• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • พัฒนาการ Metaverse ในมณฑลเสฉวน ปรับตัวรับมือกับโลกเสมือนจริงใบใหม่ – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

พัฒนาการ Metaverse ในมณฑลเสฉวน ปรับตัวรับมือกับโลกเสมือนจริงใบใหม่ – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

 

ลองจินตนาการดูว่า หากเราสามารถใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือนจริงโดยสามารถมองเห็น รับรู้ราวกับอยู่ในเหตุการณ์จริง อาทิ การประชุมในห้องประชุมเสมือนจริงที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานได้จริง การรับชมภาพยนตร์ที่สามารถเข้าไปสวมบทบาทเป็นตัวละคร มองเห็นฉากได้ 360 องศา หรือการซื้อของในร้านค้าเสมือนจริงที่สามารถสัมผัสสินค้า ทดลองสินค้าได้จริง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีอยู่ใน Metaverse โลกเสมือนจริงใบใหม่ที่จะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของเราให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

Metaverse คืออะไร มีความสำคัญกับชีวิตประจำวันของเรามากน้อยแค่ไหน ควรปรับตัวอย่างไรกับการมาถึงของ Metaverse

Metaverse มาจากคำว่า Meta กับ Verse มีความหมายว่า “จักรวาลที่อยู่เหนือจินตนาการ” เป็นโลกอีกใบที่ให้ผู้คนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันผ่านการจำลองเป็นตัวตนเสมือนจริง (Avatar) เป็นเทคโนโลยีและช่วยเชื่อมต่อผู้คนให้สามารถสื่อสารและทำกิจกรรมร่วมกันได้ แนวคิด Metaverse ปรากฏครั้งแรกในนวนิยายที่มีชื่อว่า Snow Crash

 

 

Metaverse กำลังเป็นที่สนใจ และได้รับการพูดถึงจากทุกประเทศทั่วโลก และในประเทศจีน คาดว่า ในปี 2565 อุตสาหกรรม Metaverse ในจีนจะมีมูลค่า 42,530 ล้านหยวน และในมณฑลเสฉวน เมืองยุทธศาสตร์หลักในจีนตะวันตก มีแผนในการพัฒนาเมืองให้มีความโดดเด่นในด้าน Metaverse เช่นกัน ปัจจุบัน มีบริษัท Metaverse ในมณฑลเสฉวนติดอันดับ 1 ใน 50 ของจีน

ความคิดเห็นของชาวจีนที่มีต่อ Metaverse

คำว่า “Metaverse” ปรากฏบ่อยครั้งบนช่องทางออนไลน์ จากการสำรวจในปี 2564 พบว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนเคยได้ยินชื่อ Metaverse และเกือบร้อยละ 50 ของพวกเขาค่อนข้างรู้จักและคุ้นเคยกับ Metaverse และร้อยละ 15.9 เข้าใจและคุ้นเคยกับ Metaverse เป็นอย่างดี นักวิเคราะห์ของ iiMedia Research เปิดเผยว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนมีความคิดที่เปิดกว้างและยอมรับการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

 

 

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนส่วนใหญ่คาดหวังให้ Metaverse ถูกนำมาใช้งานในด้านของความบันเทิง อาทิ โลกเสมือนจริง เกมออนไลน์ การท่องเที่ยวออนไลน์ เป็นต้น ชาวจีนไม่ได้คาดหวังให้ Metaverse เป็นพื้นที่การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือการลงทุนเก็งกำไรต่าง ๆ

 

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 62.4 มีแผนจะใช้งาน Metaverse ในการติดต่อสื่อสาร คาดว่าในอนาคต Metaverse จะเข้ามามีอิทธิพลหรืออาจเข้ามาแทนที่การสื่อสารวิธีดั้งเดิมในปัจจุบัน

 

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนร้อยละ 69.8 กังวลว่า ในอนาคตผู้คนจะเสพติดโลกเสมือนจริง Metaverse ดังนั้น การพัฒนา Metaverse ในระดับต่อไป จำเป็นต้องพิจารณาเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว โดยเน้นที่การสร้างกลไกต่อต้านการเสพติด Metaverse และการจำกัดการใช้งานของผู้ใช้งานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

พัฒนาการ Metaverse ในมณฑลเสฉวน

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 มณฑลเสฉวนได้ก่อตั้งสมาคมธุรกิจ Metaverse ในเขตไฮเทคโซน นครเฉิงตู เป็นแห่งแรกของประเทศจีน โดยร่วมกันก่อตั้งของ 5 บริษัท ได้แก่ Sichuan Tianfu International Exhibition Co., Ltd., Yuncong Technology, Qixingchen, May Day Vision และ Xintian World ในเวลาต่อมา ได้มีบริษัทผู้นำด้านธุรกิจ Metaverse กว่า 60 ราย เข้าร่วมสมาคม และช่วยเติมเต็มห่วงโซ่อุตสาหกรรม Metaverse ให้สมบูรณ์

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 เขตไฮเทคโซน นครเฉิงตู ได้จัดตั้งพันธมิตร Metaverse โดยมีความร่วมมือกับเมืองพันธมิตรกลุ่มแรก ได้แก่ นครเซินเจิ้น นครซีอาน นครอู่ฮั่น นครเหอเฝย เป็นต้น

ต่อมานครเฉิงตูจัดตั้งพันธมิตรอุตสาหกรรม Metaverse กับบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง อาทิ Tencent, Honor of Kings, Jiaozi Haole และ Together Intelligence โดยรวมเอาอสังหาริมทรัพย์ กีฬา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ดนตรีและความบันเทิงมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Metaverse ในวงกว้าง

นอกจากนี้ นครเฉิงตูยังได้สร้าง Chengdu Jiaozi Avenue Metaverse Center เริ่มต้นจากการให้บริการด้านความบันเทิง ธุรกิจการค้า สังคม การทำงาน การศึกษา อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ใน Jiaozi Avenue นับเป็นการผสมผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับไลฟ์สไตล์การบริโภครูปแบบใหม่ที่ทันสมัย

ในรายงานผลปฏิบัติการประจำเดือนมกราคม 2565 ของรัฐบาลนครเฉิงตู ได้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลนครเฉิงตูให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างจริงจัง มีแผนในการครองความเป็นผู้นำด้าน Metaverse และพัฒนานครเฉิงตูสู่เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ในการประชุม Tianfu Metaverse ครั้งแรก นครเฉิงตูได้จัดตั้งสถาบันวิจัย Metaverse 12 แห่ง ครอบคลุม 12 สาขา ได้แก่ (1) นิทรรศการ (2) สุขภาพ (3) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) (4) เทคโนโลยีการแสดงผลด้วยแสง (5) การถ่ายภาพและภาพยนตร์ (6) เทคโนโลยีทางธุรกิจ (7) วิทยาการหุ่นยนต์ (8) ศิลปะดิจิทัล (9) วรรณกรรม (10) นโยบาย-กฎหมาย (11) ความปลอดภัยในโลกออนไลน์ และ (12) ชีวิตอัจฉริยะ ในขณะเดียวกันยังสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ ผู้ประกอบการ และศิลปินใช้ Metaverse ด้วยข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีของนครเฉิงตู ส่งเสริมห่วงโซ่อุตสาหกรรมและพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวโครงการ  Metaverse มูลค่า 1 พันล้านหยวนในงานด้วย

 

ปัจจุบัน ทิศทางของ Metaverse ของไทย เป็นการลงทุนในทรัพย์สินดิจิทัล เช่น การซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อที่ดินดิจิทัลเก็งกำไรในโลกเสมือนจริงผ่าน Roblox หรือการลงทุนซื้อขาย NFT Non-Fungible Token ซึ่งปัจจุบัน บริษัทที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยต่างทยอยเข้าไปซื้อที่ดินและเปิดร้านในโลก Metaverse เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในอนาคต คาดว่า Metaverse จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ไทยและจีนควรตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ Metaverse รัฐบาลอาจพิจารณากำหนดนโยบาย มาตรการ แผนงาน ตลอดจนกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับ Metaverse ให้มีความครอบคลุม ส่วนภาคเอกชนควรปรับตัว รวมถึงศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอและคว้าโอกาสธุรกิจต่าง ๆ จากโลก Metaverse และนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ toutiao.com (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565)

https://www.toutiao.com/article/7099760435238273567/?wid=1653893877087

เว็บไซต์ beijing031271.11467.com (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565)

http://beijing031271.11467.com/news/1202497.asp

เว็บไซต์ 163.com (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565)

https://www.163.com/dy/article/H717LH9605509EKV.html?f=post2020_dy_recommends

เว็บไซต์ Askci (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565)

https://www.askci.com/news/chanye/20220428/1642301839705.shtml

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ iiMedia Research (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565)

https://www.iimedia.cn/c400/82999.html

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]