• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • Update สถานการณ์เศรษฐกิจของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และการค้ากว่างซี-ไทย ช่วง 6 เดือนแรก ปี 2565

Update สถานการณ์เศรษฐกิจของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และการค้ากว่างซี-ไทย ช่วง 6 เดือนแรก ปี 2565

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2565 พบว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากที่ต้องชะลอตัวลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของเขตฯ กว่างซีจ้วง มีมูลค่า 1,229,416 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 2.7% (YoY) หากจำแนกตามภาคอุตสหากรรม แบ่งเป็น

  • อุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิ (เกษตรกรรม) 11,154 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 6% (YoY) ผลผลิตข้าวเปลือก 2.76 แสนตัน เพิ่มขึ้น 3.7% ผลผลิตผลไม้ 9.69 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 16.1%
  • อุตสาหกรรมขั้นทุติยภูมิ (อุตสาหกรรมการผลิต) 431,513 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 2.5% (YoY) การผลิตสินค้าไฮเทคเติบโตค่อนข้างรวดเร็ว โดยเฉพาะแบตเตอรี่ลิเธียม เพิ่มขึ้น 21.8% รถยนต์พลังงานทางเลือก เพิ่มขึ้น 33.1%
  • อุตสาหกรรมขั้นตติยภูมิ (ภาคบริการ) 686,363 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 2.1% (YoY) ธุรกิจบริการสมัยใหม่มีแนวโน้มเติบโตดี โดยเฉพาะการบริการแอพพลิเคชัน การบริการด้านซอฟแวร์และไอที

สถานการณ์การค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในภาพรวมเติบโตเพียงเล็กน้อยที่ 0.1% (YoY) หากจำแนกเป็นกลุ่มสินค้า พบว่า น้ำมันพืชและอาหาร เติบโต 28.1% (YoY) ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เติบโต 24% (YoY) การค้าปลีกผ่านระบบออนไลน์ เติบโต 10.3% (YoY)

ด้านการลงทุน พบว่า การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เพิ่มขึ้น 2.5% (YoY) การลงทุนภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 35.8% หากจำแนกตามสาขาการลงทุน พบว่า การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 8.1% (YoY) และการลงทุนในการผลิต เพิ่มขึ้น 33.4% (YoY)

ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน พบว่า ราคาสินค้าและบริการโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดัชนีราคาผู้บริโภคส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ การคมนาคมและโทรคมนาคม (+5.4%) การศึกษา วัฒนธรรม และบันเทิง (+5.3%) ที่พักอาศัย (+1.1%) ของใช้ในชีวิตประจำวันและบริการ (+0.9%) การรักษาพยาบาล (+0.6%) และเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่ม (+0.2%)

ทั้งนี้ รายได้ของประชาชน และการจ้างงานมีแนวโน้มเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ รายได้เฉลี่ยที่นำไปใช้จ่ายได้ 14,000 หยวน เพิ่มขึ้นจริง (หักเงินเฟ้อ) 2.9% แบ่งเป็น รายได้เฉลี่ยฯ ในเขตเมือง 19,800 หยวน เพิ่มขึ้น 1.3% และรายได้เฉลี่ยฯ ในเขตชนบท 9,046 หยวน เพิ่มขึ้น 4.6% และมีการจ้างงานใหม่ 221,900 คน

สถานการณ์การค้าต่างประเทศเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากพอสมควร ส่งผลให้การนำเข้า-ส่งออกประสบภาวะชะลอตัว โดยช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา การค้าต่างประเทศของกว่างซีมีมูลค่ารวม 239,370 ล้านหยวน (-18%  YoY) แบ่งเป็นการส่งออก 112,510 ล้านหยวน (-25%) และการนำเข้า 126,860 ล้านหยวน (-10.6%)

ทั้งนี้ ตัวเลขการค้าที่ชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปิดด่านการค้าชายแดนของกว่างซีกับเวียดนาม สะท้อนได้จากสถิติการค้าที่จำแนกตามรูปแบบการค้า โดยพบว่า การค้าสากลและการค้าแปรรูปเพื่อการส่งออก ยังคงขยายตัวได้ดี โดยการค้าสากลมีมูลค่า 102,340 ล้านหยวน (+17.8%) และการค้าแปรรูป 60,180 ล้านหยวน (+22.3%) ขณะที่การค้าชายแดนมีมูลค่า 27,730 ล้านหยวน (-66.9%)

ดัชนี PMI หรือ Purchasing Manager Index ภาคการผลิตของประเทศสมาชิกอาเซียนเติบโตได้ดี สะท้อนได้จากการส่งออกสินค้าของกว่างซีมายังอาเซียนในรอบเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนมีอัตราการขยายตัวที่สูง รวมถึงการส่งออกยานยนต์และอุปกรณ์เครื่องจักรก่อสร้างของกว่างซีมีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว

“อาเซียน” ยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ด้วยสัดส่วนการค้า 35.25% ของมูลค่ารวม แม้ว่าสถานการณ์การค้ากับอาเซียนจะชะลอตัวลงก็ตาม (-41.8%) โดยคู่ค้ารายสำคัญในอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม (สัดส่วน 70.16% ในอาเซียน) ไทย (สัดส่วน 10.10%) มาเลเซีย (สัดส่วน 7.23%) และอินโดนีเซีย (สัดส่วน 5.92%)

