ไฮไลท์
- ในยุคน้ำมันแพง และกระแส Go Green และสังคม Low Carbon การเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้จีงมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านความต้องการใช้และการลงทุน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าขนาดจิ๋วที่เรียกกันว่า “Mini EV” (Mini Electric Vehicle) ถือว่ากำลังไปได้สวยในตลาดจีน โดยมีผู้ครองตลาดอย่าง “Hongguang MINI EV” จากค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในเมืองหลิ่วโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ที่สามารถทำยอดขายแซงหน้า Tesla Model 3 แบบไม่เห็นฝุ่น จนทำให้ค่ายรถยนต์หลายค่ายเริ่มหันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าขนาดจิ๋วลงชิงส่วนแบ่งในตลาดกันอย่างคึกคัก
- 1 ใน 5 ฐานการผลิตรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีนอยู่ที่ “เมืองหลิ่วโจว” ของเขตฯ กว่างซีจ้วง เมืองหลิ่วโจวเป็นเมืองอุตสาหกรรมเบอร์หนึ่งของกว่างซี และมีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ เพื่อรักษาการเป็นฐานการผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกที่สำคัญของจีน เมืองหลิ่วโจวได้กำหนดแผนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกของเมืองหลิ่วโจว โดยเฉพาะการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกและพัฒนาให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกของเมืองหลิ่วโจวมีความครบวงจร
- นอกจากรากฐานอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งแล้ว หัวใจสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของเมืองหลิ่วโจวอยู่ที่ “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์” ผ่านการจัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก” หรือ EV Lab เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ระดับประเทศ โดยมีบริษัท SGMW เป็นแกนนำหลัก ร่วมกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่างซี สถาบันวิจัยยานยนต์กว่างซี ศูนย์ทดสอบคุณภาพยานยนต์แห่งชาติจีน(สาขากว่างซี) และพร้อมเปิดรับหน่วยงาน/องค์กร/สถาบันต่างๆ เข้าร่วมด้วย
- การส่งเสริมนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) และแนวโน้มเทรนด์การใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกกำลังมาแรง กลายเป็น key industrial sector ที่น่าจับตามองของกว่างซี ที่สำคัญ ทิศทางการพัฒนาดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยด้วย จึงถือเป็นโอกาสที่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยจะได้แสวงหาความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ การนำเข้ายานยนต์พลังงานทางเลือกและการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ การสร้างตัวตนในตลาดให้อีกฝ่ายได้รู้จักมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงการต่อยอดความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างไทยกับกว่างซี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของทั้งสองฝ่ายต่อไปด้วย
รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงและกำลังค่อยๆ เข้ามาแทนที่รถยนต์สันดาป (ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง) แม้ว่าปี 2564 อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนชิป กลับพบว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว แตะระดับ 6.6 ล้านคัน โดยประเทศจีนเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตมากที่สุด (ปี 2564 มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจาก 1.2 ล้านคันเป็น 3.4 ล้านคัน)
ยิ่งในยุคน้ำมันแพง บวกกับกระแส Go Green และสังคม Low Carbon ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านความต้องการใช้และการลงทุน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าขนาดจิ๋วที่เรียกกันว่า “Mini EV” (Mini Electric Vehicle) ถือว่ากำลังไปได้สวยในตลาดจีน โดยมีผู้ครองตลาดอย่าง “Hongguang MINI EV” จากค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในเมืองหลิ่วโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ที่สามารถทำยอดขายแซงหน้า Tesla Model 3 แบบไม่เห็นฝุ่น จนทำให้ค่ายรถยนต์หลายค่ายเริ่มหันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าขนาดจิ๋วลงชิงส่วนแบ่งในตลาดกันอย่างคึกคัก
ท่านทราบหรือไม่ว่า… 1 ใน 5 ฐานการผลิตรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีนอยู่ที่ “เมืองหลิ่วโจว” ของเขตฯ กว่างซีจ้วง เมืองหลิ่วโจวเป็นเมืองอุตสาหกรรมเบอร์หนึ่งของกว่างซี และมีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ ปัจจุบัน มีค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์หลายร้อยตั้งกิจการอยู่ในเมืองแห่งนี้ อาทิ SGMW (上汽通用五菱) / SAIC Motor (上海汽车) / Dongfeng Motor Corp. (东风) / FAW Group (中国一汽) และ SINOTRUK (中国重汽)
นอกจากรถยนต์สันดาปที่เป็นรากฐานเดิมของเมืองหลิ่วโจวแล้ว หลายปีมานี้ เมืองหลิ่วโจวให้ความสำคัญกับการพัฒนา “รถยนต์พลังงานทางเลือก” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ (emerging industry) เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นเทรนด์ที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลกลางที่หันไปให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม แนวโน้มการพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนและโลกที่กำลังเปลี่ยนถ่ายสู่ “รถยนต์พลังงานทางเลือก” และตลาดผู้ใช้งานก็หันมานิยมใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น
เพื่อรักษาการเป็นฐานการผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกที่สำคัญของจีน เมืองหลิ่วโจวได้กำหนดแผนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกของเมืองหลิ่วโจว โดยเฉพาะการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกและพัฒนาให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกของเมืองหลิ่วโจวมีความครบวงจร
นอกจากรากฐานอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งแล้ว หัวใจสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของเมืองหลิ่วโจวอยู่ที่ “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์” (อุตสาหกรรมขั้นปลายน้ำ) ที่ล้ำสมัย ล่าสุด รัฐบาลกว่างซีได้อนุมัติการก่อสร้าง “ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก” หรือ EV Lab ที่เมืองหลิ่วโจว ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ที่มีมาตรฐานสูงสุดของมณฑลและมีความสำคัญระดับประเทศ โดยมีบริษัท SGMW เป็นแกนนำหลัก ร่วมกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่างซ สถาบันวิจัยยานยนต์กว่างซี ศูนย์ทดสอบคุณภาพยานยนต์แห่งชาติจีน(สาขากว่างซี) และพร้อมเปิดรับหน่วยงาน/องค์กร/สถาบันต่างๆ เข้าร่วมด้วย
การจัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก” ถือเป็นหนึ่งในผลการดำเนินงานตามดำริของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในโอกาสที่เดินทางเยือนเขตฯ กว่างซีจ้วงเมื่อเดือนเมษายน 2564 เป็นการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาให้เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นมณฑลที่มีความแข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนาให้เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นเขตความร่วมมือสร้างสรรค์นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับอาเซียน โดยนอกจากรถยนต์พลังงานทางเลือกแล้ว เขตฯ กว่างซีจ้วงจะจัดตั้งห้องปฏิบัติในลักษณะเดียวกันเพิ่มอีก(ในโอกาสที่เหมาะสม)ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กว่างซีมีความพร้อม อาทิ ทะเลและมหาสมุทร อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ รวมถึงเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นและป่าไม้
ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก จะเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยี (Breakthrough technology) ใน “รถยนต์ Mini EV” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งานตามยุคตามสมัย การปรับตัวในทิศทางเดียวกันในห่วงโซ่อุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้ปรับตัวมาเป็นซัพพลายเออร์ให้กับยานยนต์สมัยใหม่ และเข้าร่วมพัฒนาชิ้นส่วนและเทคโนโลยีร่วมกับผู้ประกอบรถยนต์ รวมทั้งปรับเปลี่ยนสายการผลิตให้เหมาะสมกับเทรนด์ในอนาคต อาทิ
(1) การวิจัยและพัฒนายานยนต์และเทคโนโลยียานยนต์ : โครงสร้างตัวถังรถยนต์ เทคโนโลยีแกน (core technology) ของอะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์ตัวสำคัญ การผลิตอัจฉริยะและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในรถยนต์ เทคโนโลยีความปลอดภัยด้านสารสนเทศและการประยุกต์ใช้บิ๊กดาตาร์ในรถยนต์ การวิจัยพัฒนาระดับนานาชาติและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์โดยใช้ฉากทัศน์เป็นพื้นฐาน (Scenario-base) สำหรับรถยนต์
(2) การพัฒนาห่วงโซ่ระบบห่วงวิจัยและพัฒนาแบบครบวงจร ตั้งแต่การวิจัยประยุกต์ (applied research) การพัฒนเทคโนโลยีแกนเพื่อใช้ร่วมกันเป็นอุตสาหกรรม การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ การบ่มเพาะอุตสาหกรรม และการส่งเสริมให้เกิดความนิยมแพร่หลายในตลาด (business-marketing) โดยมีเป้าหมายว่าจะเป็นผู้นำเทคโนโลยีและเป็นผู้กำหนดมาตรฐานรถยนต์ Mini EV ในระดับสากล
(3) เดินหน้าสู่การเป็นฐานการสร้างสรรค์นวัตกรรมระดับชั้นนำที่ประสานกันอย่างลงตัวระหว่างภาคอุตสาหกรรมกาคผลิต + ภาควิชาการ + ภาคการวิจัย + ภาคการประยุกต์ใช้จริง เป็นแหล่งบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก และเป็นต้นแบบโมเดลเชิงนิเวศของการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ Mini EV และเป็นแพลตฟอร์มการแบ่งปันและการพัฒนาเปิดสู่ภายนอกของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานทางเลือกของกว่างซีและประเทศจีน
บีไอซี เห็นว่า การส่งเสริมนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) และแนวโน้มเทรนด์การใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกกำลังมาแรง กลายเป็น key industrial sector ที่น่าจับตามองของกว่างซี ที่สำคัญ ทิศทางการพัฒนาดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยด้วย โดยเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 65 คณะรัฐมนตรีมีมิตเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งการยกเว้น/ลดอากรขาเข้า (ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับส่วนประกอบรถยนต์ EV ที่จะนำมาผลิตหรือประกอบในประเทศ และลดอากรรถยนต์นำเข้าทั้งคัน สูงสุด 40% และลดอากรชิ้นส่วนนำเข้าเพื่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าด้วย) ลดภาษีสรรพสามิต (รถยนต์จาก 8 % เป็น 2 % และรถกระบะเป็น 0 %) และให้เงินอุดหนุน (รถยนต์ และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาท และรถจักรยานยนต์คันละ 18,000 บาท) เพื่อส่งเสริมการใช้รถ EV มากขึ้น และส่งเสริมการขยายฐานการผลิตในประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้เอง และรักษาการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก
นับเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยจะได้แสวงหาความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ การนำเข้ายานยนต์พลังงานทางเลือกและการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ การสร้างตัวตนในตลาดให้อีกฝ่ายได้รู้จักมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงการต่อยอดความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างไทยกับกว่างซี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของทั้งสองฝ่ายต่อไปอนาคตด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี (广西日报) วันที่ 08 เมษายน 2565