เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2566 นายหู เหิงหัว นายกเทศมนตรีนครฉงชิ่ง ได้แถลงผลการดำเนินงานที่สำคัญในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของนครฉงชิ่งในช่วงปี 2561-2565 และเป้าหมายการทำงานในปี 2566 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนนครฉงชิ่ง สมัยที่ 6 ครั้งที่ 1
จากแถลงการณ์การพัฒนาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา GDP ของเมืองมีมูลค่า 2.9 ล้านล้านหยวน อัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 5.3 รัฐบาลนครฉงชิ่งมุ่งส่งเสริมการปฏิรูปและการเปิดกว้างทางการค้า เร่งสร้างเสถียรภาพด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และพัฒนาอุตสาหกรรมคุณภาพสูงมุ่งสู่ความเป็นสากล ในปีที่ผ่านมา นครฉงชิ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกหลายด้าน โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ในนครฉงชิ่ง รัฐบาลท้องถิ่นจึงได้วางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการเร่งขยายอุปสงค์ภายในประเทศ และสร้างเสถียรภาพทางการค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศ ดังนี้
- เพิ่มอุปสงค์ภายใน รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการพัฒนา มุ่งส่งเสริมการลงทุนด้านการขนส่ง การก่อสร้างเมือง และพลังงาน ปรับปรุงและก่อสร้างทางรถไฟจากใจกลางเมืองกระจายสู่เมือง/เขตโดยรอบ มุ่งพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ เร่งพัฒนายกระดับย่านธุรกิจที่มีชื่อเสียง ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการบริโภคระหว่างประเทศ
- พัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต เร่งสร้างอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงของยานพาหนะเชื้อเพลิงไปสู่พลังงานระดับสูง อัจฉริยะ และพลังงานใหม่ เร่งก่อสร้างศูนย์กลางการเงินภาคตะวันตกและศูนย์กลางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศภายในประเทศ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล การประมวลผลขั้นสูง และเทคโนโลยีบล็อกเชน
- ปฏิรูปอุตสาหกรรมเป้าหมาย จัดระเบียบและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจ ปกป้องสิทธิในทรัพย์สินของเอกชนและผลประโยชน์ของผู้ประกอบการตามกฎหมาย ปฏิรูปราคาทรัพยากรพลังงาน อาทิ ไฟฟ้าและน้ำประปาในเมือง ส่งเสริมการสร้างเมืองนำร่องด้านสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เร่งพัฒนาสถานศึกษา สถานพยาบาล ชุมชน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่มีความเป็นนานาชาติเพื่อปรับสภาพแวดล้อม เตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุน
- พัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้แผนการรวบรวมผู้มีความสามารถระดับสูง สนับสนุนมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และองค์กรต่างๆ เพื่อร่วมกันบ่มเพาะผู้มีความสามารถพิเศษ ยกระดับและปรับปรุงคุณภาพของศูนย์นวัตกรรม อาทิ เมืองวิทยาศาสตร์ตะวันตก (ฉงชิ่ง) เขตนวัตกรรมความร่วมมือเหลี่ยงเจียง เร่งสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ ห้องปฏิบัติการ Chongqing Golden Phoenix (เฟส 2) และ Chinese Academy of Sciences Chongqing Science Center เป็นต้น
- ส่งเสริมการพัฒนาเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง ส่งเสริมโครงการสำคัญร่วมกัน อาทิ รถไฟความเร็วสูงสายกลางเฉิงตู-ฉงชิ่ง รถไฟความเร็วสูงฉงชิ่งตะวันตก ร่วมกันพัฒนายานพาหนะพลังงานใหม่บนเครือข่ายอัจฉริยะ ดำเนินการตามนโยบายสนับสนุน อาทิ China-Europe Express (Chengdu) ศูนย์วิทยาศาสตร์ครบวงจรเฉิงตู-ฉงชิ่ง สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเมืองโดยอาศัยรถไฟความเร็วสูงเฉิงตู – ฉงชิ่ง เส้นทางรถไฟฉงชิ่ง-ซุ่ยหนิง เป็นต้น
- ส่งเสริมการเปิดกว้าง เร่งสร้างเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบก-ทางทะเลแห่งภาคตะวันตกสายใหม่ เพิ่มจำนวนรถไฟขนส่งแบบเรือ+ราง เสริมสร้างการเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางการขนส่ง ILSTC เส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป เส้นทางขนส่งทางน้ำสายทองคำ (แม่น้ำแยงซี) และเครือข่ายการบินระหว่างประเทศ กระชับความร่วมมือโครงการความเชื่อมโยงระหว่างจีน-สิงคโปร์ ส่งเสริมเขตนำร่องการค้าเสรีฉงชิ่ง เร่งสร้างเขตสาธิตความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เสริมสร้างการค้าระหว่างประเทศของเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง เขตไฮเทคโซนฉงชิ่ง ขยายระบบ Single Window สำหรับการค้าต่างประเทศ ขยายการส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่ และเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน (ฉงชิ่ง) ประจำปี 2566
