เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 สำนักงานสถิติประจำเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้แถลงการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจของเขตฯ กว่างซีจ้วง ประจำปี 2565 ในภาพรวม เขตฯ กว่างซีจ้วงยังคงสามารถรักษาระดับการฟื้นตัวดีได้อย่างมีเสถียรภาพ ดังนี้
มองเศรษฐกิจในภาพรวม
ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มีมูลค่า 2,630,087 ล้านหยวน ขยายตัว 2.9% หากมองย้อนในช่วง 3 ไตรมาสแรก พบว่า ไตรมาส 1/2565ขยายตัว 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ไตรมาส 2/2564 เพิ่มขึ้น 2.7% (YoY) และไตรมาส 3/2564 เพิ่มขึ้น 3.1% (YoY) โดยแบ่งได้ดังนี้
(1) ภาคการเกษตร มูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมการเกษตร 426,981 ล้านหยวน (+5.0%) โดยพบว่า ภาคปศุสัตว์มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตเนื้อสุกร 2.62 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.1% (มีแม่พันธุ์สุกร 2.23 ล้านตัว เพิ่มขึ้ 1.1% และสุกรโตเต็มวัย 33.47 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 7.5%) ขณะที่การผลิตเนื้อสัตว์ปีก 1.64 ล้านตัน ลดลง 3.0%
(2) ภาคอุตสาหกรรม มูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมการผลิต 893,857 ล้านหยวน (+3.2%) และมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขยายตัว 4.2% โดยสาขาอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี อาทิ การผลิตกระดาษ 45.2% การผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรกลไฟฟ้า 33.4% การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 12.9% เคมีภัณฑ์ 12.1% การแปรรูปไม้ 8.8% และการแปรรูปอาหาร 4.1%
(3) ภาคการบริการ อุตสาหกรรมภาคการบริการมีมูลค่ารวม 1,309,249 ล้านหยวน (+2.0%) โดยเฉพาะภาคการเงินมีอัตราการเติบโต 6.5%
ประชากรที่อาศัยอยู่ประจำ 50.47 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 1 แสนคนจากปีก่อนหน้า) แบ่งเป็นประชากรในเขตเมือง 28.09 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 3.4 แสนคน) คิดเป็นสัดส่วน 55.65% และเขตชนบท 22.38 ล้านคน (ลดลง 2.4 แสนคน) และมีอัตราการเกิด 8.51% อัตราการตาย 7.08%
สถานการณ์การลงทุน
การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ขยายตัวที่ 0.1% โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรม (+30.0%) และการลงทุนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน (+10.2%) ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ประสบภาวะชะลอตัวลงค่อนข้างมากทั้งมูลค่าการลงทุนเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (-38.2%)และมูลค่าการขายอาคารชุดที่อยู่อาศัย(-34.9%)
ความร่วมมือด้านการลงทุนกับต่างประเทศของกว่างซีในช่วง 3 ไตรมาสแรก ปี 2565 มีมูลค่าการลงทุนจริงในต่างประเทศ 310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้ (สัดส่วน 56.7%) และสาขาการผลิต (32.6%) โดยเป้าหมายการลงทุนอยู่ที่ปากีสถาน 56.5% ของมูลค่าการลงทุนตามสัญญาฝ่ายจีนอินโดนีเซีย 31.6% เซียร์ราลีโอน 5.2% ฮ่องกง 4.3% และ สปป.ลาว 1.4%
โครงการรับเหมาในต่างประเทศของกว่างซี ในช่วง 3 ไตรมาสแรก ปี 2565 วิสาหกิจกว่างซีมีโครงการรับเหมาใน 22 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก มีมูลค่าผลประกอบการ 290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างอุตสาหกรรม สัดส่วน 56.3% โครงการผลิตกระแสไฟฟ้า 18.6% โครงการคมนคมขนส่ง 8.2% และโครงการชลประทาน 7.3% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศโกตดิวัวร์ สัดส่วน 47.4% ของผลประกอบการรวม อินโดนีเซีย 9.7% ไทย 8.8% สปป.ลาว 7.6% และอังโกลา 7.1%
บริษัทที่มีศักยภาพการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ในช่วง 3 ไตรมาสแรก ปี 2565 ส่วนใหญ่มาจากนครหนานหนิง สัดส่วน 56.6% ของมูลค่าการลงทุนตามสัญญาของฝ่ายจีน เมืองหลิ่วโจว 32.6% และเมืองชินโจว 5.2%
