชินโจว เจ้าหน้าที่ประจำท่าเรือได้ดำเนินมาตรการอำนวยความสะดวก (Fast Custom Clearance) สำหรับสินค้าเกษตรเป็นลำดับแรก โดยให้ดำเนินพิธีการนำเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเข้าเทียบท่าและลดขั้นตอนให้มีความกระชับรวดเร็ว รวมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมและป้องกันโรคระบาด เพื่อสร้างหลักประกันความสดใหม่ให้กับผลไม้นำเข้าเคลื่อนย้ายไปไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนด้วยความรวดเร็ว
นับตั้งแต่ต้นปีมานี้ การค้ากับอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการนำเข้าส่งออกผลไม้มีแนวโน้มเติบโตเป็นเท่าตัว ข้อมูลช่วง 9 เดือนแรก ปี 2565 ปริมาณตู้ผลไม้นำเข้าผ่านด่านท่าเรือชินโจวเพิ่มขึ้น 62.9% (YoY) เนื่องจากสินค้าเกษตรสดและมีชีวิตเป็นสินค้าที่ต้องแข่งขันกับเวลา ความสดใหม่ต้องมาเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะผลไม้ ดังนั้น ภายใต้ข้อกำหนดว่าด้วยการกักกันโรคแมลงและศัตรูพืช รวมถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เจ้าหน้าที่ด่านกดปุ่ม Fast forward ลดขั้นตอนเพื่อให้การนำเข้าผลไม้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว
นายเซวียน เหมียนห้วน (Xuan Mianhuan/禤绵焕) ตัวแทนสายเรือ Shenzhen Unitrans Agency สาขาชินโจว (深圳中联国际船务代理有限公司钦州分公司) ให้ข้อมูลว่า ผลไม้ที่นำเข้าผ่านท่าเรือชินโจว ส่วนใหญ่จะกระจายไปยังตลาดจีนตอนใต้ และจีนตะวันออก กระบวนการนำเข้าที่กระชับรวดเร็วช่วยให้บริษัทฯ ประหยัดเวลาในการดำเนินพิธีการศุลกากร ผู้บริโภคได้รับประทานผลไม้เมืองร้อนที่สดใหม่ตลอดเวลา
ภายใต้ข้อกำหนดด้านการควบคุมและป้องกันโรคระบาด เจ้าหน้าที่ประจำด่านท่าเรือชินโจว กล่าวเน้นย้ำว่า สินค้าเกษตรสดที่เน่าเสียง่าย จำเป็นต้องใช้การขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูง และจำเป็นต้องแข่งขันกับเวลา ด่านท่าเรือชินโจวดำเนินมาตรการ “ยื่นล่วงหน้า ให้ตรวจก่อน ถึงปุ๊บตรวจปั๊บ บูรณาการงานตรวจสอบ และพยายามอำนวยความสะดวกให้เรือขนส่งสินค้าสดและมีชีวิตสามารถขนถ่ายสินค้าได้โดยเร็วที่สุดเมื่อเข้าเทียบท่า”
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ได้ร่วมกับสำนักงานวางแผน ก่อสร้าง และบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ และศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “ท่าเรือชินโจว : ประตูการค้าใหม่ของผู้ส่งออกไทยไปจีน” เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ภาครัฐและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิ ผู้ส่งออก ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และสถาบันการเงิน เล็งเห็นศักยภาพของท่าเรือชินโจว (ท่าเทียบเรือทำงานด้วยระบบอัจฉริยะ) และการขนส่งด้วยโมเดล ‘เรือ+ราง’ แบบไร้รอยต่อในท่าเรือชินโจว เพื่อให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นโอกาสของท่าเรือชินโจวในฐานะ ‘ทางเลือกใหม่’ ของการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีนผ่านเขตฯ กว่างซีจ้วง
ปัจจุบัน ท่าเรือชินโจว เป็นท่าเรือที่มีความทันสมัยระดับชั้นนำในประเทศจีน ปี 2564 ท่าเรือชินโจว มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้ามากเป็นอันดับที่ 44 ของโลก เพราะอะไร “ท่าเรือชินโจว” จึงเป็นอีกทางเลือกของสินค้าไทยบุกตลาดจีน โดยเฉพาะผลไม้สด??
