WOW 45 ปีแห่งความสัมพันธ์ไทย-จีน
.
ไทย-จีนสองแผ่นดินมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันมาช้านาน จนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1975 ไทย-จีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ โดยมี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไทย และนายโจว เอินไหล (周恩来) นายกรัฐมนตรีจีน เป็นผู้แทนลงนาม ซึ่งในปีนี้ได้ครบรอบ 45 ปี แห่งความสัมพันธ์ระหว่างกัน
.
ไทย-จีน มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับ ทั้งระดับราชวงศ์ ผู้นำประเทศ เจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมทั้งระดับประชาชน ไทย-จีนมีความร่วมมือในหลาย ๆ ด้านครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว สังคมและวัฒนธรรม
.
การเสด็จฯ เยือนจีนในระดับราชวงศ์สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดี ยังช่วยส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ถึงแม้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไม่เคยเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ แทนพระองค์ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี 2000 พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตามคำกราบทูลเชิญของนายเจียง เจ๋อหมิน (江泽民) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนในขณะนั้น ในคราวนั้น พระองค์ท่านทรงเสด็จฯ และปฎิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญในหลายเมือง ได้แก่ กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ เมืองลั่วหยาง เมืองเจิ้งโจว เมืองไคเฟิง และเมืองกุ้ยหลิน
.
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวจีนเป็นอย่างมาก ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า “ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน” พระองค์ท่านทรงเคยเสด็จฯ ไปศึกษาภาษาจีน ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เมื่อปี 2005 และเสด็จฯ เยือนจีนกว่า 40 ครั้ง ครบทุกมณฑลของจีน นอกจากนี้ ในโอกาสครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2019 รัฐบาลจีนได้ทูลเกล้าถวาย “เครื่องอิสรยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์” อันถือเป็นเกียรติยศสูงสุดที่จีนมีให้แก่ชาวต่างชาติ ซึ่งนับเป็นพัฒนาการสูงสุดแห่งความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
.
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงสนพระทัยในศิลปวัฒนธรรมจีน โดยเฉพาะเครื่องดนตรีจีนโบราณอย่าง “กู่เจิง” พระองค์ท่านทรงศึกษาและทรงบรรเลงกู่เจิงด้วยพระองค์เองในงาน “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” ซึ่งได้จัดติดต่อกันถึง 6 ครั้งในสองประเทศ
.
ไทย-จีน มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับผู้นำรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ เรียกได้ว่าไม่มีนายกรัฐมนตรีของไทยคนใด ที่ไม่เคยเยือนประเทศจีน โดยครั้งล่าสุด นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้เยือนไทยอย่างเป็นทางการในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 (35th ASEAN Summit) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 และยังมีโอกาสหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีของไทยอีกด้วย ซึ่งช่วยเน้นย้ำถึงความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย-จีน
.
ปี 2019 จีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 13 ของจีน (อันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน) สินค้าที่ส่งออกไปจีน ได้แก่ ชิ้นส่วนโทรศัพท์/คอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ มันสำปะหลัง ทุเรียน และยางพารา และสินค้าที่นำเข้าจากจีน ได้แก่ เหล็กกล้า แผงวงจรไฟฟ้า จอ LCD ไฟ ชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ
.
ไทย-จีนมีความเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงกันมากขึ้น โดยล่าสุดมีการเปิดใช้เส้นทาง R3A R8 R9 และ R12 เชื่อมต่อระหว่างจีนตอนใต้กับภาคเหนือและภาคอีสานของไทย ทั้งสองพยายามผลักดันความร่วมมือระหว่างนโยบาย Made in China 2025 และนโยบาย Thailand 4.0 และพยายามส่งเสริมการลงทุนจากจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทยอีกด้วย
.
ประเทศไทยเป็นจุดหมายอันดับต้น ๆ ของชาวจีนในการเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังคงสูงเป็นอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ราว 10.99 ล้านคน ในปี 2019
.
ระดับประชาชน โดยเฉพาะด้านการศึกษา ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยประมาณ 28,000 คน กำลังศึกษาในแทบทุก ๆ เมืองของจีน ขณะเดียวกันนักศึกษาจีนในประเทศไทยมีประมาณ 10,000 คน ชาวไทยนิยมเรียนภาษาจีนเพิ่มขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยการศึกษาทุกระดับมีการเปิดสอนภาษาจีนเป็นภาษาที่สาม นอกจากนี้ ไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถาบันขงจื่อมากที่สุดในโลก การเรียนรู้และเข้าใจภาษาจีนจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนระหว่างกันได้เป็นอย่างดี
.
ไทย-จีนมีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งมาตั้งแต่อดีต ครั้งชาวจีนอพยพมาอยู่เมืองไทย ได้นำเอาวัฒนธรรมจีนมาเผยแพร่และพัฒนาผสมผสานกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย อาทิ เทศกาลจีนต่าง ๆ รวมถึงอาหารการกิน อย่างติ่มซำ เป็ดย่าง และหม้อไฟ หรือแม้กระทั่งในคำไทยบางคำก็ได้รับอิทธิพลจากภาษาจีน ในอดีตชาวไทยรู้จักศิลปะจีน ผ่านการแสดงอุปรากรจีน (งิ้ว) หรือกายกรรมจีนที่นำมาแสดงในไทย แต่ในปัจจุบันชาวไทย-จีนรู้จักกันมากขึ้นผ่านงานภาพยนตร์ ละคร หรือเพลง มีดารานักแสดงไทยที่เป็นที่นิยมของชาวจีนอย่างมาก เช่น ป้อง ณวัฒน์ฯ มาริโอ้ เมาเร่อฯ ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก ออกแบบ ชุติมนต์ฯ หรือนน ชานนฯ
.
ไทยจีนมีการร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างกันในยามวิกฤตมาโดยตลอด อาทิ เมื่อไทยประสบสึนามิในปี 2004 จีนได้ส่งสิ่งของจำเป็น และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงบริจาคเงินให้แก่ไทย และในปี 2008 ประเทศไทยได้อุทิศเงินจำนวน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือภัยพิบัติสำหรับผู้ที่ประสบภัยทั้งแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน เมื่อช่วงต้นปี 2019 ที่ผ่านมา การแพร่กระจายและติดเชื้อของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)แม้จีนจะเป็นประเทศแรกที่พบผู้ที่ติดเชื้อ แต่หลังจากการควบคุมสถานการณ์อย่างดีแล้ว รัฐบาลจีนและมูลนิธิแจ็คหม่า (Jack Ma Foundation) ได้มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่ไทย อันเป็นการแสดงถึงความมีน้ำใจเพื่อร่วมกันเผชิญหน้าและต่อสู้กับโรคระบาด
.
ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า “จีน-ไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” (中泰一家亲) ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำพูด แต่เป็นสิ่งยืนยันความสัมพันธ์อันดีงามและแน่นแฟ้นระหว่างไทยและจีนมาโดยตลอดฉันท์พี่น้อง
.
#WOW #WOWCHINA #ครบเครื่องเรื่องจีน #เชื่อมคุณกับจีนในทุกมิติ
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Wow China