• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ส่อง “ฉางอันห้าว” ปี 2022 มุ่งขยายเส้นทางลงใต้ ตอกย้ำความสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศของซีอาน

ส่อง “ฉางอันห้าว” ปี 2022 มุ่งขยายเส้นทางลงใต้ ตอกย้ำความสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศของซีอาน

เส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติ “ฉางอันห้าว” เครื่องจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าของมณฑลส่านซี ครอบคลุมการขนส่งทางรางสู่สถานีปลายทางทั้งในเอเชีย-ยุโรป โดยในปี 2022 นอกจากการขนส่งจากจีน-เอเชียกลาง-ยุโรปแล้ว “ฉางอันห้าว” ได้ขยายเส้นทางมุ่งลงใต้สู่ประเทศอาเซียนใหม่ นับเป็นความก้าวหน้าและโอกาสที่ดีของ “ฉางอันห้าว” และอาเซียนที่สามารถใช้เส้นทางการขนส่งเส้นนี้ในขยายความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกัน

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2023 ได้มีการสรุปสถิติการขนส่งในปี 2022 เส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติ “ฉางอันห้าว” (China Railway Express,Chang’An’Hao) ซึ่งเส้นทางขนส่งจากจีน-ยุโรปมีจำนวนเที่ยวขบวนสูงถึง 4,639 เที่ยวขบวน เพิ่มขึ้น 20.8% เมื่อเทียบกับปี 2022

นับตั้งแต่เปิดให้บริการเส้นทางขนส่งสินค้า“ฉางอันห้าว”(China Railway Express, Chang’An’Hao) ได้ให้บริการเส้นทางจีน-ยุโรปไปแล้วถึง 16,054 เที่ยว โดยในปี 2022 มีถึง 4,639 เที่ยว แบ่งเป็น (ยุโรป 3,974 เที่ยว และเอเชีย 665 เที่ยว) ขนส่งสินค้าไปกว่า 4.12 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 43.3% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา โดยในปี 2022 ที่ผ่านมาเส้นทางขนส่งสินค้า“ฉางอันห้าว” เส้นทางจีน-ยุโรปยังคงครองสถิติสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของจีนจากตัวชี้วัดหลัก 3 ประการคือ ปริมาณการเดินรถ, ปริมาณการขนส่งสินค้า และน้ำหนักของสินค้าที่ทำการขนส่ง

สำรวจอีกหนึ่งเส้นทางมุ่งลงใต้ อีกหนึ่งความหวังของ “ฉางอันห้าว”

เดิม “ฉางอันห้าว” มุ่งเน้นการขนส่งไปยังยุโรปและเอเชียกลางเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้าให้หลากหลายขึ้น ในปี 2022 “ฉางอันห้าว” จึงได้เริ่มเปิดให้บริการเส้นทางจีน-เวียดนาม โดยใช้ประโยชน์จาก New Western Land-Sea Corridor (NWSLC) ไปยังท่าเรือพันธมิตรในเขตฯ กว่างซีจ้วง และยังใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาวที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2021 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีในการเริ่มการขนส่งมุ่งลงใต้ของ “ฉางอันห้าว” อย่างเป็นรูปธรรม

รูปที่ 3: รถไฟเส้นทาง “ซีอาน-เวียงจันทร์” ขบวนแรกของปี 2022 โดยใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

ที่มา: https://mp.weixin.qq.com/s/5jGGHdzPn5VVi2tMTWHdRw

      นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2022 “ฉางอันห้าว” ได้เปิดเส้นทางขนส่งสินค้าแบบขนส่งสินค้านำเข้า 3 ประเทศ ซึ่งถือเป็นโมเดลปฐมฤกษ์ของการใช้ประโยชน์จาก “ฉางอันห้าว” ในการเป็นข้อต่อส่งสินค้าต่อไปยังเอเชียกลาง ได้แก่ เส้นทางเวียดนาม-จีน-คาซัคสถาน (เมืองไฮฟอง-นครซีอาน-กรุงอัลมาตี) โดยใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่งหลากหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ขนส่งสินค้าจากท่าเรือไฮฟอง เวียดนาม-ท่าเรือฉินโจว เขตฯ กว่างซีจ้วง-เส้นทางรถไฟไปยังนครฉงชิ่ง-นครซีอาน-กรุงอัลมาตี คาซัคสถานซึ่งถือเป็นความคืบหน้าที่โดดเด่น และอาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางการขนส่งสินค้าไทย-จีน-เอเชียกลางได้ในอนาคต และเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2022 “ฉางอันห้าว” ยังเปิดให้บริการขนส่งสินค้าไปยังกรุงฮานอย ผ่านสถานีรถไฟผิงเซียงเขตฯกว่างซีจ้วงถึงสถานีรถไฟทงเด้งเวียดนามและส่งต่อถึงฮานอย ระยะเวลารวม 8 วัน ซึ่งถือเป็นการเปิดให้บริการเส้นทางมุ่งลงใต้แบบเส้นทางด่วนพิเศษเป็นครั้งแรก

