ในช่วงที่ผ่านมา นครฉงชิ่งเร่งผลักดันอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่อย่างแข็งขัน เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 Sino Singapore Chongqing DC Multimodal Logistics (SSCDC) ได้ส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่แบรนด์ Seres จำนวน 50 คันให้กับลูกค้าในสิงคโปร์ และเมื่อต้นเดือนมกราคม 2566 นครฉงชิ่งได้ขนส่งรถยนต์พลังงานใหม่ “Made in Chongqing” โดยมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของ Qingling Motors Group และรถยนต์พลังงานใหม่แบรนด์อื่น ๆ จำนวนมากไปยังตลาดอาเซียน โดยเดินทางออกจากสถานีถวนเจี๋ยชุนในเขตซาผิงป้า นครฉงชิ่ง ผ่านด่านโม่หาน และคาดว่าจะเดินทางถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ภายใน 5-7 วัน โดยผู้จัดการฝ่ายขายของ Qingling Motors Group กล่าวว่า บริษัทมีความคุ้นเคยกับการส่งออกรถยนต์เชื้อเพลิงดั้งเดิมไปยังอาเซียนแล้ว แต่สำหรับรถยนต์พลังงานใหม่กำลังอยู่ในขั้นตอนค้นหาเส้นทางการส่งออกใหม่
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นครฉงชิ่งได้ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างจริงจัง การผลิตและการขายรถยนต์พลังงานใหม่ “Made in Chongqing” กำลังเฟื่องฟู ด้วยการสนับสนุนจากรถไฟจีน-ลาวและช่องทางโลจิสติกส์หลักอื่น ๆ ตามสถิติของกรมศุลกากร ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 นครฉงชิ่งส่งออกรถยนต์กว่า 261,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.4 อยู่ในอันดับที่ 5 ของประเทศ มีมูลค่าการส่งออก 19.88 พันล้านหยวน และมีการส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่ไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 772.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมีมูลค่ารวม 20.77 ล้านหยวน และรถยนต์พลังงานใหม่แบรนด์ SAIC และ Great Wall ของนครฉงชิ่งก็ส่งออกไปยังไทยแล้ว
นอกจากนี้ การเร่งส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่ของนครฉงชิ่งทำให้ความต้องการด้านโลจิสติกส์และการขนส่งเพิ่มสูงขึ้น นอกจากการขนส่งแบบดั้งเดิมของนครฉงชิ่งที่ใช้เส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (หยูซินโอว) และระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตกแล้ว ยังมีการใช้รถไฟจีน-ลาวในการสนับสนุนการส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่เพื่อขยายตลาดสู่อาเซียนด้วย นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังลดระยะเวลาพิธีการศุลกากรสำหรับการส่งออกรถยนต์ สนับสนุนการพัฒนารถไฟขบวนพิเศษสำหรับการขนส่งรถยนต์พลังงานใหม่ และรับประกันการส่งออกผลิตภัณฑ์รถยนต์อย่างเต็มที่
อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่กำลังเป็นที่จับตามองของตลาดในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากการสนับสนุนทางนโยบายของรัฐบาลในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้ประกาศว่า ภายในปี 2573 รถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามามีสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ทั้งหมด ฟิลิปปินส์กำหนดให้บริษัทขนส่งสาธารณะในประเทศเพิ่มสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าให้มากกว่าร้อยละ 5 อินโดนีเซียวางแผนที่จะให้เงินอุดหนุนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2566 โดยหวังว่าจะมีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าถึง 2.5 ล้านคนภายในปี 2568 สิงคโปร์จะเลิกจดทะเบียนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลภายในปี 2568 และภายในปี 2573 การจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ต้องเป็นรถยนต์รุ่นประหยัดพลังงาน
จากการสนับสนุนเชิงนโยบายของผู้นำในหลายประเทศทำให้กลุ่มผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่เล็งเห็นโอกาสสำคัญในการขยายตลาด และกระชับความร่วมมือทั้งในด้านการนำเข้า-ส่งออก และการลงทุนในต่างประเทศ นครฉงชิ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนที่มีการพัฒนารถยนต์พลังงานใหม่อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จึงเป็นหนึ่งในคู่ค้าความร่วมมือที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยควรจับตามอง และพิจารณาไปสู่การพัฒนาความร่วมมือทางการค้าต่อไปในอนาคต
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ทางการของ people.cn (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566)
http://cq.people.com.cn/n2/2022/1229/c367698-40247402.html
เว็บไซต์ทางการของ cq.gov.cn (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566)
https://www.cq.gov.cn/zwgk/zfxxgkzl/fdzdgknr/zdxm/dtxx/202301/t20230103_11447093.html
เว็บไซต์ทางการของ cq.chinanews.com.cn (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566)
https://www.cq.chinanews.com.cn/news/2023/0102/39-41764.html
เว็บไซต์ cq.sina.com.cn (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566)
http://cq.sina.com.cn/news/b/2023-01-27/detail-imycrfmk7836894.shtml
The post ตลาดอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ “Made in Chongqing” ของนครฉงชิ่งขยายสู่อาเซียน appeared first on thaibizchina.