• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กว่างซีพร้อมแล้ว… ฟื้นฟูและเพิ่มความถี่ของเส้นทางบินต่างประเทศ รวมถึงกรุงเทพฯ

กว่างซีพร้อมแล้ว… ฟื้นฟูและเพิ่มความถี่ของเส้นทางบินต่างประเทศ รวมถึงกรุงเทพฯ

ข่าวการ ‘ปลดล็อก’ มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับการเดินทางเข้า-ออกนอกจีนแผ่นดินใหญ่ของรัฐบาลจีน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 ได้กลายเป็นเรื่อง talk of the town ไปทั่วโลก โดยเฉพาะภาคธุรกิจการบินพาณิชย์และการท่องเที่ยว รวมถึงประเทศไทยด้วย

Ctrip แพลตฟอร์มท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดในจีนและที่ 2 ของโลก เปิดเผยว่า หลังการประกาศเตรียมเปิดประเทศของรัฐบาลจีนเพียงครึ่งชั่วโมง ยอดการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวพุ่งสูงขึ้น 10 เท่า โดยจุดหมายปลายทางยอดนิยม ได้แก่ มาเก๊า ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย และเกาหลีใต้

ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิง เรียกสั้นๆ ว่า ‘สนามบินหนานหนิง’ ได้เตรียมการฟื้นฟูเที่ยวบินผู้โดยสารระหว่างประเทศกับประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศไทยอยู่ด้วยแล้ว (ปัจจุบัน มีสายการบินนกแอร์ และสายการบิน Spring Airlines ที่ให้บริการในเส้นทาง “นครหนานหนิง-กรุงเทพ” ในวันพุธ และวันศุกร์ของสัปดาห์)

            ความเคลื่อนไหวของสนามบินหนานหนิง ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีดังนี้

  • มีจำนวนผู้โดยสารมากเป็นอันดับที่ 27 ของประเทศจีน ขยับขึ้น 1 อันดับจากปี 2564 โดยปริมาณเที่ยวบินและปริมาณผู้โดยสารมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าอัตราขยายตัวเฉลี่ยของสนามบินขนาดใหญ่ (สนามบินที่มีผู้โดยสารมากกว่า 10 ล้านคน) และการบินพาณิชย์
  • มีจำนวนเที่ยวบินขึ้น-ลง 66,000 ลำครั้ง จำนวนผู้โดยสาร 6.66 ล้านคนครั้ง และมีปริมาณการขนถ่ายสินค้า 1.52 แสนตัน ในจำนวนนี้ เป็นการขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ 70,000 ตัน (คิดเป็นสัดส่วน 46% ของการขนถ่ายสินค้าทั้งหมด) เพิ่มขึ้น 220% (YoY) ซึ่งเป็นอัตราการขยายสูงที่สุดในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ของจีน
  • มีสายการบิน 52 รายที่ให้บริการเส้นทางบิน 195 เส้นทาง แบ่งเป็น เส้นทางบินในประเทศ 176 เส้นทาง และเส้นทางบินระหว่างประเทศ 19 เส้นทาง โดยให้บริการบินไปยัง 103 เมืองสำคัญในประเทศจีน และ 18 เมืองสำคัญนอกจีนแผ่นดินใหญ่ และมีเครื่องบินประจำการใหม่ 10 ลำ ปริมาณขนถ่ายของเครื่องบินประจำการ เฉลี่ยต่อวันสูงสุดมากกว่า 50 ลำ
  • เที่ยวบินผู้โดยสารในประเทศ ได้เปิดเส้นทางบินในประเทศเกือบ 30 เส้นทางบิน เพื่อยกระดับความเชื่อมโยงไปยังหัวเมืองชั้นรอง (tier 2, 3 และ 4) และเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นนครเฉิงตู นครซีอาน นครเซี่ยงไฮ้ นครเจิ้งโจว เมืองเซี่ยเหมิน นครอู่ฮั่น เมืองลี่เจียง และเมืองสิบสองปันนา
  • เที่ยวบินผู้โดยสารระหว่างประเทศ ได้ทยอยฟื้นฟูเที่ยวบินผู้โดยสารไปยังกรุงเทพฯ สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ และพนมเปญ ปริมาณเที่ยวบินต่อสัปดาห์มีอยู่ 11 เที่ยว
  • เที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (International Cargo Flight) ได้เปิดเส้นทางบินใหม่ 7 เส้น และเพิ่มความถี่ 8 เส้นทางบิน ปัจจุบัน มีเส้นทางบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมากกว่า 16 เส้นทางไปยังประเทศไทย เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ และอินเดีย มีเครื่องบินสินค้าประจำการ 6 ลำ
  • สินค้าที่ขนส่งทางอากาศส่วนใหญ่เป็นการค้ากับอาเซียน ครองสัดส่วน 78% ของสินค้าทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่มากจากพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเพิร์ล (มณฑลกวางตุ้ง) และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซี (นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลเจียงซู) อาทิ สินค้าที่ซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามแดน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเสื้อผ้า ขณะที่สินค้านำเข้าจากอาเซียน อาทิ อาหารทะเล ผลไม้ และสินค้า OTOP

