เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2566 กระทรวงพาณิชย์จีนและรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง จัดงาน “Invest in China Year” ที่นครกว่างโจว โดยมีนายเหอ ลี่เฟิง (He Lifeng) รองนายกรัฐมนตรีจีน เป็นประธานในพิธี โดยนายเหอฯ ย้ำว่า จีนจะยังคงนโยบายการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และพร้อมที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน จีนจะส่งเสริมการพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตเมืองและชนบท เดินหน้ายกระดับการบริโภค ยกระดับและเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตให้กับบริษัทต่างชาติในจีน
งานดังกล่าวมีจุดประสงค์ที่จะประชาสัมพันธ์แนวคิดการพัฒนาใหม่ของจีนที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงผลักดันการยกระดับความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนของจีนกับต่างประเทศ
ภายในงาน “Invest in China Year” มีการลงนามในสัญญาโครงการสำคัญจำนวน 74 โครงการ มูลค่าการลงทุน 905 ล้านหยวน โดยโครงการที่ลงนามส่วนใหญ่เป็นโครงการในสาขาอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ เช่น อุตสาหกรรมวัสดุขั้นสูง การผลิตอุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ รวมถึงโครงการ Hexagon Production Base Project ของสวีเดนที่เมืองเซินเจิ้น และโครงการ Covestro ของสหรัฐฯ ที่เมืองจูไห่ เป็นต้น
ทำไมต้องมณฑลกวางตุ้ง?
มณฑลกวางตุ้งเป็นประตูการค้าที่สำคัญของจีนตอนใต้ และเป็นพื้นที่นำร่องการปฏิรูปและเปิดประเทศแห่งแรกของจีนตั้งแต่เมื่อปี 2521 และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มณฑลกวางตุ้งมีขนาดการลงทุนจากต่างประเทศอยู่ในระดับแนวหน้าของจีน โดยการลงทุนโดยใช้เงินตราต่างประเทศสะสมมากกว่า 1.4 ล้านล้านหยวน มากเป็นอันดับ 2 ของจีน และมีจำนวนวิสาหกิจต่างชาติที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกว่า 135,000 ราย มากเป็นอันดับ 1 ของจีน
มณฑลกวางตุ้งมีแพลตฟอร์มสำหรับการขยายความร่วมมือกับต่างประเทศที่สำคัญ โดยเป็นที่ตั้งของเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macao Greater Bay Area) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรอบความร่วมมือระหว่าง 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง[1] กับฮ่องกงและมาเก๊า และเขตสาธิต นำร่องสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีน (Pilot Demonstration Area of Socialism with Chinese Characteristics) เมืองเซินเจิ้น นอกจากนี้ ยังมีเขตส่งเสริมเขตความร่วมมือเชิงลึกกวางตุ้ง – มาเก๊า ที่เขตเหิงฉิน เมืองจูไห่ (Guangdong-Macao In-Depth Cooperation Zone in Hengqin) เขตความร่วมมืออุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่เซินเจิ้น – ฮ่องกง ที่เขตเฉียนไห่ เมืองเซินเจิ้น (Qianhai Shenzhen-Hong Kong Modern Service Industry Cooperation Zone) และเขตสาธิตความร่วมมือรอบด้านระหว่างมณฑลกวางตุ้งกับฮ่องกงและมาเก๊า ที่เขตหนานซา นครกว่างโจว (Demonstration zone of all-round cooperation among Guangdong, Hong Kong and Macao in Nansha, Guangzhou) ล้วนแล้วแต่เป็นแพลตฟอร์มที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคและรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ
นายจาง จิ้งซง (Zhang Jingxiong) อธิบดีกรมพาณิชย์มณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่า มณฑลกวางตุ้งมีข้อได้เปรียบในด้านขนาดเศรษฐกิจ ประชากรและตลาด โรงงานอุตสาหกรรม การคมนาคมที่สะดวก สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยา และคาดว่าจะดึงดูดการลงทุนในภาคการผลิตและการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติมากขึ้น นอกจากนี้ นายจาง ซิน (Zhang Xin) รองผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้งกล่าวในงานฯ ว่า เมื่อปี 2565 มณฑลกวางตุ้งมีการลงทุนที่แท้จริงที่ใช้เงินทุนต่างประเทศกว่า 180,000 ล้านหยวน โดยมีบริษัทต่างชาติกว่า 300,000 แห่ง ในจำนวนดังกล่าวเป็นบริษัทที่ติดอันดับบริษัท 500 อันดับที่ใหญ่ที่สุดในโลกจำนวนถึง 350 ราย
สรศักดิ์ บุญรอด เขียน
19 เมษายน 2566
แหล่งที่มาของข้อมูล
http://www.gov.cn/xinwen/2023-03/28/content_5748896.htm
https://static.nfapp.southcn.com/content/202303/28/c7502179.html
https://www.newsgd.com/node_a21acd2229/fad84da8d8.shtml
[1] ได้แก่ นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น เมืองฝอซาน เมืองตงก่วน เมืองจูไห่ เมืองฮุ่ยโจว เมืองจงซาน เมืองเจียงเหมิน และเมืองจ้าวชิ่ง