สรุปภาวะเศรษฐกิจจีนเดือน ก.ค. 2566 – thaibizchina

การบริโภคต่ำกว่าคาดการณ์ – ในเดือน ก.ค. 2566 ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 และต่ำกว่าที่สถาบันวิจัย 14 แห่งคาดการณ์ที่ประมาณร้อยละ 2.8 – 10.8 โดยได้รับผลกระทบจากยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ชะลอตัว ขณะที่ การบริโภคด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในเดือน ก.ค. 2566 ยอดค้าปลีกสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับ ก.ค. 2565 ซึ่งลดลงจากระดับร้อยละ 6.7 ในเดือน มิ.ย. 2566

ภาคอุตสาหกรรมต่ำกว่าคาดการณ์ – ในเดือน ก.ค. 2566 มูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรมจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งลดลงจากระดับร้อยละ 4.4 ในเดือน มิ.ย. 2566 และต่ำกว่าคาดการณ์เฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 4.5 โดย (1) สาขาอุตสาหกรรม 23 สาขา (จากทั้งหมด 41 สาขา) มีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ การหลอมโลหะ และคอมพิวเตอร์ (2) สินค้าอุตสาหกรรม 303 รายการ (จากทั้งหมด 620 รายการ) มีปริมาณการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเหล็กดิบ เหล็กกล้า และโซล่าเซลล์ ขณะที่ปริมาณการผลิตรถยนต์มีอัตราการเติบโตติดลบที่ร้อยละ 3.8 สืบเนื่องจากการมีฐานตัวเลขที่สูงในช่วงเดียวกันของปี 2565 และ (3) อัตราการจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมอยู่ที่ร้อยละ 97.8 เพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 95.7 ในเดือน มิ.ย. 2566 นอกจากนี้ มูลค่าการส่งมอบสินค้าส่งออกของ บ. อุตสาหกรรมในจีนลดลงร้อยละ 6.4 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาคการส่งออกของจีนยังคงมีแรงกดดันค่อนข้างสูง

การลงทุนต่ำกว่าคาดการณ์ – ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.ค. 2566 การลงทุนสินทรัพย์ถาวรของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าระดับร้อยละ 3.8 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ประมาณร้อยละ 3.6 – 4.2 โดย (1) การลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลงร้อยละ 8.5 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงมากขึ้น หากเทียบกับในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 (ลดลงร้อยละ 7.9) และเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการลงทุนของจีนในภาพรวม (2) การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ซึ่งลดลงจากระดับร้อยละ 6 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 และ (3) การลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ซึ่งลดลงจากระดับร้อยละ 7.2 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 โดยได้รับผลกระทบจากการออกพันธบัตรพิเศษของรัฐบาลท้องถิ่นชะลอตัวลง รวมถึงอุณหภูมิสูงและฝนตกหนักส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้าง

จีนระงับการประกาศสถิติการจ้างงานของวัยรุ่นจีน – เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) แถลงว่า NBS จะไม่มีการประกาศสถิติการจ้างงานที่แบ่งตามกลุ่มอายุ รวมถึงสถิติการจ้างงานของวัยรุ่นจีน (อายุ 16-24 ปี) โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน ส.ค. 2566 เป็นต้นไป ซึ่ง NBS ให้เหตุผลว่า “มีความต้องการปรับปรุงงานด้านสถิติแรงงานให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นตามการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมจีน” และ NBS จะกลับมาประกาศสถิติดังกล่าวอีกครั้งในเวลาที่เหมาะสม อนึ่ง ในเดือน มิ.ย. 2566 อัตราการว่างงานของวัยรุ่นจีนสูงถึงร้อยละ 21.3 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นระดับสูงสุดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 นับตั้งแต่จีนเริ่มเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวเมื่อปี 2561

แนวโน้มเศรษฐกิจจีนในขั้นตอนต่อไป – NBS ระบุว่า จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีศักยภาพ และจีนมีพื้นฐานอุตสาหกรรมที่แข่งเกร่ง ซึ่งเศรษฐกิจจีนยังคงมีแนวโน้มพัฒนาที่ดีในระยะยาว โดยมีปัจจัยสนับสนุน เช่น (1) การฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ (2) แม้การลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงติดลบ แต่การลงทุนด้านอุตสาหกรรมการผลิตและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานยังคงมีเสถียรภาพ (3) สภาพแวดล้อมภายนอกที่จะปรับตัวดีขึ้น อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกสู่ระดับร้อยละ 3 จากเดิมร้อยละ 2.8 (4) การเติบโตของแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (5) การแสดงผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน รวมถึงการส่งเสริมการบริโภคของใช้ในครัวเรือน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชน เป็นต้น

* * * * * * * * * *

webmaster

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]