• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • รู้ยัง… สินค้า(ไทย)ไปเอเชียกลาง เริ่มต้นได้ที่สถานีรถไฟ ‘นครหนานหนิง’ – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

รู้ยัง… สินค้า(ไทย)ไปเอเชียกลาง เริ่มต้นได้ที่สถานีรถไฟ ‘นครหนานหนิง’ – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ในวันนี้ โลกของเราถูกย่อให้เล็กลงด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร และการคมนาคมขนส่งที่สามารถเชื่อมโยงและเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศมีความสะดวกสบายและมีโซลูชันให้เลือกได้หลากหลายตามความเหมาะสม

นครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกตรองตนเองกว่างซีจ้วง ถือเป็นหนึ่งใน ‘ฮับ’ ทางเลือกของการเชื่อมโลกการค้า โดยเฉพาะการเชื่อมอาเซียน จีน เอเชียกลาง และยุโรปเข้าด้วยกันด้วย ‘รางรถไฟ’ ที่เรียกว่า China-Europe Railway Express ที่ผ่านมา นครหนานหนิงมีความมุ่งมั่นอย่างสูงในการพัฒนาเส้นทางการค้า ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงระบบศุลกากรให้สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมทางการค้า และส่งนครหนานนหนิงสู่ฝั่งฝันที่ว่า.. ขนส่งสินค้าไปยุโรป ไกลกันแค่ปากซอย

“ท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” หรือ Nanning International Railway Port (南宁国际铁路港) เป็น ‘ฮับ’ ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางรถไฟของนครหนานหนิง โดยท่าสถานีแห่งนี้ได้เริ่มให้บริการด้านพิธีการศุลกากรสินค้าขาเข้า-ขาออกแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวตั้งแต่เดือน พ.ค. 2564

ตามรายงาน ในเขตปฏิบัติการควบคุมตรวจสอบทางศุลกากรในท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง มีเนื้อที่ราว 70.4 ไร่ ประตูไม้กั้น 12 ช่องจราจร (เข้า 6 ช่องทาง และออก 6 ช่องทาง) ลานตรวจสินค้ามีช่องรถบรรทุก 30 ช่องทาง มีอาคารโดมอเนกประสงค์ 3,060 ตร.ม. มีพื้นที่ลานตู้สินค้าและโกดังอุปกรณ์ตรวจกักกันโรค โดยได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้ปีละ 6 แสน TEUs และมีศักยภาพในตรวจสอบสินค้าได้ปีละ 65,000 ตู้ สินค้าที่ขนส่งผ่านท่ารถไฟแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นการค้ากับประเทศเวียดนาม และเริ่มมีการขนส่งสินค้าไป สปป.ลาว (ผ่านมณฑลยูนนาน) และเอเชียกลาง (คาซัคสถาน และอุซเบกิสถาน)

เริ่มต้นปี 2566 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้า China-Europe Railway Express เที่ยวแรกของนครหนานหนิง ขบวนที่ X9132 ลำเลียงเครื่องจักรก่อสร้าง อาทิ รถเกลี่ยดิน รถตัก และรถบดถนน จำนวน 55 ตู้ ได้แล่นออกจากท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง ด่านอาลาซาน (เขตฯ ซินเจียง จีน) – เมืองอัลมาตี (อดีตเมืองหลวงของคาซัคสถาน) – เมือง Pavlodar (เมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของคาซัคสถาน) โดยมีจุดหมายอยู่ที่กรุงทาซเคนต์ เมืองหลวงของอุซเบกิสถาน

ด่านอาลาซานในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ถือเป็น ‘ข้อต่อ’ สำคัญของการลำเลียงสินค้าเชื่อมจีนกับเอเชียกลางและยุโรป 19 ประเทศ สถิติปี 2565 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าที่ผ่านด่านอาลาซาน มีจำนวน 6,211 เที่ยวขบวน (เฉลี่ยวันละ 17 เที่ยวขบวน) เพิ่มขึ้น 6.2% (YoY) ในจำนวนนี้ เป็นขบวนรถไฟสินค้าขากลับจากเอเชียงกลางและยุโรป จำนวน 2,462 เที่ยวขบวน (สัดส่วน 39.63% ของเที่ยวขบวนไป-กลับ) ซึ่งมากเป็นอันดับ 1 ของด่านรถไฟในจีน

