“การปฏิรูปภาคการเงิน” เป็นหนึ่งในการดำเนินงานที่รัฐบาลจีนนำมาใช้เพื่อผลักดันการ ‘ก้าวสู่สากล’ ของชาติมหาอำนาจแห่งนี้ โดยรัฐบาลกลางจะมอบนโยบายการปฏิรูปภาคการเงินให้เมือง/มณฑลที่มีบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจการค้า ได้นำไปทดลองหรือนำร่องใช้ก่อนที่จะขยายผลการดำเนินงานทั่วประเทศ
เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นหนึ่งในเขตการปกครองระดับมณฑลที่รัฐบาลกลางให้การสนับสนุนเชิงนโยบายด้านต่างๆ ในลักษณะที่โน้มเอียงมากพอสมควร เพื่อเร่งส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนผลักดันการเปิดสู่ภายนอกของเขตปกครองตนเองแห่งนี้ ซึ่งที่ผ่านมา เขตฯ กว่างซีจ้วง ได้รับนโยบายนำร่องการปฏิรูปภาคการเงินหลายด้าน
โดยหนึ่งในนโยบายปฏิรูปภาคการเงินที่กล่าวถึงข้างต้น ก็คือ การเป็น ‘จุดทดลองใช้ระบบบัญชีธนาคารเดียวสำหรับการชำระบัญชีเงินหยวนและเงินต่างประเทศ’ โดยเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ธนาคารประชาชนจีน หรือแบงค์ชาติจีน ได้เริ่มดำเนินนโยบาย ‘จุดทดลองใช้ระบบบัญชีธนาคารเดียวสำหรับการชำระบัญชีด้วยสกุลเงินหยวนและสกุลเงินต่างประเทศ’ ในเขตฯ กว่างซีจ้วง โดยธนาคารชุดแรกที่ได้รับสนองนโยบายดังกล่าวมี 3 ราย ได้แก่ Industrial and Commercial Bank of China (ICBC), Bank of China (BOC) และ China Construction Bank (CCB) รวมทั้งหมด 16 จุดบริการ ครอบคลุมนครหนานหนิง และเมืองชินโจว
ระบบบัญชีธนาคารเดียวสำหรับการชำระบัญชีด้วยสกุลเงินหยวนและสกุลเงินต่างประเทศ คืออะไร? บัญชีธนาคารสำหรับบริหารจัดการหลายสกุลเงิน (multi-currency account) ที่มีความสะดวก ครบ จบในบัญชีเดียว ทั้งการซื้อ-ขาย รับ-จ่าย ทั้งในและต่างประเทศ ช่วยลดขั้นตอน ลดความซับซ้อน และลดต้นทุนประกอบการ สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของโลกธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
เดิมที การบริหารจัดการบัญชีธนาคารสกุลเงินหยวนกับสกุลเงินต่างประเทศต้องแยกจากกัน กล่าวคือ บัญชีสกุลเงินหยวนกำกับดูแลโดยแบงค์ชาติจีน ขณะที่สกุลเงินต่างประเทศเป็นหน้าที่ของสำนักปริวรรตเงินตราแห่งชาติจีน (SAFE) ซึ่งสองหน่วยงานดังกล่าวมีระบบการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ทั้งการจัดประเภทของบัญชี การชำระดุลธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การโอนเงิน และการเก็บรวบรวมข้อมูลทางสถิติ
อีกทั้ง แต่ละสกุลเงินต้องแยกบัญชีเป็นเอกเทศ (แยกเปิดบัญชีแบบ 1 บัญชี 1 สกุลเงิน) ส่งผลให้การทำธุรกรรมและการบริหารจัดการบัญชีมีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน สิ้นเปลืองทั้งต้นทุนเวลา กำลังคน และค่าใช้จ่าย
เมื่อนำ ‘ระบบบัญชีเดียว’ มาทดลองใช้ในพื้นที่จุดทดลองแล้ว นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่มีคุณสมบัติสอดคล้องตามเงื่อนไขที่กำหนด สามารถเปิดบัญชีดังกล่าวได้ โดยจะมีบัญชีธนาคารสกุลเงินหยวนเป็นหลัก ช่วยลดขั้นตอนความยุ่งยากในการดำเนินการ ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องให้ภาคธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น
ภาคธุรกิจที่ตั้งอยู่ในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจว ได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบาย ‘จุดทดลองใช้ระบบบัญชีธนาคารเดียวสำหรับการชำระบัญชีเงินหยวนและเงินต่างประเทศ’ นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงปัจจุบัน ธนาคารที่เข้าระบบดังกล่าวได้เปิดบัญชี multi-currency account ให้กับภาคธุรกิจแล้ว รวม 211 ราย มียอดธุรกรรมการเงินในสกุลเงินหยวน 2,300 ล้านหยวน และสกุลเงินต่างประเทศ 5.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
คุณเหอ ต้าอู่ (He Dawu/何大武) ผู้จัดการใหญ่บริษัท Guangxi Free Trade Zone Linhai Trading Co.,Ltd. (广西自贸区临海贸易有限公司) กล่าวว่า หลังจากเปิดบัญชีดังกล่าวแล้ว เวลาที่ชำระบัญชีการค้าสินค้านำเข้า-ส่งออก บริษัทฯ สามารถดำเนินการรับ-จ่ายสกุลเงินต่างๆ โดยใช้เพียงบัญชีเดียว ซึ่งช่วยยกระดับการอำนวยความสะดวกด้านการชำระบัญชีการค้าต่างประเทศได้เป็นอย่างมาก
ในบริบทที่เขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจวมีบริษัทนำเข้า-ส่งออกและบริษัทโลจิสติกส์ตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก และมีธุรกรรมการค้าต่างประเทศเป็นจำนวนมาก คณะกรรมาธิการบริหารเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจวและธนาคารที่เป็นจุดทดลองฯ ได้ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนให้ ‘ผู้เล่น’ (Market Entity) ในพื้นที่ได้ปลดปล่อยพลังทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในเวทีสากล
ปัจจุบัน บัญชี multi-currency account มีบทบาทสำคัญที่ช่วยสนับสนุนภาคการค้าต่างประเทศ การขนส่งและโลจิสติกส์ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน (Cross border e-Commerce) สามารถตอบสนองความต้องการในธุรกรรมการชำระบัญชีการค้าสินค้า และการค้าบริการ
บีไอซี เห็นว่า การมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นมิตร โดยเฉพาะในแง่ของการเปิดกว้างภาคการเงินระหว่างประเทศ ช่วยให้มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และภาคธุรกิจก็มีขีดความสามารถทางการแข่งขันมากยิ่งขึ้น การดำเนินนโยบายการปฏิรูปภาคการเงิน ‘ระบบบัญชีเดียว’ ที่กล่าวมาข้างต้นจึงมีนัยสำคัญต่อเขตฯ กว่างซีจ้วงในการยกระดับการเปิดกว้างทางการค้าการลงทุน ซึ่งช่วยขยายผลต่อไปถึงความสัมพันธ์ในทุกมิติระหว่างจีน(กว่างซี)กับต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย
จัดทำโดย : นางสาวเหวย จี้จวิน (韦纪君) นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี
เรียบเรียงโดย : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ http://news.gxnews.com.cn (广西新闻网) วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 และ 15 ธันวาคม 2565
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 11 มกราคม 2566
The post การนำร่องใช้ระบบบัญชีเงินหยวนกับต่างประเทศ ‘ครบจบบัญชีเดียว’ (multi-currency account) ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้กว่างซี appeared first on thaibizchina.