เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ท่าเรือหนานซาเปิดเส้นทางเดินเรือต่างประเทศใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ (1) เส้นทางหนานซา – นอร์ฟอล์ก – นวร์ก – ชาร์ลสตัน – แจ็คสันวิลล์ (Nansha – Norfolk – Newark – Charleston – Jacksonville) ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือไปยังท่าเรือฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา และ (2) เส้นทางหนานซา – แหลมฉบัง – กรุงเทพฯ (Nansha – Laem Chabang – Bangkok) ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือไปยังไทยและเวียดนาม การเปิดเส้นทางเดินเรือเพิ่มครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทางเลือกของเส้นทางเดินเรือให้กับผู้ประกอบการที่จะขนส่งสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ท่าเรือหนานซามีเส้นทางเดินเรือทั้งหมด 93 เส้นทาง แบ่งเป็นเส้นทางเดินเรือในประเทศ 42 เส้นทางและเส้นทางเดินเรือต่างประเทศ 51 เส้นทาง การเพิ่มเส้นทางเดินเรือครั้งนี้เป็นการเส้นทางเดินเรือจากท่าเรือหนานซาระยะที่ 3 ไปยังสหรัฐอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วย (1) เส้นทางหนานซา – หนิงโป – ชิงต่าว – ปูซาน – นอร์ฟอล์ก – นวร์ก – ชาร์ลสตัน – แจ็คสันวิลล์ (Nansha – Ningbo-Zhoushan – Qingdao – Pusan – Norfolk – Newark – Charleston – Jacksonville) และ (2) หนานซา – แหลมฉบัง – กรุงเทพฯ – แหลมฉบัง – โฮจิมินห์ – หนานซา (Nansha – Laem Chabang – Bangkok – Ho Chi Minh – Nansha)
ท่าเรือหนานซา
ท่าเรือหนานซาบริหารจัดการโดยบริษัท Guangzhou Port Group ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2565 มีปริมาณการขนส่งสินค้ากับต่างประเทศกว่า 2.67 ล้านตู้ (TEU) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีปริมาณการขนส่งสินค้ามากเป็นอันดับ 5 ของโลกรองจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ท่าเรือสิงคโปร์ ท่าเรือหนิงโป และท่าเรือเซินเจิ้น
ท่าเรือหนานซาเป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งเดียวทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจูเจียง (Pearl River) ซึ่งมีทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบในการขนส่งสินค้าต่อไปยังเมืองอื่น ๆ ของมณฑลกวางตุ้ง โดยเฉพาะนครกว่างโจว เมืองฝอซาน เมืองจงซาน และเมืองเจียงเหมิน อีกทั้ง ยังสามารถขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ (multimodal transport) ผ่านทางแม่น้ำ รถไฟ และถนนไปยังมณฑลอื่นของจีนและต่างประเทศ
เส้นทางขนส่งสินค้าท่าเรือหนานซากับไทย
ปัจจุบัน ท่าเรือหนานซามีเส้นทางขนส่งสินค้ากับท่าเรือแหลมฉบังเฉลี่ยวันละ 1 – 4 เที่ยว ระยะเวลาขนส่งสินค้าประมาณ 4 – 7 วัน โดยมีช่องทางพิเศษสำหรับการนำเข้าทุเรียน (Durian Express Line) กับไทย เมื่อเดือนเมษายน 2565 ท่าเรือหนานซานำเข้าทุเรียนจากท่าเรือแหลมฉบังผ่านช่องทางพิเศษดังกล่าวกว่า 3,000 ตัน ใช้ระยะเวลาขนส่งเพียง 4 วัน
ดังนั้น เส้นทางขนส่งสินค้าเส้นทางใหม่นี้จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักธุรกิจไทยที่ต้องการขนส่งสินค้ามายังจีน อย่างไรก็ดี เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่ผ่านท่าเรือหลายแห่ง นักธุรกิจไทยจึงควรพิจารณาปัจจัยด้านระยะเวลาการขนส่งสินค้า และมาตรการโควิด-19 เพื่อให้การขนส่งสินค้ามายังจีนเป็นไปด้วยความราบรื่น
ปิยะธิดา ดาสมกุล เขียน
สรศักดิ์ บุญรอด เรียบเรียง
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://news.dayoo.com/guangzhou/202206/07/139995_54281565.htm
https://baike.baidu.com/item/%E5%8D%97%E6%B2%99%E6%B8%AF/8797128?fr=aladdin