เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้จัดงานส่งเสริมดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของเขตฯ กว่างซีจ้วงภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ผ่านทางรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพและโอกาสการค้าการลงทุนต่างๆ ในกว่างซีให้กับชาติสมาชิก RCEP รวมถึงประเทศไทย
ในเวลานี้ หากจะพูดถึงสัญญาณที่ชัดเจนของการบูรณาการเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนการค้าระบบพหุภาคี คงอดที่จะพูดถึงความตกลง RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปไม่ได้ ทั้งในแง่ของขนาดพื้นที่ ขนาดเศรษฐกิจ และขนาดของประชากร มีประเทศสมาชิกรวม 15 ประเทศ ประกอบด้วย 10 ชาติสมาชิกอาเซียน กับ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยกรอบความตกลงดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา และกรอบความตกลง RCEP นำมาซึ่งโอกาสให้กับเขตฯ กว่างซีจ้วงในการพัฒนาเศรษฐกิจมุ่งสู่ทะเล หรือ Seaward Economic (โมเดลใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเปิดสู่ภายนอก โดยมุ่งเน้นที่การต่อยอดและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริการที่เกี่ยวข้องกับทะเล)
งานดังกล่าวเป็นแพลตฟอร์มที่กว่างซีใช้ประชาสัมพันธ์ข้อได้เปรียบและ key project ของการลงทุนในเขตฯ กว่างซีจ้วง จับคู่ความร่วมมือทางธุรกิจ (business matching) และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามายังพื้นที่เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง เมืองชินโจว และเมืองฉงจั่ว รวมถึงระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (ILSTC) และเขตนำร่องการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติเมืองฝางเฉิงก่าง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ การผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ชีวการแพทย์ (bio medicine) วัสดุโลหะสมัยใหม่ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในครัวเรือนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการแปรรูปสินค้าเกษตร
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อปลายปี 2564 รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศ “แผนพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ของเขตปกครองตนเองกว่างซีในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี 2564-2568)” ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 9 สาขา ซึ่งรัฐบาลกว่างซีจะให้การส่งเสริมและสนับสนุนในการเข้ามาลงทุนในกว่างซี ดังนี้
- เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ : อุปกรณ์ปลายทางอัจฉริยะ (Intelligence Terminal) อุปกรณ์แสดงผลระดับความคมชัดสูง (HD) อุปกรณ์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (Human–computer interaction หรือ HCI) อุปกรณ์และแอปพลิเคชันโทรคมนาคมเคลื่อนที่ 5G และแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับ 5G (อาทิ Internet of Vehicles / Automated Driving System / Telemedicine) การบริการด้านซอฟแวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
- เทคโนโลยีชีวภาพ : (1) การพัฒนาชีวการแพทย์ หรือ Biomedical เช่น การแพทย์และยาสมุนไพรจีน วัสดุชีวภาพ ยาเคมี ชีววิทยาการเพาะพันธุ์ หรือ Biology Breeding วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์เพื่อการป้องกันโรคระบาด (2) การผลักดันการวิจัยและพัฒนายาพุ่งเป้าหรือยามุ่งเป้า หรือ Targeted Therapy วัคซีนรุ่นใหม่ และน้ำยาตรวจวินิจฉัยโรค (3) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุ (4) สนับสนุนธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ขั้นสูง