- ส่งเสริมการพัฒนาชนบท ส่งเสริมการปรับปรุงคุณภาพในหมู่บ้านยากจนและการจ้างงานสำหรับผู้ยากไร้ ขยายอุตสาหกรรมการแปรรูปและหมุนเวียนสินค้าเกษตร มุ่งมั่นพัฒนาอีคอมเมิร์ซและการท่องเที่ยวในชนบท เร่งปรับปรุงโรงเก็บสินค้าเกษตรและโลจิสติกส์โซ่ความเย็น การกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูล ปรับปรุงระบบสนับสนุนและคุ้มครองการเกษตร
- พัฒนาสภาพแวดล้อมของเมือง พัฒนาอุตสาหกรรมบริการด้วยการดึงดูดองค์ประกอบระดับไฮเอนด์มากขึ้น อาทิ ผู้มีความสามารถระดับนานาชาติ ย่านธุรกิจ การสร้างจุดชมวิวทางวัฒนธรรม เพิ่มพื้นที่พักผ่อนสาธารณะในเมือง ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเมือง ดำเนินโครงการสาธิตนำร่องการฟื้นฟูเมือง 112 แห่ง เริ่มปรับปรุงความปลอดภัยของถนน สะพาน และอุโมงค์ในเมือง ส่งเสริมการสร้างเมืองอัจฉริยะ การสร้างชุมชนอัจฉริยะ
- อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเมือง ดำเนินตามกฎ “ห้ามจับปลาสิบปี” ในลุ่มแม่น้ำแยงซีอย่างเคร่งครัด ส่งเสริมการป้องกันและควบคุมมลพิษสิ่งแวดล้อม (การจราจร ฝุ่นละออง อุตสาหกรรม) เพิ่มการตรวจสอบและแก้ไขทางระบายน้ำเสียของแม่น้ำแยงซี ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมการสร้างฐานการรีไซเคิลทรัพยากรและของเสีย
- ตอบสนองความต้องการของประชาชน ดำเนินโครงการชั้นวางหนังสือ (ชุมชน) สร้างเขตสาธิตการพัฒนาเมืองและชนบทแบบบูรณาการ ดำเนินโครงการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ สนับสนุนการสร้างโครงการนำร่องการท่องเที่ยวระหว่างประเทศอู่หลง เร่งสร้างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบาชู สร้างฐานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมต่างประเทศ สร้างเวทีแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม อาทิ “Chongqing Culture Week”
- ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคร้ายแรงระดับเมือง เร่งการฉีดวัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ ส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะอาชีพ ขยายช่องทางการจ้างงานสำหรับกลุ่มเฉพาะ อาทิ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัย แรงงานข้ามชาติ ดำเนินการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเก่าในเมือง 2,069 แห่ง ดำเนินโครงการปรับปรุงพื้นที่สีเขียวริมถนน 100 สาย สร้างถนนสีเขียว 100 กิโลเมตร สร้างสนามกีฬาสาธารณะในเมือง 10 แห่ง จัดวัคซีน HPV ฟรีสำหรับนักเรียนหญิง 180,000 คน
แผนการพัฒนาเมืองของนครฉงชิ่งยังคงมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อเนื่องจากแผนการดำเนินงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การขยายอุปสงค์ภายในประเทศและการสร้างเสถียรภาพทางการค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศยังคงเป็นแนวทางหลักในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญยุทธศาสตร์ระดับชาติของจีนยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน
แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นครฉงชิ่งจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายด้าน แต่รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญและมุ่งมั่นขยายตลาดในต่างประเทศอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะการขยายตลาดการค้าและขยายเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตกได้รับการยกระดับเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ และมีเครือข่ายการขนส่งครอบคลุมท่าเรือกว่า 393 แห่ง ใน 119 ประเทศ/ภูมิภาคทั่วโลก สิ่งที่น่าจับตามองคือ ความพยายามเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งระหว่างเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก รถไฟจีน-ยุโรป เส้นทางขนส่งทางน้ำสายทองคำ (แม่น้ำแยงซี) และเครือข่ายการบินระหว่างประเทศของนครฉงชิ่ง ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคจีนตะวันตก และนี่อาจเป็นโอกาสสำคัญในการขยายเส้นทางการขนส่งสินค้าของไทยผ่านเส้นทางการขนส่งที่สามารถเชื่อมผ่านประเทศสมาชิกอาเซียน ผ่านจีน และกระจายต่อไปยังยุโรปได้ในอนาคต
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : การประชุมสภาผู้แทนประชาชนนครฉงชิ่งสมัยที่ 6 ครั้งที่ 1