• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • เปิดเส้นทาง ‘เรือ+ราง’ เส้นใหม่ส่งท้ายปี ตอกย้ำสโลแกน “ชินโจว Hub ขนส่งสินค้าเชื่อมจีนเชื่อมโลก”

เปิดเส้นทาง ‘เรือ+ราง’ เส้นใหม่ส่งท้ายปี ตอกย้ำสโลแกน “ชินโจว Hub ขนส่งสินค้าเชื่อมจีนเชื่อมโลก”

เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น สำหรับ ‘ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้’ หรือที่คนไทยเรียกอ่าวตังเกี๋ย ซึ่งประกอบด้วย ท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่
มีบทบาทสำคัญในฐานะ ‘ข้อต่อ’ เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างจีน(ตะวันตก)กับต่างประเทศ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Land and Sea Trade Corridor เรียกสั้นๆว่า ILSTC) ผ่านโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ  “เรือ+ราง” แบบไร้รอยต่อ (Multimodal-transportation)

การขนส่งสินค้าผ่านโมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ ที่ท่าเรือชินโจว มีพัฒนาการใหม่ๆ ให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2565 ขบวนรถไฟ
ลำเลียงน้ำตาลดิบ จำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนัก 265 ตัน จากจากเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ได้ออกเดินทางจากสถานีศูนย์คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจว เพื่อมุ่งหน้าไปยังนครหลานโจว มณฑลกานซู่ โดยขนส่งถึงปลายทางเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 นับเป็นการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ เที่ยวแรกในเส้นทาง “เมืองมุมไบ (อินเดีย)  – เมืองชินโจว (กว่างซี) – นครหลานโจว (กานซู่)”

ข้อมูล ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2565 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าในโมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ มีปริมาณการขนส่งตู้สินค้าสะสม 7.13 แสน TEUs เพิ่มขึ้น 19.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมากกว่าปริมาณการขนส่งตู้สินค้ารวมของปีก่อนทั้งปีที่ ซึ่งมีจำนวน 6.3 แสน TEUs โครงข่ายรถไฟขนส่งสินค้าครอบคลุม ไปยัง 133 สถานีของ 60 เมืองใน 17 มณฑลทั่วประเทศ ซึ่งรวม 12 มณฑลทางภาคตะวันตก และมณฑลอื่นทางภาคกลางและภาคเหนือของประเทศจีน อาทิ มณฑลหูเป่ย มณฑลเหอหนาน มณฑลเหอเป่ย มณฑลเจียงซี เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และเขตปกครองตนเองทิเบต มีสินค้าที่ใช้บริการโมเดลการขนส่งดังกล่าวแล้วกว่า 640 ประเภท

นายซุน ป่าว (Sun Bao/孙宝) รองหัวหน้าฝ่ายสถิติ สำนักงานศุลกากรนครหนานหนิง ให้ข้อมูลว่า ช่วง 10 เดือนแรก ปี 2565 การนำเข้า-ส่งออกสินค้าของมณฑล
ที่ตั้งอยู่ตามแนวระเบียงการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ผ่านท่าเรือชินโจวมีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 89,650 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 99.3% (YoY) โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ธัญพืช ผลไม้ และผลิตภัณฑ์แร่ ขณะที่สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์

เพื่อรับมือกับสถานการณ์การขนส่งที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานด้านการรถไฟ ศุลกากร ท่าเรือ และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการความร่วมมือในเชิงลึก มีการจัดเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานหน้างานทุกวัน ติดต่อประสานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้รับผิดชอบในห้องควบคุมท่าเรือ เขตปฏิบัติการท่าเรือ รวมถึงเจ้าของสินค้า พัฒนาระบบงานศุลกากรและการขนส่งโลจิสติกส์มีความรวดเร็วราบรื่น (การสำแดงพิธีการศุลกากร การตรวจปล่อย การเปลี่ยนตู้ และการขนส่ง) พัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการยานพาหะที่ใช้ในการขนส่งสินค้าให้มีความรวดเร็ว อำนวยความสะดวกให้กับการวางแผน การขนถ่าย และการเสริมโบกี้ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าในโมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ และเร่งส่งเสริมการบูรณาการเชิงลึกของพื้นที่เลียบเส้นทางขนส่งทั้งในด้านการคมนาคม โลจิสติกส์ การค้า และอุตสาหกรรม เพื่อสร้างแรงสนับสนุนภายใต้โมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ ‘Dual Circulation’ (สร้างความสมดุลระหว่างตลาดในประเทศกับตลาดต่างประเทศ) ที่มุ่งเน้นการพัฒนายั่งยืน

 

จัดทำโดย : นางสาวเนตรนภา บุญมา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย : นายกฤษณะสุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : หนังสือพิมพ์กานซู่ เดลี่ (甘肃日报) วันที่ 24 ธันวาคม 2565
เว็บไซต์ http://news.gxnews.com.cn (广西新闻网)  วันที่ 12 ธันวาคม 2565
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (
中国新闻网) วันที่ 08 ธันวาคม 2565

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]