ข้าวเหนียว “เซียงเหอนั่ว” (香禾糯/Kam Rice of China, Kam Sweet Rice) ของอำเภอฉงเจียง เขตปกครองตนเองชนชาติแม้วและชนชาติต้ง เฉียนตงหนาน มณฑลกุ้ยโจว ได้รับการประชาสัมพันธ์บนเวทีการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (COP15) ระยะที่สอง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-19 ธันวาคม 2565 ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา
ข้าวเหนียวเซียงเหอนั่วเป็นสายพันธุ์ข้าวเหนียวโดดเด่นที่ได้รับการสืบทอดโดยชนชาติต้งมาอย่างยาวนาน มีจุดเด่นที่มีโปรตีนและปริมาณไลซีนที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์สูงกว่าข้าวเหนียวทั่วไป จนได้รับฉายาว่า “ราชาแห่งข้าวเหนียว” การปลูกข้าวเหนียวเซียงเหอนั่วของอำเภอฉงเจียงมุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์และการลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการปลูกข้าวเหนียวควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลาและเป็ด โดยปลาและเป็ดจะกินแมลงศัตรูพืชและวัชพืชในนาข้าว ขณะที่มูลของพวกมันยังเป็นแหล่งสารอาหารที่ดีของข้าวเหนียวอีกด้วย นับเป็นการสร้างห่วงโซ่ชีวภาพที่สมบูรณ์ของการพัฒนาวงจรสีเขียวและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำและดินในพื้นที่ชุ่มน้ำได้อย่างเต็มที่ ถือเป็นกรณียอดเยี่ยมของการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
นอกจากนี้ ในด้านการตลาด เกษตรกรและผู้ประกอบการของอำเภอฉงเจียงยังร่วมกันจัดตั้งทีมไลฟ์สดเพื่อแนะนํากระบวนการเพาะปลูกข้าวเหนียวและวัฒนธรรมชนชาติต้งที่มีสีสัน ส่งผลให้ข้าวเหนียวเซียงเห่อนั่วมีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นและจำหน่ายไปทั่วประเทศจีน ขณะเดียวกัน ปัจจุบันอำเภอฉงเจียงก็อยู่ระหว่างส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรสมัยใหม่และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างจริงจัง โดยผสมผสาน “การท่องเที่ยว+การปลูกข้าวเหนียว+วัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย” แบบบูรณาการ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย รวมถึงต่อยอดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของอำเภอฉงเจียง
อนึ่ง การประชุม COP15 ระยะที่หนึ่งจัดขึ้นที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน เมื่อวันที่ 11-15 ตุลาคม 2564 ในหัวข้อ “อารยธรรมเชิงนิเวศ: ร่วมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับทุกชีวิตบนโลก” (Ecological Civilization: Building a Shared Future for All Life on Earth)
ที่มา: https://baijiahao.baidu.com/s?id=1751889668061382890&wfr=spider&for=pc
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู