COVID-19 ไม่กระทบโปรเจกต์ “ม้าเหล็ก” สายที่ 2 ชิดชายแดนกว่างซี-เวียดนาม

ไฮไลท์

  • รถไฟความเร็วสูงเส้นทาง “ฝางเฉิงก่าง-ตงซิง” เดินหน้าต่อแล้ว หลังจากคนงานกว่า 200 คนกลับมาทำงานปกติ โดยคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในปี 2564 ซึ่งจะช่วยร่นเวลาเดินทางระหว่าง “นครหนานหนิง-เมืองฝางเฉิงก่าง-เมืองตงซิง” ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง (เทียบกับทางรถยนต์ที่ใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง)
  • รถไฟเส้นทาง “ฝางเฉิงก่าง-ตงซิง”เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกที่จีนสร้างประชิดชายแดนเวียดนาม โดยชุมชนของเมืองตงซิงกับเมืองหม่งก๋าย (Mong Cai) ตั้งอยู่ติดกัน โดยมีเพียงแม่น้ำเป่ยหลุนกั้นกลางเท่านั้น และเป็นรถไฟสายที่ 2 ที่กว่างซีสร้างไปยังชายแดนจีน-เวียดนาม ต่อจากรถไฟสาย “นครหนานหนิง-เมืองผิงเสียง-กรุงฮานอย”
  • โครงการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของเมืองฝางเฉิงก่างในยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ของรัฐบาลกลาง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการเปิดสู่ภายนอกของกว่างซี นับเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญในการบุกเบิกเส้นทางมุ่งลงใต้ของจีนและเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเขตนำร่องการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกแห่งชาติเมืองตงซิง

 

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง พร้อมเดินหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง “ฝางเฉิงก่าง-ตงซิง” หลังจากคนงานกว่า 200 คน ได้กลับมาทำงานปกติตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70% ของคนงานทั้งหมด

รถไฟความเร็วสูงเส้นทาง “ฝางเฉิงก่าง-ตงซิง” เป็นส่วนต่อขยายของเส้นทางรถไฟเลียบชายฝั่งทะเลรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 เป็นรถไฟทางคู่ ระยะทาง 47.6 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (รองรับความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ใช้เงินลงทุน 6,480 ล้านหยวน โดยคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในปี 2564 เริ่มต้นจากสถานีฝางเฉิงก่างเป่ย (Fangchenggang North Station) – สถานีตงซิง (Dongxing Station)

ความน่าสนใจของเส้นทางรถไฟสายนี้ มีดังนี้

  • เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกที่จีนสร้างประชิดชายแดนเวียดนาม โดยชุมชนของเมืองตงซิงกับเมืองหม่งก๋าย (Mong Cai) ตั้งอยู่ติดกัน มีเพียงแม่น้ำเป่ยหลุนกั้นกลางเท่านั้น
  • เป็นรถไฟสายที่ 2 ที่เขตฯ กว่างซีจ้วงสร้างไปยังชายแดนจีน-เวียดนาม ต่อจากรถไฟสาย “นครหนานหนิง-เมืองผิงเสียง-กรุงฮานอย” (รถไฟธรรมดา)
  • มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาเส้นทางรถไฟมุ่งลงใต้จีน(กว่างซี)-อาเซียน โดยสามารถเชื่อมเมืองตงซิงกับเส้นทางรถไฟเส้นทาง “ฮานอย-ไฮฟอง และหม่งก๋าย” ตามที่วางแผนไว้
  • ร่นเวลาการเดินทางระหว่าง “นครหนานหนิง-เมืองฝางเฉิงก่าง-เมืองตงซิง” โดยใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์ต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง

“เมืองฝางเฉิงก่าง” เป็นเมืองท่าสำคัญที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย) กำกับดูแลอำเภอระดับเมืองตงซิง ซึ่งเป็นเมืองเดียวของประเทศจีนที่มีพรมแดนติดกับประเทศเวียดนามที่เมืองหม่งก๋าย จังหวัดกวางนิงห์ (Quang Ninh) นับเป็นช่องทางการติดต่อกับอาเซียนที่มีความสะดวกและรวดเร็วที่สุดของจีน

โครงการก่อสร้างรถไฟสายดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของเมืองฝางเฉิงก่างในยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ของรัฐบาลกลางสอดคล้องกับนโยบายการเปิดสู่ภายนอกของกว่างซี นับเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญในการบุกเบิกเส้นทางมุ่งลงใต้ของจีนและเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเขตนำร่องการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกแห่งชาติเมืองตงซิง (Guangxi Dongxing National Key Experimental Zone for Development and Opening-up/东兴国家重点开发开放试验区)

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมืองไป่เซ่อ (Baise City/百色市) ซึ่งเป็นอีกเมืองชายแดนของกว่างซีที่มีพรมแดนติดกับจังหวัดกาวบั่ง (Cao Bang) ของเวียดนาม ก็กำลังพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟชิดชายแดนเวียดนามเส้นทาง “อำเภอระดับเมืองจิ้งซี-อำเภอหลงปัง” ซึ่งเป็นที่ตั้งของด่านหลงปัง-ด่าน Tra Linh ของเวียดนามอยู่ด้วย

ความเคลื่อนไหวที่กล่าวมาสะท้อนถึงความกระตือรือร้นของกว่างซีในการสร้างความเชื่อมโยงกับอาเซียนตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลกลางที่กำหนดยุทธศาสตร์ให้กว่างซีเป็น“ประตูสู่อาเซียน/Gateway to ASEAN” ซึ่งกลไกดังกล่าวนับเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเขตฯ กว่างซีจ้วง และอาเซียนก็สามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับจีนได้เช่นกัน

นอกจากนี้ หากเวียดนามสามารถพัฒนารถไฟเส้นทางหลักกรุงฮานอย-นครโฮจิมินห์ และพัฒนาเส้นทางรถไฟจากกรุงฮานอยไปยังตอนเหนือของประเทศได้ ก็จะช่วยให้การส่งผู้โดยสารและสินค้านำเข้า/ส่งออกระหว่างเวียดนาม-จีนทำได้สะดวกรวดเร็ว ซึ่งประเทศไทยก็สามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟดังกล่าวเช่นกัน

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新社广西新闻) วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563
เครดิตภาพ http://news.sina.com.cn

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]