การค้ากับ “ประเทศไทย” พบว่า ไทยยังคงรั้งตำแหน่งคู่ค้าอันดับ 2 ในอาเซียน และเป็นคู่ค้าอันดับ 7 ในภาพรวม (รองจากเวียดนาม ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา บราซิล ไต้หวัน และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์) มีมูลค่ารวม 8,521.9 ล้านหยวน (-67.7%) แบ่งเป็นการส่งออกไปไทย 3,763.1 ล้านหยวน (+42.3%) ขณะที่การนำเข้าสินค้าไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมาก มีมูลค่า 4,758.8 ล้านหยวน (-80%) เนื่องจากการนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และผลไม้สด ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าหลักที่กว่างซีนำเข้าประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด

การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของกว่างซีมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้านำเข้าหลัก อาทิ สินแร่และแร่โลหะ (-7.1%) อุปกรณ์ไฟฟ้า (-45%) ในขณะที่การนำเข้าทรัพยากรพลังงานอย่างถ่านหิน และน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

เมืองการค้าสำคัญ คือ “นครหนานหนิง” มีมูลค่าการนำเข้าส่งออกรวม 63,400 ล้านหยวน (+15.4%) คิดเป็นสัดส่วน 26.5% ของมูลค่าการค้าต่างประเทศของทั้งมณฑล ขณะที่เมืองการค้าชายแดน ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ตัวเลขการค้าลดลง ไม่ว่าจะเป็น เมืองฉงจั่ว ซึ่งกำกับดูแลอำเภอระดับเมืองผิงเสียงที่ตั้งของด่านโหย่วอี้กวาน (-57.3%) เมืองฝางเฉิงก่าง ซึ่งกำกับดูแลอำเภอระดับเมืองตงซิง ที่ตั้งของด่านตงซิง (-7.6%) และเมืองไป่เซ่อ ที่ตั้งของด่านหลงปัง (-63.3%) ทั้งนี้ การชะลอตัวทางการค้าของ 3 เมืองข้างต้น ส่งผลให้มูลค่าการค้าต่างประเทศของกว่างซีลดลงร้อยละ 22.7 จุด / 1.1 จุด และ 4.7 จุด ตามลำดับ

ทั้งนี้ หากมองเฉพาะ 6 เมืองสมาชิกในกรอบเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ (นครหนานหนิง เมืองชินโจว เมืองฝางเฉิงก่าง เมืองเป๋ยไห่ เมืองยวี่หลิน และเมืองฉงจั่ว) มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 3.5% (YoY) ซึ่งสูงกว่าภาพรวมทั้งมณฑลร้อยละ 0.8 จุด / มูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เติบโต 6% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งมณฑลร้อยละ 2 จุด / การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเติบโต 3% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งมณฑลร้อยละ 0.5 จุด และกาค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโต 1.5% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งมณฑลร้อยละ 1.4 จุด โดยแต่ละเมืองมีจุดเด่นทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน อาทิ

(1) นครหนานหนิง ซึ่งเป็นเมืองเอกของกว่างซี การลงทุนในอุตสาหกรรมเติบโต 57.4% (YoY) การลงทุนในเมกะโปรเจกต์พุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจน โครงการลงทุนใหม่ที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านหยวน มีจำนวน 177 โครงการ รวมมูลค่า 151,350 ล้านหยวน

(2) เมืองชินโจว ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของกว่างซี อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 1 ของมณฑล โดยเฉพาะ GDP เติบโตสูงถึง 9.3% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งมณฑลร้อยละ 6.6 จุด นอกจากนี้ ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ ก็มีอัตราการขยายตัวสูง ทั้งมูลค่าการผลิตและมูลค่าเพิ่มการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และรายได้การคลัง

(3) เมืองเป๋ยไห่ อีกหนึ่งเมืองท่าติดมณฑลกวางตุ้ง  มูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 123,173 ล้านหยวน (เติบโต 18.4% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งมณฑลร้อยละ 7.1 จุด) ดึงดูดการลงทุนจากต่างมณฑลได้ 37,793 ล้านหยวน (+7.58%)

(4) เมืองฝางเฉิงก่าง เมืองท่าและเมืองชายแดนติดเวียดนาม การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเติบโต 57.4% สูงเป็นอันดับหนึ่งของกว่างซี และรายได้งบประมาณทั่วไปเพิ่มขึ้น 10.2% เป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในมณฑลเช่นกัน

(5) เมืองยวี่หลิน เมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของกว่างซี การขยายตัวของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค 2.8% สูงเป็นอันดับ 2 ของมณฑล ดึงดูดการลงทุนใน 176 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 73,790 ล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 2 ของมณฑล คิดเป็นอัตราขยายตัว 330%

(6) เมืองฉงจั่ว เมืองการค้าชายแดนที่สำคัญของกว่างซี แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่เป็นระยะ แต่ยังสามารถรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ดี โดย GDP เติบโต 5.7% สูงเป็นอันดับ 2 ของมณฑล

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网广西) วันที่ 26 และ 19 กรกฎาคม 2565
เว็บไซต์ http://nanning.customs.gov.cn (南宁海关) วันที่ 22 กรกฎาคม 2565
เว็บไซต์ http://www.gx.news.com.cn (广西新闻网) วันที่ 21 กรกฎาคม 2565

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]