การประกาศ ‘ผ่อนคลาย’ มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับการเดินทางเข้า-ออกนอกจีนแผ่นดินใหญ่และการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ในปี 2566 นี้ สนามบินหนานหนิงจะมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘ฮับคู่’ คือ ฮับประตูสู่อาเซียน และฮับการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ เพื่อสร้างโครงข่ายเส้นทางบินที่มีความครอบคลุม มีการบริการที่ครบครัน และเป็นจุดเปลี่ยนเครื่องที่มีความสะดวกรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการในการเดินทางของประชาชน และตอกย้ำความเป็น Gateway to ASEAN ของเขตฯ กว่างซีจ้วง

ในเร็วๆ นี้ สนามบินหนานหนิงจะฟื้นฟูเที่ยวบินผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาทิ กรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ กรุงมะนิลา และการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินผู้โดยสารในประเทศให้มีครอบคลุมเมืองสำคัญ และหัวเมืองรองมากยิ่งขึ้น   ด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หน่วยงานศุลกากรจะเร่งดำเนินการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการผ่านพิธีการศุลกากรของสินค้าที่ขนส่งทางอากาศให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างแรงแข่งขันและแรงดึงดูดให้ผู้ค้าใช้ด่านสนามบินหนานหนิงเพิ่มมากขึ้นไปอีก

สำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยที่กำลังตื่นตัวกับกระแสการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน บีไอซี มีข้อสังเกตเพิ่มเติมภายหลังการประกาศ ‘เปิดประเทศ’ ของจีน ดังนี้ (1) ถึงแม้จะเริ่มมีนโยบายฟื้นฟูเที่ยวบินระหว่างประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ในขณะนี้บัตรโดยสารยังมีราคาค่อนข้างสูง แต่ก็คาดว่าน่าจะปรับลดลงตามอุปสงค์และปริมาณเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้น (2) ความพร้อมของบริษัททัวร์ในจีนไม่มากเท่าแต่ก่อน เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่เปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นในช่วงการเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด (3) การเปิดให้บริการขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่ของนักท่องเที่ยวชาวจีนอาจใช้เวลานานขึ้น เนื่องจากในช่วงปิดประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของจีนได้ปิดให้บริการการขอหนังสือเดินทางเพื่อจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศของชาวจีน และ (4) พฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวจีนมีอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

จากข้อสังเกตทั้งหมดที่บีไอซีหยิบยกมา น่าจะสามารถประเมินได้ว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมาก จะยังไม่ทะลักหลั่งไหลเข้าไทยทันทีหลังรัฐบาลจีนประกาศเปิดประเทศ ดังนั้น ช่วงนี้จึงเป็นจังหวะเวลาที่ดีที่ภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการยังได้พอมีเวลาหายใจหายคอ เตรียมตัวทำการบ้าน ปรับแผนกลยุทธ์การรับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อสร้างความสมดุลในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางสาธารณสุข

 

จัดทำโดย : นายกฤษณะสุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา
: เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网)  วันที่ 03 มกราคม 2566
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (
中国新闻网)  วันที่ 02 มกราคม 2566

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]