เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง โดยฝ่ายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการเสวนาออนไลน์ Way Forward 2021 ตอนพิเศษ เรื่อง “UPDATE จีนรอบด้านกับโครงการ Peking University Dongfang Scholars” โดยมี รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในผู้เข้าอบรมจากทั่วโลกและเป็นคนไทยคนเดียวในโครงการ Peking University Dongfang Scholars ณ กรุงปักกิ่ง ในปีนี้ การเสวนาครั้งนี้ดำเนินรายการโดย วัชรินทร์ เศรษฐกุดั่น หัวหน้ากองข่าวต่างประเทศ ช่อง 9 MCOT HD 30 สำนักข่าวไทย ผ่านระบบการประชุมออนไลน์
1. โปรแกรม Peking University Dongfang Scholars
โปรแกรม Peking University Dongfang Scholars เป็นโปรแกรมศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งระยะสั้น ผ่านทุนการศึกษา Dongfang โดยคัดสรรผู้เข้าร่วมอบรมผ่านสถาทูตจีนในแต่ละประเทศ จัดขึ้นทุกเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน (3-4 เดือน) รวมถึงทัศนศึกษาหลายครั้งทั้งในและนอกเมืองปักกิ่ง ในแต่ละปีมีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 30 คน ผู้เข้าร่วมอบรมส่วนใหญ่มาจากทวีปแอฟริกา
แอฟริกามองจีน : ต้นแบบของการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ
แอฟริกามองจีนเป็นต้นแบบของการพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่สามารถจะเกิดได้ในหนึ่งช่วงชีวิต ประสบการณ์การปฏิรูปเศรษฐกิจ การเปิดประเทศ การขจัดความยากจน และการวางยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศของจีนเป็นสิ่งที่แอฟริกาทุก ๆ ประเทศอยากจะให้เกิดขึ้น
โปรแกรม Peking University Dongfang Scholars เป็นหลักสูตรจีนศึกษาเบื้องต้น แบ่งเนื้อหาการฝึกอบรมเป็น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม รวมประมาณ 20 วิชาที่จะทำให้ได้เข้าใจจีนในมิติใหม่มากยิ่งขึ้น เข้าใจจีนจากมุมมองทั้ง 3 ด้านนี้ว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เราต้องให้ความสนใจ และการแนะนำแหล่งสืบค้นข้อมูลของอาจารย์ ทำให้สามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้ หากอยากเรียนรู้เพิ่มเติม จะไปหาองค์ความรู้นี้ได้จากที่ไหน แต่ท้ายสุดควรนำไปเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของประเทศอื่น ๆ ด้วย เพื่อที่จะได้เห็นมุมมองหลาย ๆ ด้าน สร้างองค์ความรู้ นำมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย
1) ด้านการเมือง (Politics)
- หลักการ 5 ข้อเพื่อที่จะทำให้จีนสามารถอยู่ร่วมกับประชาคมโลกได้อย่างสันติ
- เรื่องของการเข้าใจวิธีการคิดของพรรคคอมมิวนิสต์
- ประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของจีน
- ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน
- การทำนโยบายการต่างประเทศของจีนทั้งในอดีตและที่มองออกไปในอนาคต
กรณีศึกษา
- ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จีนลองผิดลองถูกเยอะมาก เรื่องไหนที่ผิดจีนยอมรับและปรับปรุงแก้ไข เรียนรู้ข้อผิดพลาด และเดินหน้าต่อ ในที่สุดโครงการสามารถเดินหน้าไปได้ โดยเมื่อเทียบกับโครงการของประเทศอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่ยังไม่เกิดขึ้น เช่น โครงการ Blue Dot Network (BDN)
- ในแง่เศรษฐกิจ เมื่อปี 2020 อีลอน มัสก์ได้เริ่มสร้างโรงงานประกอบรถยนต์เทสล่าใน 2 แห่ง คือ เยอรมันและจีน ผ่านมา 10 เดือน โรงงานที่จีนสามารถประกอบรถยนต์เทสล่าและจัดจำหน่ายได้แล้ว โดยอีกโครงการที่เยอรมันที่เริ่มระยะเวลาเดียวกัน จนถึงปัจจุบันโรงงานยังไม่ได้สร้าง ซึ่งระบบความคิดของจีนคือ เริ่มต้นไปก่อน เดินหน้าไปก่อน คว้าโอกาสไปก่อน และค่อยๆ ปรับแก้อุปสรรคไปเรื่อย ๆ
2) ด้านเศรษฐกิจ (Economics)
- ทฤษฎีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ทฤษฎีการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของจีน เพื่อนำไปใช้กับการกำหนดนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศอื่นได้ เรียกว่า “Meta-Heuristic Growth Model”
- กระบวนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในจีน ปรับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอนาคต
- การเข้าใจการพัฒนาชนบทจีน มาตราการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ การนำเอาโมเดลธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ ในจีนมาปรับใช้ เพื่อที่จะเข้าใจธุรกิจจีน การพัฒนาเศรษฐกิจจีน
3) ด้านสังคม (Social)
- จีนร่วมสมัย ศึกษาแนวคิดของคนจีนในยุคสมัยใหม่
- การสร้างระบบประกันสุขภาพ ระบบประกันสังคม
- การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในจีน ซึ่งจีนมีกลไกการบริหารที่จะสามารถบังคับการเปลี่ยนแปลงได้ทันที
- การอยู่ร่วมกันของวัฒนธรรมที่หลากหลายของชาติพันธุ์ การสร้างอัตลักษณ์หลัก
2. กลไกการบริหารของจีน
1. การเริ่มต้นใช้นโยบายใหม่ ๆ ‘การทดลอง’ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
เมื่อจีนเริ่มต้นใช้นโยบายหรือปฏิรูปเรื่องใหม่ ๆ การทดลองนำร่องใช้ในพื้นที่ขนาดเล็ก ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อศึกษาเงื่อนไข ข้อจำกัด ปัญหา และความท้าทายที่เกิดขึ้น และปรับปรุงนโยบายให้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลในเขตพื้นที่พิเศษ การเปิดต้อนรับการลงทุนจากต่างเทศในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น ด้านระบบการเงินและธนาคารเริ่มจากมหานครเซี่ยงไฮ้ และอื่น ๆ สำหรับการลองผิดลองถูกในพื้นที่นำร่อง และขยายพื้นที่ออกไปเรื่อย ๆ โครงการ TVEs (Township and Village Enterprises)
2. จีนวางยุทธศาสตร์ระยะยาวอย่างเป็นเหตุเป็นผล – ตั้งเป้า ลงมือ หากผิดพลาด แก้ไข และไม่ทำผิดซ้ำ
จีนวางยุทธศาสตร์ระยะยาวอยู่บนเงื่อนไข ข้อจำกัด และสิ่งที่คาดการณ์ไปในอนาคตด้วยจินตนาการที่อยากจะให้เป็น บนพื้นฐานที่สามารถทำได้จริง เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สถานีอวกาศ เทคโนโลยีควอนตัม โดยหลาย ๆ เทคโนโลยีตั้งเป้าหมายไว้สูง บนเงื่อนไขที่สามารถทำได้จริงและลงมือทำทันที หากในระหว่างที่ทำเกิดปัญหา ยอมรับผิด และจะไม่ทำผิดซ้ำ ค่อย ๆ แก้ไขไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะเข้าไปสู่เป้าหมายนั้น เพื่อสรุปเป็นบทเรียนว่าวิธีการแบบไหนที่เหมาะสม สิ่งไหนที่ต้องทะลายข้อจำกัดและปฏิรูป
กรณีศึกษา
- การแก้ไขปัญหาความยากจนในมณฑลกุ้ยโจว พื้นที่ส่วนใหญ่ในมณฑลกุ้ยโจวเป็นภูเขาและมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธ์ เช่น เหมียว ต้ง มณฑลกุ้ยโจวดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านโมเดลความร่วมมือระหว่างรัฐบาลมณฑลกับนักลงทุน พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เมืองโบราณ อนุรักษ์วิถีชีวิตแบบเดิม รักษาชาติพันธ์ และได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปด้วย โดยหาจุดร่วมกันอย่างลงตัว ปัจจุบันมณฑลกุ้ยโจวมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดอันดับ 5 ของจีน มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงผ่านและเป็นที่ตั้งโครงการพัฒนาด้านอวกาศสำคัญของประเทศ “กล้องโทรทรรศน์วิทยุ FAST” (Five-hundred-meter Aperture Spherical Telescope) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
3. หลักการสำคัญในการมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- เคารพซึ่งกันและกัน (mutual respect)
- มีผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual benefit)
- อยู่ด้วยกันได้อย่างสงบสันติสุข (peacefully coexistence)
3. ระบบของจีนปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของไทย
1. ทดลองใช้นโยบายใหม่ ๆ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย เพื่อส่งเสริมการลงทุน การวิจัยและพัฒนา
ประเทศไทยสามารถทดลองนโยบายใหม่ ๆ หรือผ่อนปรนกฎกติกาในบางพื้นที่ เพื่อง่ายต่อการลงทุน การส่งเสริมวิจัยและพัฒนา การทำการค้า โดยค่อย ๆ ปรับนโยบายให้เหมาะสม เรียนรู้ข้อผิดพลาดระหว่างทาง จากนั้นค่อยขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อจะทำให้ทุกพื้นที่พัฒนาได้ทั้งหมด เช่น ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่ (เชียงราย กาญจนบุรี นราธิวาส หนองคาย นครพนม ตราด สงขลา ตาก สระแก้ว และมุกดาหาร)
2. จัดตั้งโครงการแลกเปลี่ยนบุคคลากรระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางวิชาการ
จัดตั้งโครงการแลกเปลี่ยนบุคคลากรระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจจะเป็นพันธมิตรกับไทยได้ในอนาคต มาเรียนรู้เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ร่วมมือการทำวิจัย เพื่อสร้างเครือข่ายนิสิตนักศึกษาและนักวิชาการ และทำให้นักศึกษาไทยมีวิสัยทัศน์เรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น และสามารถดึงบทบาทของไทยบนเวทีประชาคมอาเซียน บนเวทีกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ การจัดตั้งโครงการลักษณะนี้จะส่งผลดีในระยะยาว ทั้งในแวดวงวิชาการและการสร้างเครือข่ายของประเทศไทยให้ใหญ่ขึ้น โดยศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาฯ เคยทำหน้าที่พวกนี้มาโดยตลอด และเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network: AUN) ตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นพันธมิตรที่ดีในการริเริ่มโครงการรูปแบบนี้กับกระทรวง อว. ในอนาคต
3. จับคู่ความร่วมมือระหว่างสถาบันไทย-จีน
ศึกษาโครงสร้างจัดการศูนย์วิจัยในจีน ตั้งแต่ส่วนกลาง มณฑล และมหาวิทยาลัย ด้วยวิธีการ Mapping เพื่อให้เห็นเครือข่ายศูนย์วิจัยของจีนว่าใครทำเรื่องอะไรและอยู่ที่ไหนบ้าง และนำมาวิเคราะห์ร่วมกับฐานข้อมูลของศูนย์วิจัยในไทย ว่าใครควรจับคู่กับใคร แล้วเริ่มต้นทำงานวิจัยร่วมกัน เชิญนักวิชาการมาบรรยาย ซึ่งการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันทำได้ง่ายและทำได้ทันที
4. วางโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาเทคโนโลยีระยะยาว
เทคโนโลยีในอนาคต ต้องเริ่มจากการวางโครงสร้างพื้นฐานในวันนี้ เราควรเตรียมความพร้อมและสร้างความร่วมมือตั้งแต่วันนี้ เพื่อก้าวทันยุคที่พัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีด้านอวกาศ ควอนตัมคอมพิวติ้ง
5. เตรียมความพร้อมของคน
ปัจจุบันกระทรวง อว. มีบทบาทโดดเด่นในการเตรียความพร้อมของคน สิ่งสำคัญ คือ การนำวิธีคิดระดับนโยบาย ปรับใช้ในระดับมหาวิทยาลัย ระดับสถาบันวิจัย ให้ไปทิศทางเดียวกันได้
Q&A
1) การถ่ายทอดเทคโนโลยีของจีนมาไทย จะทำได้มากน้อยเพียงใด ไทยมีความพร้อมที่จะรับเทคโนโลยีจากจีนมากน้อยแค่ไหน
การถ่ายทอดเทคโนโลยีขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละประเทศ ถึงแม้ว่าเราเป็นฝ่ายดึงดูดเงินลงทุนและให้สิทธิประโยชน์แก่เขา แต่เราก็มีอำนาจต่อรองในการที่จะบอกได้ว่าต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยียังไง ในขณะเดียวกันจีนเองก็ทราบว่าไม่ได้สามารถเหลี่ยงเลี่ยงการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ ยกตัวอย่างเช่น รถไฟความเร็วสูงที่จีนไปลงทุนในแอฟริกาเป็นจำนวนมาก มีทั้งโครงการที่ล้มเหลวและผิดพลาด บางโครงการผ่านมา 30-40 ปีแล้วไม่เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นเพราะว่าจีนไม่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ เลยอาจจะต้องไปอุ้มอยู่จนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นทำให้จีนเองก็รู้ว่าโครงการจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ทำกำไรได้ และจีนได้หนี้คืน ต้องมาพร้อมกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ในขณะที่ประเทศที่รับการลงทุน (host country) ต้องเตรียมบุคลากรของเราเอาไว้ด้วย ว่าถ้าเขาถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วแล้ว เราสามารถที่จะรับเทคโนโลยีที่เขาถ่ายทอดได้ ซึ่งอย่าคิดว่าเป็นเรื่องฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องของทั้งสองฝ่าย ทำยังไงถึงจะทำให้เขาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ในเรื่องที่เราอยากได้ ต้องวางยุทธศาสตร์ให้ดี เราเองก็ต้องเตรียมคนของเราให้พร้อมที่จะรับไปด้วย และพัฒนาคนควรจะต้องรู้ให้ลึกและกว้าง สามารถมองภาพรวมแบบสหสาขาวิชา (multidisciplinary)
2) การที่ไทยใกล้ชิดจีนมากเป็นโอกาสที่ดีกว่าใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาหรือไม่
การต่างประเทศที่ถูกต้องมากที่สุด คือ เราต้องชัดเจนให้ได้ว่าเราไม่เลือกข้าง ข้างเดียวที่เราจะเลือกคือพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศไทย สิ่งสำคัญคือเราควรชัดเจนว่าผลประโยชน์ของประเทศ (national benefit) คืออะไร ถ้าหากอำนาจการต่อรองของไทยไม่พอ จำเป็นไหมที่จะต้องเชื่อม National Benefit ของเรากับผลประโยชน์ในภูมิภาค (regional benefits) อย่างเช่น เชื่อมผลประโยชน์กับอาเซียน เดินหน้าโดยใช้อาเซียนเป็นเวทีในการต่อรอง แล้วเรื่องไหนที่เราสามารถมีผลประโยชน์ร่วมกับจีนได้ก็มีผลประโยชน์ร่วมกับจีน เรื่องไหนมีผลประโยชน์ร่วมกับอเมริกาได้ก็มีผลประโยชน์ร่วมกับอเมริกา เป็นสิ่งที่เรียกว่าการสร้างดุลอำนาจ (strategic hedging) เพื่อทำให้รักษาผลประโยชน์ของประเทศได้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งเราต้องสนใจเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ (geopolitical economy) ปัจจุบันเราไม่สามารถมองเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากศาสตร์เดียวได้ ควรจะต้องรู้ทั้งลึกและกว้าง มองภาพรวมแบบสหสาขาวิชา (multidisciplinary)
3) โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจีน-ลาว ส่งผลกระทบด้านลบต่อไทยไหม
ผลกระทบของไทย คือ ไทยไม่สามารถพัฒนาระบบรางของประเทศไทยขึ้นมาและเชื่อมโยงกับประเทศอื่น ๆ ได้ จะทำให้เราเสียโอกาสในการมีทางเลือกระบบโลจิสติก เชื่อมประเทศเข้าสู่ตลาด แหล่งทรัพยากร ห่วงโซ่มูลค่า ผลกระทบทางลบไม่ได้เกิดขึ้นจากที่เขาสร้างรถไฟมา จะเกิดจากการที่เราไม่สามารถสร้างเส้นทางรถไฟภายในประเทศและไปเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้ ซึ่งเป็นผลกระทบต่อไทยมากที่สุด
4) มีวิธีไหนที่จะให้คนไทยมองคนจีนในมุมใหม่ว่าคนจีนในยุคปัจจุบันไม่ได้เหมือนคนจีนที่อพยพไปอยู่โพ้นทะเลแบบสมัยก่อนแล้ว เพื่อให้คนไทยเปิดกว้างยอมรับผลประโยชน์/ข้อดีที่ได้จากจีนมากขึ้น
คนจีนโพ้นทะเลเชื้อสายจีนกับคนจีนในประเทศจีนปัจจุบันเป็นคนละยุคคนละช่วงเวลา ยกตัวอย่างวิธีการเรียนรู้กันได้ เช่น เพจ อินฟลูเอนเซอร์ที่สื่อสารบนสื่อออนไลน์ เป็นเครื่องมือที่ดีในการที่ทำให้คนเข้าถึงแล้วก็เข้าใจคนอื่น ๆ ได้ แต่ Mindset ของคนนำเสนอเองก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะบางคนนำเสนอบางเรื่องโดยมีอคติ
สิ่งสำคัญ คือ ทำยังไงให้เราสามารถที่จะมองจีนในรูปแบบที่เป็นจริง ๆ แล้วเข้าใจโดยเปิดกว้างว่ามันมีความหลากหลาย อย่าจำแต่ภาพเดิม ๆ ที่เราอาจจะเคยมีกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้วการเหมารวม (stereotype) ในที่สุดจะไม่เป็นผลดีกับใครเลย ทางที่ดีที่สุดในการมองเรื่องของคนคือพยายามคิดในทางบวกและพยายามที่จะคิดโดยเอาใจเขามาใส่ใจเรา อาจด้วยเงื่อนไขบริบททางสังคม ทางเศรษฐกิจ เลยแสดงออกมาด้วยวิธีการคิดแบบนี้