‘เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง’ ของนครหนานหนิงเป็นจุดหมายการลงทุนที่น่าจับตามอง เนื่องจากได้รับการกำหนดให้เป็น Central Business District แห่งใหม่ของนครหนานหนิงและเป็นพื้นที่ที่มีฟังก์ชันพิเศษเพื่อรองรับการลงทุนแบบหลายชั้นอาทิ (1) ฟังก์ชันการเป็น ‘เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิง’ มีบริษัทตั้งใหม่ จำนวน 16,000 ราย ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทต่างชาติ จำนวน 120 ราย มูลค่าเงินลงทุนจริงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 180% และมูลค่าการค้าต่างประเทศ 65,200 ล้านหยวน (2) ฟังก์ชันการเป็น ‘China-ASEAN Financial Town’มีสถาบันการเงินที่จัดตั้งใหม่ 126 ราย รวมสะสม 411 ราย
สถานการณ์การค้าต่างประเทศ และการค้ากับประเทศไทย
สถานการณ์การค้าต่างประเทศของเขตฯ กว่างซีจ้วงเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวแดนบวกตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2565 เป็นต้นมา โดยเฉพาะภาคการส่งออก
ปี 2565 กว่างซีมีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกทะลุ 6 แสนล้านหยวนเป็นครั้งแรก มีมูลค่ารวม660,350 แสนล้านหยวน (+11.3%) มูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 16 ของประเทศ และอันดับที่ 3 จาก 12 มณฑลในภาคตะวันตก โดยแบ่งเป็นมูลค่าส่งออก 375,530 ล้านหยวน (+26.1%) และมูลค่านำเข้า 289,820 ล้านหยวน (-3.2%) กว่างซีเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าต่างประเทศ 85,710 ล้านหยวน
หากจำแนกเชิงโครงสร้างการค้า แบ่งเป็น (1) การค้าสากล แบ่งเป็นมูลค่านำเข้า 281,700 ล้านหยวน เติบโต 52.9% (2) คลังสินค้าทัณฑ์บน 147,540 ล้านหยวน เติบโต 3.4% (3) การค้าแปรรูป 128,260 ล้านหยวน เติบโต 12.5% ขณะที่การค้าชายแดน 99,290 ล้านหยวน ลดลง 33.4% ในจำนวนนี้ เป็นการค้ามูลค่าต่ำตามแนวชายแดนในรูปบริษัทชาวชายแดน 78,980 ล้านหยวน ลดลง 26.3% และการค้าผ่านตลาดการค้าสำหรับชาวชายแดน 20,310 ล้านหยวน ลดลง 54.6%
ประเทศ/ดินแดนที่เป็นคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ การค้ากับประเทศสมาชิกอาเซียนมีมูลค่า 281,112 ล้านหยวน (-0.4%) โดยเวียดนาม ยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกว่างซี ด้วยมูลค่าการค้า 199,134 ล้านหยวน (-0.6%) ขณะที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา เอเชียกลาง สหรัฐอเมริกา และแอฟริกา เป็นประเทศคู่ค้าที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวสูง
การค้ากับประเทศไทยปี 2565 สองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 30,680 ล้าน RMB(-38.7%) ไทยเสียดุลการค้า723 ล้าน RMBเป็นการเสียดุลครั้งแรกในรอบ 10 ปีแบ่งเป็นกว่างซีนำเข้าจากไทย 14,978ล้าน RMB (-66.2%) และส่งออกไปไทย 15,701ล้าน RMB (+174.4%)โดยประเทศไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 4 (รองจากเวียดนาม ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา) เป็นเแหล่งส่งออกสินค้าอันดับที่ 4 และเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับที่ 6 ของกว่างซี
เมืองที่มีศักยภาพด้านการค้าต่างประเทศของกว่างซีคือ 6 เมืองสมาชิกในกรอบเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักชื่ออ่าวตังเกี๋ย) มีมูลค่า 212,970 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 22.1% คิดเป็นสัดส่วน 84% ของมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งกว่างซี โดยเมืองชายแดนฉงจั่ว มีมูลค่าการค้าต่างประเทศมากเป็นอันดับ 1 ของกว่างซี (221,970 ล้านหยวน) และเมืองท่าชินโจวมีอัตราการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 1 ของกว่างซี (มูลค่า 64,220 ล้านหยวน ขยายตัว 150.8%)
สินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) ยังเป็นกลุ่มสินค้าหลักที่กว่างซีมีความต้องการนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และข้อพิพาทระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย สินค้านำเข้าที่มีแนวโน้มได้ดี ได้แก่ สินค้าพลังงาน 48,620 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 367.7% และธัญพืช 27,700 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 11.4% ขณะที่แร่และสินแร่โลหะ มีการนำเข้า 73,110 ล้านหยวน ลดลง 9.2% และผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลไฟฟ้า 71,060 ล้านหยวน ลดลง 30.5%
อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ และการออกไปลงทุนในต่างประเทศของวิสาหกิจกว่างซี เป็นแรงขับเคลื่อนภาคการส่งออกของกว่างซีให้ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ปี 2565 กว่างซีมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์ 11,190 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 45.4% โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าขยายตัวสูงถึง 82.2 เท่ามูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ 5,580 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 19.8% และมูลค่าการส่งออกแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 1,370 ล้านหยวน (ปี 2564 มีมูลค่าส่งออกเพียง 7.4 แสนหยวน)
ระบบงานขนส่งสินค้าที่มีความทันสมัยและสะดวกรวดเร็วเป็นแรงหนุนให้การค้าต่างประเทศของกว่างซีฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี ซึ่งประกอบด้วยท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่ มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้ารวม 7.02 ล้าน TEUs เพิ่มขึ้น 16.78% โดยสามารถรักษาอัตราการขยายตัวด้วยตัวเลข ‘สองหลัก’เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน และมีอัตราการขยายตัวสูงเป็นลำดับต้นๆ ของท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลของจีน และมีเส้นทางเดินเรือทั้งหมด 75 สาย
ในจำนวนข้างต้น เป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศ 47 สาย และเส้นทางเดินเรือระยะไกล 6 สาย เส้นทางเดินเรือครอบคลุมท่าเรือสำคัญในประเทศและท่าเรือในประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นการบุกเบิกเส้นทางเดินเรือสายใหม่ จำนวน 11 สาย แบ่งเป็นเส้นทางเดินเรือต่างประเทศ 10 สาย และเส้นทางเดินเรือท่าเรือในประเทศ 1 สาย รวมทั้งเพิ่มความถี่ของเที่ยวเดินเรือไปยังประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม
การขนส่งสินค้าด้วยรถไฟภายใต้โมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’มีรถไฟวิ่งให้บริการรวม 8,800 ขบวน เพิ่มขึ้น 44% (YoY) และเพิ่มขึ้น 49 เท่าจากปี 2560 คิดเป็นเที่ยวขบวนเฉลี่ยวันละ 24 ขบวน โดยมีการบุกเบิกเส้นทางใหม่หลายเส้นทาง อาทิ อาเซียน – เมืองท่าชินโจว (กว่างซี) – นครซีอาน (มณฑลส่ายซี) / สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ – เมืองท่าชินโจว (กว่างซี) – นครหลานโจว (มณฑลกานซู่) / เมืองมุมไบ (อินเดีย) – เมืองชินโจว (กว่างซี) – นครหลานโจว (กานซู่) / RCEP – ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ – มณฑลเหอหนานและมณฑลเหอเป่ย โดยรถไฟขนส่งสินค้าดังกล่าวสามารถวิ่งไปยัง133 สถานีของ 60 เมืองใน 17 มณฑลทั่วประเทศ (เพิ่มใหม่ 21 สถานีของ 13เมืองใน 4มณฑลจากปี 2564)
ปากท้องประชาชน
ภาวะเงินเฟ้อ พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 1.9% เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จุดจากปีก่อนหน้า มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดคมนาคมและโทรคมนาคม (+4.5%) หมวดการศึกษา วัฒนธรรม และบันเทิง (+4.0%)หมวดอาหาร สุรา ยาสูบ (+1.9%)และหมวดเครื่องใช้และบริการอื่นๆ (+1.0%)
การค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่าการค้าขยายตัว 9.0% เท่ากับปีก่อนหน้า สินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี อาทิ อาหารและน้ำมันพืช (26.1%) สุรายาสูบ (15.2%) เฟอร์นิเจอร์ (+13.8%) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและที่เกี่ยวข้อง (+13.8%) ของใช้ในชีวิตประจำวัน (+8.4%) ส่วนการค้าปลีกสินค้าผ่านระบบออนไลน์ มูลค่าการค้าขยายตัว 15.0%
รายรับและรายจ่ายของประชาชน รายได้เฉลี่ยที่ใช้จ่ายได้ 27,981 หยวน (+4.7%) แบ่งเป็นรายได้เฉลี่ยที่นำไปใช้จ่ายได้ของผู้อาศัยในเขตเมือง 39,703 หยวน (+3.0%) และรายได้เฉลี่ยที่นำไปใช้จ่ายได้ของผู้อาศัยในเขตชนบท 17,433 หยวน (+6.5%) ขณะที่รายจ่ายเฉลี่ยของประชาชนอยู่ที่ 18,343 หยวน (+1.4%)
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 21 มกราคม 2566
เว็บไซต์http://tjj.gxzf.gov.cn(广西统计局) วันที่ 20 มกราคม 2566
เว็บไซต์http://nanning.customs.gov.cn (南宁海关) วันที่ 19มกราคม 2566
หนังสือพิมพ์เซาท์แลนด์ มอร์นิ่ง (南国早报) วันที่ 18 มกราคม 2566
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่ 13 มกราคม 2566
เว็บไซต์ http://swt.gxzf.gov.cn(广西商务局) วันที่ 09 พฤศจิกายน 2565