• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กว่างซีเร่งสร้างสภาพแวดล้อมธุรกิจ เปิดตัวศูนย์อนุญาโตตุลาการตอบโจทย์อาเซียนบริการครบ จบในที่เดียว

กว่างซีเร่งสร้างสภาพแวดล้อมธุรกิจ เปิดตัวศูนย์อนุญาโตตุลาการตอบโจทย์อาเซียนบริการครบ จบในที่เดียว

เมื่อไม่นานมานี้ สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสาขาเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า CCPIT ได้จัดตั้ง ศูนย์ดำเนินการร่วมด้านการฟ้องร้อง อนุญาโตตุลาการ และการไกล่เกลี่ย (诉仲调联动中心) เพื่อปรับปรุงและพัฒนากลไกการทำงานในการให้บริการด้านกฎหมายพาณิชย์ระหว่างประเทศของเครือข่าย CCPIT ที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกทั้งในด้านรูปแบบและโซลูชันในการไกล่เกลี่ยหรือประนอมข้อพิพาททางพาณิชย์ระหว่างประเทศ (Alternative Dispute Resolution) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการดำเนินธุรกิจของทั้งในและต่างประเทศของเขตฯ กว่างซีจ้วง

คำอธิบาย การอนุญาโตตุลาการ หากจะพูดให้เข้าใจตรงกันได้ง่าย ๆ ก็คือ เป็นหนึ่งในกระบวนการการระงับข้อพิพาททางเลือก โดยมีการตั้งคนกลางขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาด คล้ายกับผู้พิพากษาในศาล แต่มีต้นทุนต่ำกว่า ใช้เวลาดำเนินการน้อยกว่า และมีความยืดหยุ่นเป็นกันเองมากกว่า ซึ่งการจะใช้วิธีการระงับข้อพิพาทวิธีนี้ได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 ฝ่าย จึงจะสามารถเริ่มกระบวนการได้
(ที่มา สถาบันอนุญาโตตุลาการ Thailand Arbitration Center : THAC)

นาย Nie Xinyu (聂新宇) หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของ CCPIT Guangxi ให้ข้อมูลว่า ศูนย์ดำเนินการร่วมด้านการฟ้องร้อง อนุญาโตตุลาการ และ   การไกล่เกลี่ยแห่งแรกของเขตฯ กว่างซีจ้วง เป็นผลพวงความสำเร็จของ     การแสวงหาโซลูชันในการประสานงานด้านการฟ้องร้องและไกล่เกลี่ย อนุญาโตตุลาการในการดำเนินข้อพิพาททางพาณิชย์ระหว่างประเทศ ซึ่งตอบโจทย์ความมุ่งหมายของเขตฯ กว่างซีจ้วงในการสร้างตัวเลือกด้านการระงับ ข้อพิพาททางพาณิชย์ระหว่างประเทศแบบ One Stop Service บริการครบ จบในที่เดียว เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งความเป็นตลาด (Marketization) เป็นไปตามหลักนิติธรรม และเป็นไปตามหลักสากล

ศูนย์ดำเนินการร่วมดังกล่าวมีหน่วยงานระงับข้อพิพาททางพาณิชย์ในเครือข่ายทั้งหมด 12 แห่ง เพื่อร่วมกันผลักดันการพัฒนาแพลตฟอร์มการระงับข้อพิพาททางพาณิชย์ระหว่างประเทศที่มีความหลากหลายแบบครบวงจรและการบูรณการทำงานในงานด้านดังกล่าว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลการดำเนินงานของหน่วยงาน/สถาบันอนุญาโตตุลาการและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท วิจัยเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการและการไกล่เกลี่ยทางพาณิชย์ เสริมสร้างการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการและการไกล่เกลี่ยทางพาณิชย์ และดำเนินความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศด้านกฎหมายพาณิชย์

ตั้งแต่ปี 2563 สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกว่างซีได้พยายามพัฒนาและแสวงหาโซลูชันด้านอนุญาโตตุลาการและการไกล่เกลี่ยทางการค้าระหว่างประเทศอยู่อย่างต่อเนื่อง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สถาบันอนุญาโตตุลาการและสถาบันไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในเครือข่าย CCPIT จากเดิม 3 แห่ง เพิ่มเป็น 12 แห่ง รับเรื่องเฉลี่ยปีละกว่า 20,000 คดี มูลค่าคดีรวมเกือบ 2,000 ล้านหยวน

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญของเขตฯ กว่างซีจ้วงที่ต้องการจะปรับปรุงพัฒนาและยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อดึงดูดและรองรับการค้าการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 คณะกรรมาธิการอนุญาโตตุลาการเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของจีน (China International Economic and Trade Arbitration Commission – CIETAC) ซึ่งเป็นสถาบันอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่เก่าแก่ที่สุดที่จัดตั้งขึ้นในประเทศจีน ได้จัดตั้งศูนย์พิจารณาคดีอาเซียนของ CIETAC (ASEAN Trial Center of CIETAC / 中国国际经济贸易仲裁委员会东盟庭审中心) ที่นครหนานหนิง

โดยศูนย์พิจารณาคดีอาเซียนนี้เป็นองค์กรที่ให้บริการอนุญาโตตุลาการโดยเฉพาะสำหรับชาติสมาชิกอาเซียน โดยศูนย์แห่งนี้มีบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้เขตฯ กว่างซีจ้วงก้าวขึ้นเป็น ‘พื้นที่ที่เหมาะที่สุด (Optimal place) ด้านอนุญาโตตุลาการในภูมิภาค’ เพื่อรองรับความร่วมมือระดับภูมิภาคกับอาเซียนและ RCEP ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และส่งเสริมให้วิสาหกิจต่างชาติใช้กระบวนการทางอนุญาโตตุลาการในการระงับหรือประนอมข้อพิพาท

โดยศูนย์พิจารณาคดีอาเซียนมีรูปแบบและกลไกการทำงาน คือ หากข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการของคู่กรณีสองฝ่ายมีการระบุสถานที่อนุญาโตตุลาการที่นครหนานหนิง เขตฯ กว่างซีจ้วงแล้ว  คณะกรรมาธิการ CIETAC จะนำคดีมาพิจารณาที่ศูนย์พิจารณาคดีอาเซียน แต่หากไม่มีการระบุสถานที่อนุญาโตตุลาการไว้ในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ เมื่อคณะกรรมาธิการ CIETAC ได้รับความเห็นชอบจากคู่กรณีสองฝ่ายแล้ว เลือกพิจารณาคดีที่ศูนย์พิจารณาคดีอาเซียน

 

 

 

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 4 กรกฎาคม 2566
เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 4 กรกฎาคม 2566
เว็บไวต์
www.cnr.cn (央广网) วันที่ 17 สิงหาคม 2565

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]