เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 เครื่องบินบรรทุกทุเรียนสดจากประเทศไทยเที่ยวปฐมฤกษ์ได้เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติหวงฮัวนครฉางซา (Changsha Huanghua International Airport) นับเป็นการเปิดให้บริการเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างนครฉางซา-กรุงเทพฯ แบบประจำ (มีตารางบินแน่นอน) อย่างเป็นทางการ และชี้ให้เห็นว่า นครฉางซาประสบความสําเร็จในการเปิดช่องทางโลจิสติกส์การบินระหว่างประเทศแบบประจําเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเส้นทาง
เที่ยวบินคาร์โก้ฉางซา-กรุงเทพฯ แบบประจำเปิดให้บริการโดยบริษัท Hunan Civil Aviation Travel and Trading จำกัด และเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศแบบประจำเส้นทางแรกของนครฉางซาที่เปิดให้บริการในปี 2566 รวมถึงเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศแบบประจำเส้นทางที่ 11 ของท่าอากาศยานนานาชาติหวงฮัวนครฉางซา โดยเปิดให้บริการขนส่งสินค้าไป-กลับสัปดาห์ละ 3 เที่ยว ด้วยเครื่องบิน B737-800F ซึ่งสามารถบรรทุกสินค้าได้สูงสุด 20 ตัน สินค้าส่วนใหญ่ที่ขนส่งระหว่างกัน เช่น สินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน สินค้าทั่วไป ผลไม้สด และอาหารทะเล การเปิดเที่ยวบินคาร์โก้ในครั้งนี้มีช่วยให้การขนส่งสินค้าระหว่างนครฉางซาและกรุงเทพมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
หลังจากเที่ยวบินคาร์โก้ฉางซา-กรุงเทพฯ ได้เปิดให้บริการแล้ว จะรวมพลังกับเที่ยวบินคาร์โก้เส้นทางที่ได้เปิดไปก่อนหน้านี้ เช่น ฉางซา-กรุงธากา ฉางซา-กรุงมะนิลา และฉางซา-นครโอซากา รวมถึงเที่ยวบินคาร์โก้ที่เตรียมจะเปิดในอนาคต เช่น ฉางซา-กรุงกัวลาลัมเปอร์ และฉางซา-ออสเตรเลีย เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายกับทางถนนและทางราง รวมเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ที่สามารถกระจายสินค้าต่อไปยังมณฑลอื่นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้นครฉางซากลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งไปยังภูมิภาค RCEP นอกจากนี้ ยังเป็นการเร่งพัฒนาให้ท่าอากาศยานนานาชาติหวงฮัวนครฉางซากลายเป็น “วงกลมเศรษฐกิจการบิน 4 ชั่วโมง” หรือสามารถสร้างเครือข่ายเส้นทางบินเชื่อมโยงจีนกับเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ที่มีระยะการบินถึงกันใน 4 ชั่วโมง ตลอดจนทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติหวงฮัวนครฉางซากลายเป็นศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลางของจีน
ที่มา: https://baijiahao.baidu.com/s?id=1760535576871658990&wfr=spider&for=pc
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู