• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กว่างซีเสริมทัพ “ด่านนำเข้าผลไม้ไทย” “ทุเรียนไทย” ประเดิมใช้สนามบินหนานหนิง – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

กว่างซีเสริมทัพ “ด่านนำเข้าผลไม้ไทย” “ทุเรียนไทย” ประเดิมใช้สนามบินหนานหนิง – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ‘ทุเรียนไทย’ เป็นผลไม้นำเข้าล็อตแรกที่ประเดิมใช้ “ด่านสนามบินหนานหนิง” โดยเที่ยวบิน HT3828 ของสายการบิน Tianjin Air Cargo นับเป็นนิมิตหมายใหม่ของการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และเป็นอีก ‘ทางเลือก’ ของผู้ส่งออกผลไม้ไทยไปจีน
  • เมื่อเทียบกับการขนส่งทางบกและทางทะเล การขนส่งทางอากาศช่วยลดระยะเวลาการขนส่งลงได้มาก กล่าวคือ ในสถานการณ์ปกติ การขนส่งทางบกจากประเทศไทยไปถึงด่านทางบกในเขตฯ กว่างซีจ้วงจะใช้เวลา 3 – 4 วัน การขนส่งทางเรือไปถึงท่าเรือชินโจวของเขตฯ กว่างซีจ้วงจะใช้เวลา 4 – 7 วัน แต่การขนส่งทางอากาศไปนครหนานหนิงใช้เวลาทำการบินเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น
  • ข้อมูลตารางบินเดือนพฤษภาคม 2565 การขนส่งสินค้าทางอากาศในเส้นทาง “กรุงเทพฯ – นครหนานหนิง” มีสายการบินที่ให้บริการทั้งหมด 3 ราย รวม 12 เที่ยวบิน คือ Tianjin Air Cargo (ตารางบินวันอังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์) China Central Longhao Airlines  (ตารางบินวันพุธ ศุกร์ และอาทิตย์) และ Thai Smile (ตารางบินวันอังคาร พฤหัส และศุกร์)
  • ฟังก์ชันของท่าอากาศยานหนานหนิงนับว่ามีความหลากหลาย นอกจากสินค้าทั่วไปแล้ว (ที่ผ่านมา มีเที่ยวบินขนส่งพัสดุไปรษณีย์และสินค้า Cross-border e-Commerce เป็นประจำอยู่แล้ว) ท่าอากาศยานแห่งนี้ยังเป็น ด่านนำเข้าผลไม้ ด่านนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิตเพื่อการบริโภค และ ด่านนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นจากต่างประเทศ ที่ผ่านมามีประวัติการนำเข้ากุ้งแวนนาไมมีชีวิต หรือกุ้งขาวจากประเทศไทยมาแล้วด้วย

 

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ‘ทุเรียนไทย’ เป็นผลไม้นำเข้าล็อตแรกที่ประเดิมใช้ “ด่านสนามบินหนานหนิง” โดยเที่ยวบิน HT3828 ของสายการบิน Tianjin Air Cargo (天津货运航空有限公司) นับเป็นนิมิตหมายใหม่ของการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และเป็นอีก ‘ทางเลือก’ ของผู้ส่งออกผลไม้ไทยไปจีน

เส้นทางการเป็น “ประตูการค้า(ผลไม้ไทย)” ของท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง

  • กันยายน 2564 สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC ไฟเขียวให้ท่าอากาศยานหนานหนิงจัดตั้ง “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” พื้นที่ 1,009 ตร.ม. ประกอบด้วยพื้นที่ลานตรวจ พื้นที่ลานรอตรวจ พื้นที่ตรวจปล่อย ห้องปฏิบัติการตรวจคัดกรองเบื้องต้น ห้องเก็บสินค้าสุ่มตรวจ และอุปกรณ์ฆ่าเชื้อกล่องบรรจุภัณฑ์สินค้าแบบรอบด้าน กล่องบรรจุผลไม้เน่าเสียแบบปิดมิดชิด
  • ตุลาคม 2564 ท่าอากาศยานฯ ได้เปิดใช้ คลังสินค้าระหว่างประเทศ” แห่งใหม่ หลังจากที่ได้ผ่านการตรวจรับจากศุลกากรหนานหนิง (ดูแลทั้งเขตฯ กว่างซีจ้วง) เป็นที่เรียบร้อย มีพื้นที่รวม 8,200 ตร.ม. พร้อมรองรับการขนถ่ายสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศได้ 80,000 ตัน/ปี มีฟังก์ชันรองรับการนำเข้า-ส่งออกอย่างครบครัน ทั้งสินค้าทั่วไป พัสดุส่งด่วนและไปรษณียภัณฑ์ รวมถึงสินค้ามีชีวิต
  • 1 เมษายน 2565 บนเว็บไซต์ของ GACC ได้ปรากฎรายชื่อของ “สถานตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้าของท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิง” ซึ่งหมายความว่า… ท่าอากาศยานแห่งนี้มีคุณสมบัติพร้อมสำหรับการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ รวมถึงผลไม้ไทย
  • 10 พฤษภาคม 2565 อาคารคลังสินค้าประจำท่าอากาศยานฯ ได้ประกาศแจ้งผู้ประกอบการว่า ท่าอากาศยานฯ จะเริ่มให้บริการนำเข้าผลไม้อย่างเป็นทางการในวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป
  • 13 พฤษภาคม 2565 “ทุเรียนไทย” รวมน้ำหนักราว 19.2 ตัน โดยสารเที่ยวบิน HT3828 ของสายการบิน Tianjin Air Cargo ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงนครหนานหนิง เป็นผลไม้ล็อตแรกที่ประเดิมใช้สนามบินแห่งนี้ ในการนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศประจำนครหนานหนิง และผู้อำนวยการสำนักงานฝ่ายเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว เข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
  • 14 พฤษภาคม 2565 “มังคุดไทย” รวมน้ำหนักราว 20 ตัน เป็นผลไม้ไทยชนิดที่ 2 ที่นำเข้าผ่านสนามบินแห่งนี้

 

ตามรายงาน หลังจากทุเรียนล็อตแรกได้ลงจากเครื่องบิน เนื่องจากผลไม้สดต้องแข่งขันกับเวลา ศุลกากรสนามบินหนานหนิงได้เปิดช่องทางพิเศษ (fast track) และปฏิบัติงานตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการป้องกันการนำเข้าโรคระบาดจากต่างประเทศด้วยความเคร่งครัดและรวดเร็ว เช่น เปิดกล่องตรวจสอบสินค้า ตรวจสอบใบรับรอง ตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ และกักกันศัตรูพืชบนผลไม้ ทำให้สินค้าผ่านพิธีการศุลกากรอย่างรวดเร็ว

ด้านเจ้าหน้าที่ของบริษัท Beitou Kou’an Group (北投口岸集团凭祥报关行公司) ซึ่งเป็นตัวแทนออกของ หรือ Custom broker ในการนำเข้ามังคุดไทย ให้ข้อมูลว่า หลังจากเที่ยวบินนำเข้ามังคุดเที่ยวปฐมฤกษ์ “กรุงเทพฯ – นครหนานหนิง” แล้ว ต่อจากนี้ บริษัทฯ วางแผนให้มีเที่ยวบินวันละเที่ยว ปริมาณขนส่งสินค้าสัปดาห์ละ 260 ตัน

บริษัทรายนี้ ได้พัฒนาบริการตัวแทนออกของแบบครบวงจร ตั้งแต่รวมตู้สินค้า – ขนถ่ายสินค้า – ดำเนินพิธีการศุลกากร – ตรวจสอบคุณภาพและกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืช – ฆ่าเชื้อ – ขนส่งและกระจายสินค้าไปสู่ตลาด โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายว่าจะพัฒนาห่วงโซ่อุทานและระบบบริการด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น

สำหรับตารางบินเดือนพฤษภาคม 2565 การขนส่งสินค้าทางอากาศในเส้นทาง “กรุงเทพฯ – นครหนานหนิง” มีสายการบินที่ให้บริการทั้งหมด 3 ราย รวม 12 เที่ยวบิน คือ Tianjin Air Cargo (ตารางบินวันอังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์)  China Central Longhao Airlines  (ตารางบินวันพุธ ศุกร์ และอาทิตย์) และ Thai Smile (ตารางบินวันอังคาร พฤหัส และศุกร์)

เมื่อเทียบกับการขนส่งทางบกและทางทะเล การขนส่งทางอากาศช่วยลดระยะเวลาการขนส่งลงได้มาก กล่าวคือ ในสถานการณ์ปกติ การขนส่งทางบกจากประเทศไทยไปถึงด่านทางบกในเขตฯ กว่างซีจ้วงจะใช้เวลา 3 – 4 วัน การขนส่งทางเรือไปถึงท่าเรือชินโจวของเขตฯ กว่างซีจ้วงจะใช้เวลา 4 – 7 วัน แต่การขนส่งทางอากาศไปนครหนานหนิงใช้เวลาทำการบินเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น

ที่สำคัญ ท่าอากาศยานหนานหนิงเป็นอีกหนึ่ง “ทางเลือก” ในการระบายผลไม้ไทย โดยเฉพาะช่วงที่ผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหารถบรรทุกติดสะสมที่บริเวณด่านโหย่วอี้กวาน

กล่าวได้ว่า… เขตฯ กว่างซีจ้วง เป็นหนึ่งในมณฑลที่มี ด่านนำเข้าผลไม้ ที่สามารถนำเข้าผลไม้ได้จริงในทางปฏิบัติมากที่สุดของจีน ทั้งทางถนน (ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน ด่านทางบกตงซิง) ด่านทางรถไฟ (ด่านรถไฟเมืองผิงเสียง) ด่านทางทะเล (ด่านท่าเรือชินโจว ด่านท่าเรือฝางเฉิงก่าง) และด่านทางอากาศ (ด่านท่าอากาศยานนานาชาติเหลี่ยงเจียงกุ้ยหลิน และด่านท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิง)

บีไอซี เห็นว่า ท่าอากาศยานหนานหนิงจะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ส่งออกไทยในการขนส่งสินค้าผลไม้สด รวมถึงสินค้าไทยที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดกว่างซีและพื้นที่อื่นทั่วประเทศจีนได้ผ่านเที่ยวบินขนส่งสินค้า กรุงเทพฯ – หนานหนิง โดยเฉพาะในช่วงที่ผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประหยัดต้นทุนเวลาในการขนส่ง (ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง)

ในบรรดาผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปประเทศจีนมีทั้งหมด 22 ชนิด นอกจากผลไม้ที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนอย่างทุเรียน มังคุดแล้ว ท่าอากาศยานหนานหนิงจะช่วยสร้าง โอกาสให้กับผลไม้ไทยที่มีศักยภาพชนิดอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนัก ช่วยตอบโจทย์ตลาดผลไม้ระดับพรีเมียม และผลไม้ที่มีเงื่อนไขด้านเวลาและการขนส่ง (บอบช้ำง่าย เน่าเสียง่าย) อาทิ มะม่วงน้ำดอกไม้ ลองกอง ชมพู่

ฟังก์ชันของท่าอากาศยานหนานหนิงนับว่ามีความหลากหลาย นอกจากสินค้าทั่วไปแล้ว (ที่ผ่านมา มีเที่ยวบินขนส่งพัสดุไปรษณีย์และสินค้า Cross-border e-Commerce เป็นประจำอยู่แล้ว) ท่าอากาศยานแห่งนี้ยังเป็น  ด่านนำเข้าผลไม้ ด่านนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิตเพื่อการบริโภค และ ด่านนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นจากต่างประเทศ ที่ผ่านมามีประวัติการนำเข้ากุ้งแวนนาไมมีชีวิต หรือกุ้งขาวจากประเทศไทยมาแล้วด้วย

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 14, 15 พฤษภาคม 2565
เว็บไซต์ www.nntv.cn (
南宁广播电视台) วันที่ 14 พฤษภาคม 2565
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (
中国新闻网) วันที่ 14 พฤษภาคม 2565

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]