ไฮไลท์
- รถไฟความเร็วสูงกุ้ยหนาน (นครกุ้ยหยาง-นครหนานหนิง) กลับมาดำเนินการก่อสร้างอีกครั้งหลังจากที่ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566 ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาเดินทางระหว่างสองเมืองเหลือเพียงไม่ถึง 2 ชั่วโมงเท่านั้น
- มีระยะทาง 482 กิโลเมตร โดยเป็นเส้นทางรถไฟที่มีความยากในก่อสร้างมากที่สุดในโลกเส้นทางหนึ่ง และเป็นเส้นทางที่มีสัดส่วนของสะพานและอุโมงค์มากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วน 89% ของเส้นทาง
- เป็นรถไฟความเร็วสูงเส้นทางแรกของกว่างซีที่ได้รับการออกแบบให้วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2566 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนงานพัฒนาโครงข่ายรถไฟระยะกลาง-ระยะยาว” (ปี 2559-2573) ของประเทศจีน
- การก่อสร้างใช้เวลานานถึง 6 ปี เนื่องจาก“สภาพภูมิประเทศ” และ “โครงสร้างทางธรณีวิทยา” ที่มีความสลับซับซ้อน พื้นที่ภูเขาสูง (ผาตั้ง) ในมณฑลกุ้ยโจว และพื้นที่ภูเขา Karst (หินปูน โพรงถ้ำ) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร่องเขาลึกที่ค่อนข้างอันตราย
- รถไฟเส้นทางดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ช่วยลดต้นทุนเวลาการเดินทาง ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุน การจ้างงาน การขยายตัวของเมือง และการกระจายความเจริญสู่พื้นที่ห่างไกล
โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง “กุ้ยหนาน” (นครกุ้ยหยาง-นครหนานหนิง) เริ่มดำเนินการก่อสร้างต่อแล้วหลังจากที่ต้องหยุดต่อเนื่องจากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ขณะนี้ มีแรงงานกลับเข้าทำงานแล้ว 300 กว่าคน และคาดว่าจะกลับมาทำงานเพิ่มเป็น 700 คน ในระยะเวลาอันใกล้ โดยก่อนที่แรงงานจะกลับเข้าทำงาน ได้มีการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดตามข้อกำหนดแล้ว
รถไฟความเร็วสูงกุ้ยหนาน เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเปาโถว (เขตฯ มองโกเลียใน) – ไห่หนาน ภายใต้ “แผนงานพัฒนาโครงข่ายรถไฟระยะกลาง-ระยะยาว” (ปี 2559-2573) และเป็นเส้นทางหลักที่ช่วยให้การคมนาคมระหว่างมณฑลกุ้ยโจวกับเขตฯ กว่างซีจ้วง เกิดความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
รถไฟความเร็วสูงกุ้ยหนาน “นครกุ้ยหยาง-นครหนานหนิง” เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2560 เป็นเส้นทางรถไฟทางคู่ที่มีระยะทาง 482 กิโลเมตร อยู่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง 282 กิโลเมตร และมณฑลกุ้ยโจว 199 กิโลเมตร มีทั้งหมด 15 สถานี เป็นรถไฟความเร็วสูงเส้นทางแรกของกว่างซีที่ได้รับการออกแบบให้วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เงินลงทุน 75,760 ล้านหยวน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม ปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 6 ปี
ปัจจุบัน การเดินทางด้วยรถไฟระหว่างนครหนานหนิง-นครกุ้ยหยาง มี 2 ทางเลือก คือ (1) รถไฟธรรมดาวิ่งตรงใช้เวลามากกว่า 11 ชั่วโมง และ (2) รถไฟความเร็วสูงที่ต้องเปลี่ยนเที่ยวขบวนที่เมืองกุ้ยหลิน ใช้เวลามากกว่า 5 ชั่วโมง หลังจากเปิดให้บริการ การเดินทางระหว่างเมืองเอกของสองมณฑลจะใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงเท่านั้น
สำหรับการเดินทางในเขตฯ กว่างซีจ้วง การก่อสร้างรถไฟเส้นทางนี้มีนัยสำคัญว่า 14 เมืองในกว่างซีจะมีโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมถึงกันทุกเมือง โดย “เมืองเหอฉือ” จะเป็นเมืองสุดท้ายของกว่างซีที่มีรถไฟความเร็วสูงใช้ ซึ่งจะร่นเวลาการเดินทางระหว่างเมืองเหอฉือ-นครหนานหนิงเหลือเพียง 1 ชั่วโมง
รถไฟความเร็วสูงสายนี้ได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางรถไฟที่มีความยากในก่อสร้างมากที่สุดในโลกเส้นทางหนึ่ง และเป็นเส้นทางที่มีสัดส่วนของสะพานและอุโมงค์มากที่สุดในโลก ความท้าทายของงานก่อสร้างอยู่ที่ “สภาพภูมิประเทศ” และ “โครงสร้างทางธรณีวิทยา” ที่มีความสลับซับซ้อน พื้นที่ภูเขาสูง (ผาตั้ง) ในมณฑลกุ้ยโจว และพื้นที่ภูเขา Karst (หินปูน โพรงถ้ำ) ของเขตฯกว่างซีจ้วง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร่องเขาลึกที่ค่อนข้างอันตราย
ถึงแม้เส้นทางรถไฟที่มีความยาวเพียง 482 กิโลเมตร แต่ต้องสร้างสะพานถึง 188 แห่ง ความยาวสะพานรวม 178 กิโลเมตร และต้องเจาะอุโมงค์ 106 แห่ง ความยาวอุโมงค์รวม 252.048 กิโลเมตร โดยเส้นทางที่เป็นสะพานกับอุโมงค์คิดเป็น 89% ของเส้นทางทั้งหมด นับเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในโลก
รถไฟเส้นทางดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่จีนตะวันตกแบบรอบด้าน ยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ช่วยลดต้นทุนเวลาการเดินทาง ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุน การจ้างงาน การขยายตัวของเมือง และการกระจายความเจริญสู่พื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะ “การขจัดปัญหาความยากจน” จากการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในเขตชนบท อย่างในอำเภอปกครองตนเองชนชาตเย้าตูอัน เมืองเหอฉือ (ทางผ่านของรถไฟฯ) มีหมู่บ้านยากจน 65 หมู่บ้าน มีคนจนอยู่ราว 1.75 หมื่นคน ในระยะแรกของการก่อสร้างรถไฟเส้นทางนี้ ได้สร้างงานให้ผู้ยากจนในอำภอตูอันแล้วมากกว่า 200 ครัวเรือน และจะมีการจ้างงานเพิ่มอีก 200 กว่า ครัวเรือนในอนาคต
จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์ พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนณนครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนณนครหนานหนิง
ที่มาเว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2563
เว็บไซต์ www.chinadaily.com.cn (中国日报) ประจำวันที่ 7 มีนาคม 2563
รูปประกอบ www.pixabay.com