‘วันหยุด เราไม่หยุด’ —– สินค้าไทยเบิกฤกษ์การขนส่ง ‘เรือ+ราง’ ของปี 2566 โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา สตาร์ชทำจากมันสำปะหลังจากประเทศไทย จำนวน 14 ตู้ ได้เคลื่อนตัวออกจากสถานีรถไฟในท่าเรือชินโจว เที่ยวขบวนที่ X9574 ไปยังสถานีรถไฟอวี๋จุ่ย (Yu Zui Station/鱼嘴站) ในนครฉงชิ่ง
กล่าวได้ว่า… หลายปีมานี้ การขนส่ง ‘เรือ+ราง’ เป็นโมเดลการขนส่งที่ ‘ฮ็อต’ สุดๆ ในการค้าต่างประเทศ เป็นโมเดลการขนส่งที่พัฒนาการใหม่ๆ ให้เห็นอยู่ตลอดเวลา และเป็น ‘กุญแจ’ ดอกสำคัญที่ช่วยไขประตูการค้ากับต่างประเทศของจีน(ตะวันตก)
ปี 2565 ที่ผ่านมา อานิสงส์จากการบังคับใช้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน ช่วยให้การขนส่งในโมเดล ‘เรือ+ราง’ สามารถรักษาระดับการเติบโตได้อย่างดี ข้อมูล ณ สิ้นปี 2565 รถไฟขนส่งสินค้าในโมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ ลำเลียงตู้สินค้าสะสม 7.56 แสน TEUs เพิ่มขึ้น 18.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY)
“โครงข่ายรถไฟขนส่งสินค้าในโมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ ที่ท่าเรือชินโจวของเขตฯ กว่างซีจ้วง สามารถวิ่งเชื่อมโยงถึง 133 สถานี (เพิ่มใหม่ 21 สถานีจากปี 2564) ของ 60 เมืองใน 17 มณฑลทั่วประเทศ ซึ่งครบทั้ง 12 มณฑลทางภาคตะวันตกด้วย”
นายตู้ จวิ้นเฟิง (Du Junfeng/杜峻峰) รองนายสถานี ประจำสถานีรถไฟท่าเรือชินโจวตะวันออก ชี้ว่า ปัจจุบัน ผู้ค้าจีนและอาเซียนมีการใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ เพื่อทำการค้าระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ
สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับโมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีดังนี้
- ในโมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ รถไฟขนส่งสินค้าวิ่งให้บริการรวม 8,800 ขบวน เพิ่มขึ้น 44% (YoY) และเพิ่มขึ้น 49 เท่าจากปี 2560 คิดเป็นเที่ยวขบวนเฉลี่ยวันละ 24 ขบวน และเป็นการลำเลียงสินค้าในเขตฯ กว่างซีจ้วง 3,025 ขบวน เพิ่มขึ้น 205% (YoY)
- การค้าต่างประเทศที่ใช้โมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ ในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (คนไทยเรียก อ่าวตังเกี๋ย) รถไฟลำเลียงตู้สินค้ารวม 1.489 แสน TEUs เพิ่มขึ้น 33% (YoY) ในจำนวนนี้ เป็นตู้สินค้าที่มาจากประเทศสมาชิก RCEP รวม 67,400 TEUs คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 45%
นอกจากนี้ สื่อให้การจับตามองการค้าระหว่างจีนกับ ‘อินโดนีเซีย’ มากเป็นพิเศษ เนื่องจากปัจจุบัน ในบรรดาชาติสมาชิกอาเซียน อินโดนีเซียมีการใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ มากเป็นอันดับที่ 2 บวกกับที่ความตกลง RCEP ได้มีผลบังคับใช้กับประเทศอินโดนีเซียตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2566 เป็นต้นไป จึงเป็นโอกาสที่สินค้าของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม จะเข้าไปเปิดตลาดประเทศสมาชิก RCEP และเป็นโอกาสที่สินค้าจากจีน(ตะวันตก) ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิ้ล สาลี่ เตาอุตสาหกรรม รวมถึงอะไหล่รถจักรยานยนต์และจักรยาน จะเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียมากขึ้น
RCEP สำคัญอย่างไร ข้อมูลของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย โดยมีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ + จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน (30.2% ของประชากรโลก) GDP รวมมูลค่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก) และมูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก)
สิทธิประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากความตกลง RCEP อาทิ สมาชิก RCEP ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ ในส่วนของประเทศจีน จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทย เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในสินค้า อาทิ ผลไม้สดและแปรรูป น้ำผลไม้ สินค้าประมง ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนประกอบ
บีไอซี เห็นว่า ด้วยศักยภาพของท่าเรือชินโจว (ท่าเทียบเรือทำงานด้วยระบบอัจฉริยะ) และการขนส่งด้วยโมเดล ‘เรือ+ราง’ แบบไร้รอยต่อที่มีความสะดวกรวดเร็ว ทำให้ “ท่าเรือชินโจว” เป็นอีกช่องทางที่ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ทำการค้ากับประเทศจีน ด้วยเหตุผลดังนี้
(1) นอกจากระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทันสมัย (มีโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” แบบไร้รอยต่อ) แล้ว ท่าเรือชินโจวมีฟังก์ชันที่ครบครัน นอกจากจะได้รับอนุมัติเป็นด่านนำเข้าผลไม้แล้ว ยังมีได้รับอนุมัติเป็นด่านทดลองการนำเข้ารถยนต์ประกอบสำเร็จ ด่านนำเข้าเนื้อสัตว์ ด่านนำเข้าธัญพืช ด่านนำเข้ารังนกขน ด่านนำเข้าวัสดุไม้ และด่านนำเข้าโคมีชีวิตด้วย
(2) มีเส้นทางเดินเรือ 65 เส้นทาง ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศไปยัง 338 ท่าเรือใน 113 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก โดยปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวกับประเทศไทย มีเส้นทางเดินเรือ 7 เส้นทาง ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางขนส่งผลไม้ express route แหลมฉบัง-ชินโจว สัปดาห์ละ 5 เที่ยว ใช้เวลาเพียง 3 วัน
(3) มีขั้นตอนที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น ระบบ Single window การดำเนินพิธีการศุลกากรในส่วนที่เป็นกระบวนการ manual ลดลงจาก 36 เหลือ 8 ขั้นตอน จำนวนเอกสารที่ใช้เคลียร์สินค้าลดลงจาก 41 เหลือ 8 ชุดเอกสาร มีการอำนวยความสะดวกในการรับตู้สินค้าข้างเรือ การขึ้นตู้สินค้าข้างเรือ การรับสินค้าก่อน ค่อยเคลียร์เอกสารตามทีหลัง และการเคลียร์สินค้าออกจากท่าเรือไปไว้ยังโกดังที่กำหนดก่อน ค่อยเคลียร์เอกสารทีหลัง ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีการเก็บค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกับท่าเรือขนาดใหญ่แห่งอื่นในจีน มีการกำหนดค่าขนส่งแบบราคาเดียว และเอกสารขนส่งชุดเดียวตลอดเส้นทาง ซึ่งช่วยร่นเวลาในการดำเนินพิธีการศุลกากรได้อย่างมาก
จัดทำโดย : นายกฤษณะสุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 31 ธันวาคม 2565 และวันที่ 01 มกราคม 2566
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่ 01 มกราคม 2566
The post ‘เรือ+ราง’ ที่ท่าเรือชินโจว คำตอบของการขนส่ง ‘สินค้าไทย’ เจาะตลาดจีน appeared first on thaibizchina.