- พลังงานทางเลือก : การผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานทางเลือก การผลิตอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานทางเลือก และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสำรองพลังงานในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะห่วงโซ่อุตสาหกรรมต้นและปลายน้ำของพลังงานลม พลังงานแสดงอาทิตย์ พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานชีวมวล และระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grid)
- วัสดุสมัยใหม่ : วัสดุสำคัญที่ใช้ในการผลิตอุปกรณ์การขนส่งระบบราง รถยนต์พลังงานทางเลือก การบินและการเดินเรือ โดยเฉพาะวัสดุเหล็กกล้าสมัยใหม่ โลหะนอกกลุ่มเหล็กและวัสดุอัลลอยด์ขั้นสูง เส้นใยสังเคราะห์รูปแบบใหม่ วัสดุเซรามิกขั้นสูงรูปแบบใหม่ แคลเซียมคาร์บอเนตเกรดพรีเมียม วัสดุใหม่จากแร่แรเอิร์ธ (rare earth) วัสดุแบตเตอรีพลังงานทางเลือก วัสดุจากกราฟีน (graphene) และวัสดุชีวภาพ
- การผลิตอุปกรณ์ขั้นสูง : อุปกรณ์ขั้นสูงด้านการขนส่งระบบราง ทะเลและมหาสมุทร การผลิตอัจฉริยะ อากาศยาน พลังงานลม ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และการประยุกต์ใช้ดาวเทียม รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีแกน (core technology) การกำหนดมาตรฐาน และการพัฒนาซอฟแวร์ของชิ้นส่วนอะไหล่สำคัญในการผลิตอุปกรณ์ขั้นสูง
- รถยนต์อัจฉริยะและรถยนต์พลังงานทางเลือก : (1) สนับสนุนการเข้ามาลงทุนของบริษัทที่มีความโดดเด่นด้านรถยนต์พลังงานทางเลือกและชิ้นส่วนสำคัญ (2) พัฒนาผลิตภัณฑ์สำคัญ อาทิ ระบบเซลล์เชื้อเพลิง หรือ fuel cell และแบตเตอรี แท่นชาร์จ สถานีเติมไฮโดรเจน ระบบจ่ายไฮโดรเจน ระบบควบคุมไฟฟ้า และระบบขับขี่ปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Advanced Driver – Assistance Systems หรือ ADAS)
- อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม : (1) การพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมการใช้ทรัพยากรแบบครอบคลุม รวมถึงอุปกรณ์และการบริการด้านประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (2) การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์การผลิตที่ประหยัดพลังงานและไม่ก่อมลพิษในอุตสาหกรรม อุปกรณ์และเทคโนโลยีการป้องกันและแก้ไขมลพิษ อุปกรณ์ในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด อุปกรณ์การตรวจเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน
- นวัตกรรมดิจิทัลและการบริการสมัยใหม่ : การผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัล กิจกรรมเชิงวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ทางดิจิทัล (หอสมุดดิจิทัล หอวัฒนธรรมดิทัล พิพิธภัณฑ์ดิจิทัล สถานบริบาลผู้สูงอายุความจริงเสมือน) การบริการด้านดิจิทัลดีไซน์ และการบริการด้านนวัตกรรมดิจิทัล
- อุตสาหกรรมแห่งอนาคต : อุตสาหกรรมทะเลและมหาสมุทร วิศวกรรมชีวภาพ อุปกรณ์กึ่งตัว หรือ Semiconductor รุ่นที่ 3 รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
บีไอซี เห็นว่า นักลงทุน(ไทย)สามารถศึกษาความเป็นไปได้และแสวงหาโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกิดใหม่ของกว่างซี ซึ่งรัฐบาลกว่างซีพร้อมให้การส่งเสริมการลงทุน ทั้งในแง่นโยบาย สิทธิประโยชน์ทางการลงทุน เงินทุน เทคโนโลยี และทรัพยากรบุคคล หรืออาจใช้วิธีการจับคู่ธุรกิจในลักษณะแบ่งงานตามความถนัด เพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพและเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมของสองฝ่ายให้ก้าวหน้าไปพร้อมกัน ซึ่งช่วยให้เกิดการประหยัดต่อขนาด ทั้งยังช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถแสวงหา/แลกเปลี่ยนวัตถุดิบ ทรัพยากรและเทคโนโลยีระหว่างกัน ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมได้
จัดทำโดย : นางสาวเนตรนภา บุญมา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนาหนิง
เรียบเรียงโดย : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนาหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 27 มีนาคม 2565
เว็บไซต์ www.gxzf.gov.cn (广西政府网)