ตามรายงาน รถไฟลำเลียงสินค้าขบวนนี้ใช้เวลาขนส่งจากนครหนานหนิงไปถึงด่านอาลาซานราว 7 วัน และด้วยความร่วมมือระหว่าง 2 เขตปกครองตนเอง (กว่างซีกับซินเจียง) ในการบูรณาการความร่วมมือด้านการปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางรถไฟแบบยอมรับร่วมกัน ช่วยให้สินค้าที่ผ่านการตรวจจากศุลกากรที่ด่านรถไฟต้นทางที่นครหนานหนิง สามารถผ่านออกจากด่านอาลาซานได้โดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องดำเนินพิธีการตรวจปล่อยอีกครั้ง

คุณจาง เสีย (Zhang Xia/张霞) ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจ บริษัท Guangxi Pan-Pacific International Logistic Co.,Ltd. (广西泛太国际物流有限公司) ให้ข้อมูลว่า หลังจากที่ 2 เขตปกครองตนเองกว่างซีได้เริ่มใช้โมเดลการปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางรถไฟแบบยอมรับร่วมกัน ช่วยร่นเวลาในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรและเวลาในการขนส่งสินค้าในภาพรวมสั้นลง ต้นทุนรวมด้านโลจิสติกส์ก็ลดลง ทำให้ภาคธุรกิจมีความสนใจและมีความมั่นใจมากขึ้นในการใช้รถไฟขนส่งสินค้า China-Europe Railway Express มากขึ้นไปอีก

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตามสถิติของการรถไฟ ระบุว่า ในปี 2565 กว่างซีได้ให้บริการการขนส่งสินค้าทางรถไฟในเส้นทาง China-Europe Railway Express ทั้งหมด 33 เที่ยวขบวน ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก ปี 2565 พบว่า การขนส่งสินค้าทางรถไฟในช่วงครึ่งปีหลังมีจำนวนเที่ยวขบวนและตู้สินค้าเพิ่มขึ้น 53.8% และ 57.7% ตามลำดับ โดยมีการขนส่งสินค้าที่หลากหลายประเภทและครอบคลุมมากขึ้น รวมกว่า 107 ประเภท ทั้งในกลุ่มเครื่องจักร อาหาร และเคมีภัณฑ์

ในปี 2566 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้า China-Europe Railway Express ที่ออกจากนครหนานหนิงอาจจะมีการเพิ่มเที่ยวขบวนรถไฟแบบเที่ยวประจำ จากเดือนละ 1 เที่ยว เป็นเดือนละ 3 เที่ยว


บีไอซี
ขอเน้นย้ำว่า ปัจจุบัน ประเทศจีนให้ความสำคัญกับการขนส่งด้วย “ระบบราง” อย่างมาก และการขนส่งด้วย “ระบบราง” ถือเป็นเครื่องมือใหม่ที่เขตฯ กว่างซีจ้วงใช้เสริมบทบาทการเป็น “ฮับ” การขนส่งสินค้าเชื่อมจีน(ตะวันตก) กับประเทศสมาชิก RCEP เอเชียกลาง และยุโรป

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาและพิจารณาใช้ประโยชน์จากระบบงานขนส่ง “ทางราง” ของเขตฯ กว่างซีจ้วง ซึ่งปัจจุบัน กว่างซีมีแพลตฟอร์มการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟให้เลือกใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น “ท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง และ ด่านรถไฟผิงเสียง” (วิ่งเชื่อมกับกรุงฮานอย ประเทศเวียดนามได้) รวมถึง “ท่าเรือชินโจว” ซึ่งมีระบบงานขนส่งเชื่อม “เรือ+ราง” ได้ภายในท่าเรือ

โดยสรุป ข้อได้เปรียบด้านที่ตั้ง ประสิทธิภาพงานขนส่ง ความสะดวกรวดเร็วที่ได้รับจากการใช้บริการตลอดจนต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่ายที่ลดลง เป็น ‘โอกาส’ ที่ภาคธุรกิจไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายการขนส่งทางรถไฟและระบบศุลกากรที่มีศักยภาพและทันสมัยของ ‘กว่างซี’ เพื่อส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดมณฑลต่างๆ ในจีน หรือไปตีตลาดเอเชียกลาง ยุโรปได้อย่างง่ายดาย เพราะด้วยศักยภาพเหล่านี้จะทำให้สามารถลดทั้งต้นทุน ระยะเวลา และขยายการตลาด ของสินค้าไทยให้ไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น

 

จัดทำโดย : นางสาวเนตรนภา บุญมา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网)  วันที่ 12 มกราคม 2566
เว็บไซต์ www.xj.chinanews.com.cn/ (中新乌鲁木齐)  วันที่ 11 มกราคม 2566
        เว็บไซต์ http://ex.chinadaily.com.cn (中国日报网)  วันที่ 10 มกราคม 2566

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]