Way Forward ครั้งที่ 13
“สรุปภาพรวมเศรษฐกิจโลก จีน และไทย ปี 2020 และแนวโน้มปี 2021”
วันอังคารที่ 29 ธันวาคม 2563
เวลา 9.30 -10.30 น. (ไทย) 10.30 -11.30 น. (จีน)
โดย คุณอภินันท์ ลีลาเชาว์ (เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
ดำเนินรายการโดย คุณโสภิต หวังวิวัฒนา (ผู้จัดการฝ่ายสื่อเสียง ไทยพีบีเอส)
สรุปโดย Phatphicha Lerksirinukul (www.salika.co)
สมมุติฐานด้านเศรษฐกิจ ถ้าจีนไม่เจอโควิดระลอกใหม่
ปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขของจีนอยู่ในแดนบวกมาจาก 1) ที่ผ่านมา จีนสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดี 2) มีเงินหมุนเวียนจากการบริโภคของภาคเอกชน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวภายในประเทศ และ 3) ภาคการผลิตของจีนฟื้นตัว อย่างหมวดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือแพทย์ เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย ที่ขาดแคลนกันมากในช่วงโควิด-19 กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญต่อหลายประเทศ
อภินันท์เผยสมมุติฐานในกรณีที่จีนไม่เจอโควิดระลอกใหม่ว่า ในปี 2021 GDP จีนอาจเติบโตที่ราว 7.5 – 8% โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีมาจาก การบริโภค (Consumption) ภายในประเทศ และ ภาคการผลิต (Production) อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ทำให้มีอุปสงค์ด้านวัตถุดิบมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าหน้าโรงงานมีราคาสูงขึ้น
ช่วงล็อกดาวน์ในไตรมาสแรก เป็นช่วงที่สถานการณ์หลายอย่างในจีนไม่มั่นคง ทั้งในด้านการจ้างงาน รายได้ ความพึงพอใจในการบริโภค ซึ่งสะท้อนจากอัตราการว่างงานที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ GDP ในไตรมาสแรกของปี 2020 ลงไปอยู่ที่ -6.8% แต่สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้นในไตรมาสต่อมา และส่งผลต่อ GDP ในปี 2021 ที่คาดว่าจะเป็นบวก
จีนใช้เงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการการเงินและมาตรการการคลัง 4 ล้านล้านหยวน หรือราว 20 ล้านล้านบาท ซึ่งการที่จีนใช้เงินจำนวนมากก็ทำให้หนี้ของจีนพอกพูนเร็วขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
- ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) มีค่าเฉลี่ยการเติบโตในระดับโลกอยู่ที่ 6% โดยในเอเชียจะมีการเติบโตมากที่สุด
ปัจจัยไหนบนโลกใบนี้ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย?
อภินันท์กล่าวถึงมุมของ FTA ว่าเราได้ผลกระทบเชิงบวก เพราะเมื่อจีนฟื้นตัว จะมีความต้องการชิ้นส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ญี่ปุ่นจะต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะเข้าไปเป็นกองหนุนในด้านกำลังการผลิตชิ้นส่วนของทั้งสองอุตสาหกรรม
อีกโอกาสของไทยคือ การเติบโตไปกับ RCEP โดยผลจาก RCEP สามารถสรุปได้ 2 ประเด็นคือ ประเทศในแถบเอเชียจะส่งออกได้มากขึ้น เมื่อจีนส่งออกได้มากขึ้น ไทยก็จะขยับด้านการส่งออกได้เช่นกัน
สำหรับ GDP ประเทศไทยนั้น อภินันท์ ลีลาเชาว์ เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ข้อมูลคาดการณ์ว่า จะหดตัวลงมาที่ -6.7% ในปี 2020 และคาดการณ์ค่ากลางของ GDP ปี 2021 ว่าจะเติบโตที่ 2.6%
ส่วนปัจจัยที่จะมีผลกระทบเชิงลบต่อไทย ได้แก่ BREXIT ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ทางยุโรปเปลี่ยนคู่ค้าและสั่งสินค้าไทยน้อยลง และ ภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากท่าทีสุภาพแต่แข็งกร้าวของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่มีต่อจีน มีแนวโน้มว่าไบเดนจะค่อยๆ โอบล้อมให้จีนหันมาให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายต่างๆ ตรงข้ามกับโดนัลป์ ทรัมป์ ที่มักจะเปิดหมัดฮุกจีนตรงๆ สกัดดาวรุ่งทุกช่องทางที่ทำได้
ในสถานการณ์โควิด หลายประเทศหันไปลงทุนในเวียดนาม จนเวียดนามมีเศรษฐกิจที่่แข็งแกร่งขึ้นมาก กระเทือนถึงภาคการผลิตและซัพพลายเชนของไทย แต่อย่างไรก็ดี RCEP จะก่อให้เกิดผลดีต่อไทยในฐานะ Linkage ที่เชื่อมเส้นทางซัพพลายเชนโลกหลังวิกฤตโควิด
อีกเรื่องที่สำคัญต่อประชากรทั่วโลกที่มีมากกว่า 7.7 พันล้านคน นั่่นคือ วัคซีนโควิด-19 เนื่องจากกำลังการผลิตวัคซีนรวม 3 ชื่อที่ได้รับการอนุมัติ รองรับได้เพียง 1 ใน 3 ของประชากรโลก ขณะที่สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรมีกำลังทรัพย์ที่จะซัพพอร์ตวัคซีนให้ประชาชนก่อนก็สั่งผลิตได้ก่อนในปริมาณมาก
สำหรับประเทศไทยมีการสั่งซื้อวัคซีน AstraZeneca ที่ Oxford กับ AstraZeneca ร่วมกันพัฒนาขึ้น จำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอสำหรับประชากร 13 ล้านคน และในขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลอัปเดตเพิ่มว่าจะซื้อวัคซีนเพิ่มเมื่อไร จากบริษัทใด
อย่างไรก็ตาม การขนส่งวัคซีนก็เป็นอุปสรรคของนานาประเทศ เพราะต้องรักษาอุณหูมิของวัคซีนไว้ที่ระดับติดลบ นอกจากนี้ พาหนะขนส่งและสถานที่จัดเก็บวัคซีนก็ต้องพร้อมรองรับอุณหภูมิในสภาวะที่แตกต่างกันไป
- Pfizer-BioNTech BNT162b2 COVID-19 Vaccine
เก็บแบบ Ultra-cold freezer ที่อุณหภูมิ -80°C ถึง -60°C - Moderna mRNA-1273 COVID-19 Vaccine
เก็บแบบ Standard freezer ที่อุณหภูมิ -20°C - AstraZeneca AZD1222 COVID-19 vaccine
เก็บแบบ Normal refrigerated conditions ที่อุณหภูมิ 2°C ถึง 8°C
มาต่อที่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จะยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องในปี 2021 โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ตราด รัฐจึงต้องใช้มาตรการช่วยเหลือที่ต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่
ด้านมูลค่าความเสียหาย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้ว่า ไทยอาจสูญเสียรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึง 4 ล้านล้านบาท ในระหว่างปี 2020 – 2021
สรุปปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อไทยและความท้าทายในปี 2021
- การเดินทางท่องเที่ยว การกระจายวัคซีนในประเทศพัฒนาแล้วในช่วงไตรมาส 1-3 คาดว่าจะส่งผลให้การเดินทางระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวไทยผ่อนคลายลงในไตรมาส 4
- ระหว่างที่รอวัคซีน ให้ดูแลสุขภาพ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง เพื่อรอรับวัคซีนในไตรมาส 2 เป็นต้นไป
- เงินบาทอาจแข็งค่าตลอดปี โดยเฉลี่ยจะอยู่ 29.00 – 29.25 บาท ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจอาจต้องเตรียมป้องกันความเสี่ยงในด้านนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ทำธุรกิจระหว่างประเทศ
- การส่งออกมีเหตุให้สะดุด จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ส่งสินค้าระหว่างประเทศ อันเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ทำให้ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ข้ามแดนต้องหยุดชะงัก แต่น่าจะดีขึ้นในไตรมาส 2
- ผลกระทบจากสถานการณ์รอบโลก ความสัมพันธ์หรือการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศในมิติต่างๆ เช่น BREXIT, ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังมุ่งคานอำนาจในสมรภูมิ Trade War และ Tech War กับจีนต่อไป
ที่มา : สรุปอิมแพ็คและความท้าทาย 2020-2021 ปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้ ‘เศรษฐกิจไทย’ ไม่เหมือนเดิม