ย้อนรอย เรื่องราวการต่อสู้บนโลกโซเชียลจีน ของคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนที่ยอมรับว่า “พวกเราคือกลุ่มรักเพศเดียวกัน”
—–
มีคนถามเข้ามาว่า “คนจีนยุคปัจจุบัน มองเรื่องของรักเพศเดียวกัน หรือเพศที่3 อย่างไรบ้าง?” เพราะเราเคยได้ยินอยู่ตลอดว่า คนจีนส่วนใหญ่รับไม่ได้กับเพศที่3 โดยเฉพาะคนที่อายุค่อนข้างเยอะ
อ้ายจงขอตอบคำถามนี้ด้วยเรื่องราวที่ยังอยู่ในความทรงจำของอ้ายจง แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 2 ปี เป็นเรื่องราวการต่อสู้บนโลกโซเชียลจีน ของคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนที่ยอมรับว่า “พวกเราคือกลุ่มรักเพศเดียวกัน”
เมื่อปี2018 มีกระแสไวรัลในโลกโซเชียลจีน เมื่อชาวรักเพศเดียวกันในจีนแห่เปิดเผยตัวตนผ่าน แฮชแท็ก #我是同性恋 ฉันคือกลุ่มรักเพศเดียวกัน ใน Weibo พร้อมชัยชนะของชาวรักเพศเดียวกันในจีน และพลังของสังคมออนไลน์ หลังWeiboยอมยกธงขาว ไม่ Ban เนื้อหาเกี่ยวกับ รักเพศเดียวกันอย่างที่เคยประกาศแบบเซอร์ไพรส์ก่อนหน้านั้น
จุดเริ่มต้น ณ ตอนนั้น มาจากการที่Weibo ประกาศออกมาเมื่อ ศุกร์ 13 เมษายน 2018 ว่า “ภายใน 3เดือนนับจากนี้จะล้างและแบนเนื้อหาที่เกี่ยวกับลามกอนาจาร ความรุนแรง และรักเพศเดียวกัน ให้หมดไปจากแพลทฟอร์ม”
เมื่อประกาศดังกล่าวออกมา ชาวโซเชียลจีนโดยเฉพาะกลุ่มรักเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะชายรักชาย หญิงรักหญิง ต่างออกมาเคลื่อนไหว ต่อต้านกับประกาศดังกล่าว โดยพากันโพสต์รูปถ่ายเปิดเผยตัวตนและเขียนเนื้อหาเกี่ยวกับรักเพศเดียวกัน พร้อมติดแฮชแท็ก ” #我是同性恋 ที่หมายถึงว่า ฉัน/ผมเป็นกลุ่มรักเพศเดียวกัน ” จนขึ้นเป็นแฮชแท็กอันดับ1 หมวด ความรู้สึกใน Weibo มียอดอ่านกว่า 580ล้านวิว ภายในเวลาไม่กี่วันเท่านั้น
หลังจากประกาศเพียง3วัน ทาง Weibo มีประกาศใหม่ว่า “การล้างและแบนเนื้อหา ไม่ได้รวมถึงเนื้อหารักเพศเดียวกันนะ”
จุดหนึ่งที่น่าสนใจของความเคลื่อนไหวครั้งนั้น คือ นักเคลื่อนไหวรักเพศเดียวกัน Pu Chunmei คุณแม่ชาวจีนผู้มีลูกชายเป็นกลุ่มรักเพศเดียวกัน เป็นเบื้องหลังที่ผลักดันให้ประเด็นนี้เป็นกระแส โดยออกมาโพสต์เรียกร้องและต่อต้านWeibo มีเนื้อหาว่า “ลูกชายและตัวฉันเองรักประเทศจีนของเรา พวกเราภูมิใจที่เป็นคนจีน แต่เมื่อฉันเห็นประกาศของทางWeibo ฉันรู้สึกว่ามันคือการแบ่งแยก และกระทำรุนต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งมันคือความรุนแรงอย่างแท้จริง”
ก่อนหน้านี้เราจะรับรู้มาตลอดว่าที่เมืองจีนตั้งแต่สมัยอดีต มีการต่อต้านและไม่ยอมรับกลุ่มรักเพศเดียวกัน โดยเฉพาะ ชายรักชาย แต่ปัจจุบันเมื่อก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ ดูเหมือนว่า จะมีการยอมรับมากขึ้น และกลุ่มรักเพศเดียวกันในจีนก็มีมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งมักมีกิจกรรมเคลื่อนไหวอยู่เสมอ โดยเฉพาะที่ไต้หวัน
การประกาศล้างและแบนเนื้อหาของ Weibo เมื่อปี2018 เกิดขึ้นพร้อมกับแพลทฟอร์มออนไลน์อื่นๆอีกหลายแพลทฟอร์ม เนื่องจากเมื่อราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า เกิดปัญหาเนื้อหาความรุนแรงและไม่เหมาะสมใน Toutiao – 今日头条 แพลทฟอร์มข่าวออนไลน์ชื่อดังของจีน จนทางการจีน มีนโยบายให้แพลทฟอร์มออนไลน์ต่างๆควบคุมเนื้อหาภายในแพลทฟอร์มของตน
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง