เมื่อไม่นานมานี้ “ศูนย์นวัตกรรมความร่วมมือการบริการด้านภาษาจีน-อาเซียน” (中国—东盟语言服务协同创新中心) จัดตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถสูง (talent) เชิงสหวิทยาการด้านการแปลและการประยุกต์ใช้บิ๊กดาต้าไว้คอยสนับสนุนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนกับอาเซียน
เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นมณฑลที่มีความโดดเด่นด้านการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศนอกกลุ่มภาษาหลัก (Less Commonly Taught Foreign Languages) โดยเฉพาะภาษาราชการในประเทศสมาชิกอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นภาษาเวียดนาม ภาษาไทย ภาษาลาว ภาษากัมพูชา และภาษามลายู
ที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและอนุปริญญาจำนวนมากได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งในหลักสูตรวิชาเอกและวิชาเลือกเฉพาะสาขา เช่น การท่องเที่ยว การโรงแรม การบินพาณิชย์
ในพิธีเปิดป้ายศูนย์นวัตกรรมความร่วมมือการบริการด้านภาษาจีน-อาเซียน นายเฉิน อิ้งซิน (Chen Yingxin/陈应鑫) รองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี กล่าวว่า การพัฒนาในยุคโลกาภิวัฒน์ ข้อมูลสารสนเทศ และความหลากหลายด้านวัฒนธรรม การบริการด้านภาษาเป็นกิจกรรมเชิงการผลิตที่สำคัญของกระบวนการก้าวสู่ความทันสมัย และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
นายเฉินฯ ให้ข้อมูลว่า หลังจากที่ศูนย์นวัตกรรมความร่วมมือการบริการด้านภาษาจีน-อาเซียนจัดตั้งขึ้นแล้ว จะใช้ข้อได้เปรียบ ส่งเสริมบูรณาการเชิงลึกระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา ภาคการวิจัย และผู้ใช้งาน เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนผ่านรูปแบบความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจ
“พวกเรายังนำภาษาที่ใช้ในประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ ภาษาเวียดนาม ภาษาไทย ภาษาเมียนมา ภาษาลาว ภาษากัมพูชา และภาษามลายู ไปพัฒนาร่วมกับเทคโนโลยีการแปลด้วยคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย กระชับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์กรต่างๆ ในด้านบิ๊กดาต้าภาษาต่างๆ และใช้ภาษาเป็นตัวสร้างสรรค์บริการ และสร้างผลลัพธ์ความร่วมมือที่เปิดสู่ภายนอกในด้านต่างๆ” นายเฉินฯ กล่าว
ในพิธีเปิดป้ายศูนย์ฯ สภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์กว่างซี ศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่างซี สภาบัณฑิตสังคมศาสตร์กว่างซี มหาวิทยาลัยกว่างซี สมาคมคนเก่งกว่างซี และศูนย์เศรษฐกิจการค้าจีน-อาเซียน ได้ลงนามความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับศูนย์ดังกล่าว โดยจะทยอยบ่มเพาะคนเก่ง (talent) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาต่างประเทศ ทั้งในระดับปฏิบัติการ และระดับบริหาร และร่วมกันจัดตั้งศูนย์การแปลภาษาจีน-อาเซียน โดยมุ่งเน้นด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า การดึงดูดโครงการ การขยายตลาด รวมถึงการค้าและการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างประเทศ เพื่อให้บริการกับภาคธุรกิจจีนและอาเซียน เพื่อสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่มูลค่า และห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศที่เอื้อประโยชน์และประสบความสำเร็จร่วมกัน
บีไอซี เห็นว่า หลายภาคส่วนของไทยได้ประโยชน์จากการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมความร่วมมือการบริการด้านภาษาจีน-อาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มสถาบันการศึกษาในการพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยด้านภาษาศาสตร์ (จีน-ไทย/ไทย-จีน) เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในวิชาชีพสาขาต่างๆ และการบ่มเพาะบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านภาษา ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีนต่อไปด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 12 พฤศจิกายน 2565