บทเรียนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามเทคโนโลยีสหรัฐฯ-จีน ส่งผลกระทบให้ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมหลายสาขาเกิดภาวะชะงักงัน (Supply Chain Disruption) ด้วยเหตุนี้ ทำให้ รัฐบาลจีน(กว่างซี)ได้ย้อนกลับมาทบทวนปัญหาและแสวงหาแนวทางในการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานในประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศทิศทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงคุณภาพของมณฑลภายใต้ “รหัส 765” (ระหว่างปี 2564-2568) ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
หลายปีมานี้ อุตสาหกรรมของกว่างซีมีทิศทางการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ มีธุรกิจชั้นนำเกิดขึ้นจำนวนมาก คลัสเตอร์อุตสาหกรรมและการต่อยอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมมีความก้าวหน้ามากพอสมควร อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการผลิตเกินกว่า 1 แสนล้านหยวนขึ้นไปมีจำนวน 10 สาขา ยิ่งไปกว่านั้น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ถลุงโลหะ และยานยนต์ กลายเป็นอุตสาหกรรมโดดเด่นที่สามารถสร้างมูลค่าการผลิตทะลุระดับ 2 แสนล้านหยวน
การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน นอกจากจะเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน ไฟฟ้า ที่ดิน เงินทุน ทรัพยากรมนุษย์ และข้อมูล (Data) แล้ว ยังต้องมี “นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญ
ปัจจุบัน กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเขตฯ กว่างซีจ้วง กำลังจัดทำฐานข้อมูลบัญชีรายชื่อ 3 กลุ่ม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเสาหลัก 6 สาขา กับห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ 5 สาขา โดยเฉพาะการสนับสนุนความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีแกน (เป็นของตนเอง) คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงกลยุทธ์ หรือ strategic product ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นที่ต้องการของตลาด และมีความสามารถในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมได้ดี อีกทั้ง ยังมีประสิทธิภาพในการยกระดับขีดความสามารถในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม และขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม ดังนี้
นอกจากนี้ รัฐบาลกว่างซีกำลังมุ่งส่งเสริมการจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีระดับมณฑล” เพื่อช่วยแก้ไข/ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีแกน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม โดยมี “ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก” ที่เมืองหลิ่วโจวเป็นผลงานต้นแบบ นอกจากรถยนต์พลังงานทางเลือกแล้ว รัฐบาลกว่างซีได้กำหนดแผนการจัดตั้งห้องปฏิบัติในลักษณะเดียวกันเพิ่มอีกในโอกาสที่เหมาะสม โดยมุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มเครื่องจักรกล เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ การผลิตเครื่องจักรกลขั้นสูง
ทั้งนี้ รัฐบาลกว่างซีได้วางเป้าหมายว่า ในปี 2568 กว่างซีจะมีมูลค่ารวมการผลิตภาคอุตสาหกรรมทะลุ 3 ล้านล้านหยวน และมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมการผลิตจะมีสัดส่วนมากกว่า 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั้งมณฑล
บีไอซี เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเชิงบวกที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในจีน (กว่างซี) และการมีผลบังคับใช้ของความตกลง RCEP ซึ่งจะช่วยเอื้อประโยชน์ให้ประเทศสมาชิกสามารถนำเขาวัตถุดิบที่หลากหลาย ภายใต้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ขณะนี้จึงเป็นจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมสำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยในการทำความเข้าใจกับห่วงโซ่อุปทานของตนเองและกว่างซี เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาและขยายแหล่งวัตถุดิบที่แท้จริงของธุรกิจ แสวงหาโอกาสความร่วมมือด้านการลงทุน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน ตลอดจนพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจ รวมถึงการสร้างตัวตนในตลาดให้อีกฝ่ายได้รู้จักมากยิ่งขึ้น
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://news.gxnews.com.cn (广西新闻网) วันที่ 14 เมษายน 2565