รูปที่ 4: ขบวนรถไฟ “ไฮฟอง-ซีอาน-อัลมาตี” ขบวนแรก    รูปที่ 5: ขบวนรถไฟ “ซีอาน-ฮานอย”

ที่มา: https://mp.weixin.qq.com/s?__biz=MzI1

 ที่มา: https://www.yidaiyilu.gov.cn/xwzx/dfdt/300851.htm

“ฉางอันห้าว”กับโอกาสการส่งสินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่จีน-เอเชียกลาง-ยุโรป

ในปี 2022 “ฉางอันห้าว” ยังเพิ่มการใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือ RCEP ขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP โดยศุลกากรนครซีอานรายงานว่า ในปีที่ผ่านมาได้ทำการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ออกให้ผู้ส่งออก (FormE) ไปแล้ว 46 ฉบับมูลค่ากว่า 15.53 ล้านหยวน(ประมาณ 73.46 ล้านหยวน)[1] ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ คือ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์เคมี และขดลวดนำ

รูป6: เส้นทางส่งของจากท่าเรือชินโจว-จุดหมายต่างๆ ในกรอบความร่วมมือ RCEP

ที่มา: https://mp.weixin.qq.com/s/DoxYlc9uR7Yc9v_ecyuKvg

“ฉางอันห้าว” ยังได้ใช้ประโยชน์จากรถไฟจีน-ลาวจากซีอานมุ่งลงใต้  โดยผ่านนครฉงชิ่งไปยังสถานีคุนหมิง-นครหลวงเวียงจันทน์   ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับสินค้าจีนและสินค้าที่มีฐานการผลิตในซีอาน ให้สามารถกระจายสินค้าสู่อาเซียนได้สะดวกและมากยิ่งขึ้นนอกเหนือจากการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเส้นทาง NWSLC เพียงอย่างเดียว ซึ่งหากโครงการก่อสร้างรถไฟจีน-ไทยแล้วเสร็จ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่สามารถกระจายสินค้าสู่ไทยหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เช่นกัน

รูป7: แผนการสร้างเส้นทางขนส่งสินค้าทางรางจากจีน-อาเซียน

ที่มา: https://www.nationthailand.com/international/30336801

เป้าหมายการพัฒนาปี 2023 ของ “ฉางอันห้าว”

ในปี 2023  “ฉางอันห้าว”ยังคงมุ่งมั่นให้บริการขนส่งที่ครอบคลุม ผ่านการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) อาทิ การให้เช่าตู้คอนเทนเนอร์ ที่สามารถคืนได้ที่จุดคืนตู้ทั้งในประเทศจีนยุโรป และรัสเซีย, การจัดส่งสินค้าด้วยห้องเย็นเคลื่อนที่ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้ประกอบการที่สนใจในการขนส่งของสดและมีข้อจำกัดด้าน Shelf life, แผนการปรับปรุงโครงการ China-Europe Railway Express Xi’an Assembly Center (中欧班列西安集结中心) และสร้างสถานีเส้นทางรองอย่างเมืองเป่าจี, เมืองยวีหลินและเมืองอันคัง เพื่อสร้างระบบการบริการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งตั้งเป้าหมายให้อัตราการนำเข้าและส่งออกของส่านซีเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 6%/ปี

นางสาว เก็จมณี โฉมงาม  นักศึกษาฝึกงาน  เขียน

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน เรียบเรียง

ข้อมูลอ้างอิง

[1] อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน: 4.73 บาท ณ วันที่ 10 ก.พ. 2023 จาก ธนาคารไอซีบีซี (ไทย)

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]