(1) มีฟังก์ชันที่ครบครัน นอกจากจะได้รับอนุมัติเป็นด่านนำเข้าผลไม้แล้ว ยังมีได้รับอนุมัติเป็นด่านทดลองการนำเข้ารถยนต์ประกอบสำเร็จ ด่านนำเข้าเนื้อสัตว์ ด่านนำเข้าธัญพืช ด่านนำเข้ารังนกขน ด่านนำเข้าวัสดุไม้ และด่านนำเข้าโคมีชีวิตด้วย
(2) มีเส้นทางเดินเรือ 65 เส้นทาง ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศ 38 เส้นทาง ไปยัง 300 กว่าท่าเรือใน 100 กว่าประเทศ/ดินแดนทั่วโลก โดยปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวกับประเทศไทย มีเส้นทางเดินเรือ 7 เส้นทาง ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางขนส่งผลไม้ express route แหลมฉบัง-ชินโจว สัปดาห์ละ 5 เที่ยว ใช้เวลาเพียง 3 วัน
(3) มีโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” แบบไร้รอยต่อ โดยเมื่อเดือน มิ.ย. 2565 ได้เปิดใช้ท่าเทียบเรืออัจฉริยะอย่างเป็นทางการแล้ว และเส้นทางรถไฟสามารถวิ่งไปยัง 113 สถานี ใน 16 เมือง ใน 17 มณฑลทั่วประเทศจีน โดยทั่วไปวิ่งให้บริการทั้งขาขึ้นและขาล่อง ระหว่างเดือน ม.ค.-ส.ค. 2565 มีเที่ยวรถไฟขนส่งสินค้าวิ่งให้บริการรวม 5,806 เที่ยว รวม 2.905 แสน TEUs (+48% YoY) และนับตั้งแต่เปิดให้บริการรถไฟขนส่งสินค้า มีเที่ยวบริการสะสมมากกว่า 20,000 เที่ยว
(4) มีการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น ระบบ Single window การลดขั้นตอนการดำเนินพิธีการศุลกากรในส่วนที่เป็นกระบวนการ manual จาก 36 เหลือ 8 ขั้นตอน การลดจำนวนเอกสารจาก 41 เหลือ 8 ชุดเอกสาร การพัฒนาโมเดลศุลกากร “การรับตู้สินค้าข้างเรือ” “การขึ้นตู้สินค้าข้างเรือ” “Two-Step Declaration” และ “Two Stage Access” การลดค่าใช้จ่ายให้เท่ากับท่าเรือขนาดใหญ่แห่งอื่นในจีน และการกำหนดค่าขนส่งแบบราคาเดียว และเอกสารขนส่งชุดเดียวตลอดเส้นทาง ซึ่งช่วยร่นเวลาในการดำเนินพิธีการศุลกากรได้อย่างมาก
สถิติเดือน ม.ค. – ส.ค. 2565 การค้ากับประเทศไทยผ่านท่าเรือชินโจวมีมูลค่ารวม 5,610 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 68.8% (YoY) สินค้านำเข้าจาก ปทท. ได้แก่ ผลไม้ มันสำปะหลังแห้ง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง ในจำนวนนี้ เป็นการนำเข้าผลไม้ไทย มูลค่า 1,100 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 42.2% (YoY) ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีตั้งเป้าหมายว่าการก่อสร้างลานตู้คอนเนอร์เย็นและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ในบริเวณท่าเทียบเรืออัจฉริยะในท่าเรือชินโจว การเพิ่มปลั๊กสำหรับตู้คอนเทนเนอร์เย็น ในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ กว่างซีให้มีมากกว่า 1,000 ชุดภายในสิ้นปี 2566 รวมทั้งปรับปรุงลานตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับสินค้าผลไม้ในท่าเรือให้มีความทันสมัยและรวดเร็ว เพื่อยกระดับศักยภาพในการตรวจสอบสินค้าห่วงโซ่ความเย็นที่ผ่านเข้าท่าเรือ ทั้งนี้ หากการดำเนินการบรรลุเป้าหมายข้างต้นแล้ว สินค้าควบคุมอุณหภูมิ(จากไทย)จะได้รับประโยชน์มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นสินค้ากลุ่มอาหารและของสดเน่าเสียง่ายหรือสินค้ามูลค่าสูง โดยเฉพาะผลไม้ตามฤดูกาล ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มสินค้าหลักที่จีนมีการนำเข้าจากไทยเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลและเอกสารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและอำนวยความสะดวกในกระบวนการค้าระหว่างประเทศ กระบวนการทางศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้า และระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+รถ” ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网广西) วันที่ 20 ตุลาคม 2565
ข้อมูลจากการรับฟังงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “ท่าเรือชินโจว : ประตูการค้าใหม่ของผู้ส่งออกไทยไปจีน” โดยวิทยากร : นายหลิว เสียง รองประธานคณะกรรมาธิการบริหารเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยชินโจว