โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
เทคโนโลยี 5G กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านต่าง ๆ ของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาเสถียรภาพการลงทุน กระตุ้นการบริโภค และพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ปัจจุบัน จีนได้สร้างสถานีฐาน 5G ไปแล้วกว่า 700,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมากกว่าการติดตั้งสถานี 5G ทั้งหมดทั่วโลกถึงสองเท่า และจีนยังตั้งเป้าหมายจะสร้างสถานี 5G อีก 600,000 แห่งภายในสิ้นปี 2564 ทั้งนี้ ในปี 2563 จีนมียอดการจำหน่ายมือถือ 5G สูงถึง 163 ล้านเครื่อง คิดเป็นร้อยละ 53 ของยอดการจำหน่ายมือถือทั้งหมดของจีน
ขณะที่ในปี 2563 มณฑลเจียงซีมีรายได้จากอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 1.1 แสนล้านหยวน โดยมีการก่อสร้างสถานีฐาน 5G แล้ว 33,757 แห่ง จากเป้าหมายที่ 70,000 แห่ง เพื่อเพิ่มพื้นที่สัญญาณ 5G ให้ครอบคลุมร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั่วมณฑล นอกจากนี้ ปัจจุบัน รัฐบาลมณฑล เจียงซีมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ควบคู่กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตร พลังงาน การดับเพลิงและการรักษาสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น การก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า 5G ที่เมืองจิ่วเจียงโดยใช้ระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติควบคุมทางไกลจากนครหนานชาง การใช้ 5G ในการควบคุมเครื่องจักรกลทางการเกษตรด้วยเซนเซอร์ (Sensor) และการใช้เทคโนโลยี IoT ช่วยจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อการเกษตร วิเคราะห์ดิน น้ำ และทรัพยากรเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และการใช้โดรนดับเพลิงไร้คนขับในการฝึกซ้อมดับเพลิงซึ่งมีความแม่นยำสูงและปลอดภัย เป็นต้น
ข้อคิดต่อไทย กลยุทธ์การพัฒนาระบบโทรคมนาคมของไทยไม่อาจมองเพียงแต่การพัฒนาเทคโนโลยี 5G และการสร้างเครือข่ายสัญญาณ 5G เชิงพาณิชย์ของค่ายโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการพัฒนา 5G ในระยะยาวที่รัฐจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ของรัฐ เช่น การพัฒนา smart city และอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย เช่น เกษตรและพลังงาน เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง https://jx.ifeng.com/c/846X0FljTTw
ขอบคุณที่มาของข้อมูล : Thaibizchina