“สองสามีภรรยาชาวจีน เปิดบ้านเป็นห้องสมุดในพื้นที่ชนบท เป็นเวลานานกว่า 40 ปี ให้บริการฟรี หวังยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนด้วยความรู้”
.
อ้ายจงมีโอกาสได้อ่านเรื่องราวของคุณลุงคุณป้าสามีภรรยาคู่นี้ที่เผยแพร่บน China Daily สื่อจีนรายใหญ่ และเกิดความประทับใจมาก เลยขอนำมาเล่าต่อครับ
.
คืองี้ครับ อย่างที่อ้ายจงเคยเล่ามาหลายครั้งเนอะ ว่าคนจีนให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือมาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญของการยังคงอยู่และเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจ-อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ในจีน แม้จะต้องปรับตัวตามเทคโนโลยีและยุคสมัยพอสมควร
.
“หนังสือเป็นหนทางการหาความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพที่ง่ายที่สุด” คือความเชื่อที่ถูกปลูกฝังในคนจีนจากรุ่นสู่รุ่น
.
ดังตัวอย่างเรื่องราว “การสร้างบ้านของตนเองเป็นห้องสมุดในพื้นที่ชนบท หมู่บ้าน Zhangfang หมู่บ้านเล็กๆในอำเภอหย่งจี้ เมืองยุ่นเฉิง มณฑลซานซี ของคุณลุง Du Dejian และภรรยา ที่เปิดตั้งแต่ 1 มกราคม ค.ศ. 1981”
.
คุณลุงท่านนี้เป็นคุณครูที่สอนอยู่ในพื้นที่ชนบท ทำให้ได้เห็นถึงปัญหาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะการขาด “ทักษะความรู้” คุณลุงและคุณป้าที่เพิ่งแต่งงานกันใหม่ๆ ณ ขณะนั้น จึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนบ้านตนเองให้เป็นห้องสมุดที่ทุกคนสามารถมาใช้บริการได้ฟรี โดยคุณลุงใช้เงินส่วนตัวซื้อหนังสือกว่า 40,000 เล่ม
.
เริ่มแรก ไม่ค่อยมีใครสนใจมาอ่านหนังสือที่ห้องสมุดแห่งนี้มากนัก เพราะโฟกัสไปที่การทำมาหากินอย่างเดียว คุณลุงจึงใช้กลยุทธ์ “เคาะประตูบ้าน” ส่งหนังสือพิมพ์ที่มีเนื้อหาของเทคโนโลยี-นวัตกรรม-ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งสามารถปรับประยุกต์ในการงานของผู้คน ไปที่บ้านของทุกคนแทน จนห้องสมุดได้รับความสนใจและกลายเป็นแหล่งความรู้คู่ชุมชนไปโดยปริยาย
.
นอกเหนือจากนั้น ยังได้เปิดคอร์สสอน “เทคโนโลยีการเกษตร” ราว 700 คอร์ส มีคนผ่านการอบรมไปแล้วมากกว่า 30,000 คน
.
ปัจจุบันคุณลุงและภรรยา พยายามปรับห้องสมุดของตน หาวิธีการส่งต่อความรู้แนวทางใหม่ในยุคเทคโนโลยี เช่น นำเสนอข้อมูล-บทความผ่านทาง WeChat แอปพลิเคชันสนทนาออนไลน์ยอดนิยมของคนจีน
.
“ฮีโร่ ไม่จำเป็นต้องมีพลังวิเศษ แต่ขอแค่ความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในการทำสิ่งดีดีสู่สังคม” อ้ายจงขอเป็นกำลังใจให้คุณลุงคุณป้าคู่นี้รวมถึงทุกคนที่ทำสิ่งดีดีมีประโยชน์แก่สังคมครับ
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง