ไฮไลท์
- รัฐบาลกว่างซีริเริ่มพิจารณาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจาก “เมืองฉงจั่ว-อำเภอระดับเมืองผิงเสียง” ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนครหนานหนิง-เมืองฉงจั่วที่กำลังสร้างอยู่ในปัจจุบัน คาดว่าพร้อมก่อสร้างได้ภายในปี 2563 โดยจะใช้เวลาก่อสร้างนาน 4 ปี
- หากได้รับการอนุมัติ รถไฟความเร็วสูงจาก “เมืองฉงจั่ว-อำเภอระดับเมืองผิงเสียง” จะเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางที่ 2 ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่สร้างประชิดชายแดนประเทศเวียดนาม ต่อจากเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเมืองฝางเฉิงก่าง-อำเภอระดับเมืองตงซิง
- ในอนาคต เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเมืองฉงจั่ว-อำเภอระดับเมืองผิงเสียง จะสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในอาเซียนแบบไร้รอยต่อ จากเขตฯ กว่างซีจ้วง เข้าสู่เวียดนามที่เมืองด่งดัง (Dong Dang) จังหวัดลางเซิน – กรุงฮานอย – เวียงจันทน์ – กรุงเทพฯ – กัวลาลัมเปอร์ – สิงคโปร์
เมื่อไม่นานมานี้ กรมคมนาคมขนส่งเขตฯ กว่างซีจ้วง ได้เริ่มพิจารณาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็งสูงจากเมืองฉงจั่ว-อำเภอระดับเมืองผิงเสียง ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนครหนานหนิง-เมืองฉงจั่วที่กำลังสร้างอยู่ในปัจจุบัน คาดว่าพร้อมก่อสร้างได้ภายในปี 2563 นี้ โดยจะใช้เวลาก่อสร้างนาน 4 ปี
โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็งสูงเมืองฉงจั่ว-อำเภอระดับเมืองผิงเสียง จะเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางที่ 2 ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่สร้างประชิดชายแดนประเทศเวียดนาม ต่อจากเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเมืองฝางเฉิงก่าง-อำเภอระดับเมืองตงซิง
ในอนาคต เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเมืองฉงจั่ว-อำเภอระดับเมืองผิงเสียงจะสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในอาเซียนแบบไร้รอยต่อ จากเขตฯ กว่างซีจ้วง เข้าสู่เวียดนามที่เมืองด่งดัง (Dong Dang) จังหวัดลางเซิน – กรุงฮานอย – เวียงจันทน์ – กรุงเทพฯ – กัวลาลัมเปอร์ – สิงคโปร์
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัท China Railway 14th Bureau Group Co.,Ltd. (中铁十四局集团有限公司) ผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว ได้เร่งผลักดันงานก่อสร้างโครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงนครหนานหนิง-เมืองฉงจั่วให้ได้ตามเป้าหมาย รถไฟเส้นทางดังกล่าวมีระยะทาง 119.3 กม. วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ภายในปี 2565 ช่วยย่นระยะเวลาเดินทางจากเดิม 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 30 นาที
ปัจจุบัน การก่อสร้างตอหม้อสะพานรองรับรางรถไฟมีความคืบหน้าไปมาก ส่วนการขุด “อุโมงค์หลิวชุน” (Liucun tunnel/留村隧道) ซึ่งเป็นส่วนที่มีความยากลำบากในการก่อสร้างมากที่สุดของโครงการ ได้มีการเริ่มขุดไปแล้ว 170 เมตร และคาดว่าจะขุดเสร็จในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2564
อุโมงค์หลิ่วชุนเป็นอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงแห่งแรกในเขตฯ กว่างซีจ้วงที่ใช้วิธีการขุดเจาะอุโมงค์ด้วยโล่ขนาดใหญ่ประเภท Slurry Pressure Balance Shield (SPB) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12.86 เมตร ตัวอุโมงค์มีความยาวรวม 5,725 เมตร เป็นการขุดเจาะอุโมงค์แบบเปิดหน้าดินบริเวณปากทางอุโมงค์ 1,240 เมตร และการขุดเจาะแบบปิดด้วยโล่ขุดเจาะขนาดใหญ่ 4,006 เมตร
ตัวอุโมงค์ออกแบบเป็น “อุโมงค์รถไฟทางคู่” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผนังอุโมงค์รอบนอก 12.4 เมตร และผนังอุโมงค์รอบใน 11.3 เมตร แผ่นคอนกรีตผนังอุโมงค์แบบโค้งวงกลมมีความกว้าง 2 เมตร ความหนา 0.55 เมตร ซึ่งระหว่างการขุดเจาะก็จะทำการติดตั้งผนังคอนกรีตไปด้วย ทำให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยลดผลกระทบต่อการจราจรบนถนน ลดเสียงรบกวนและแรงสั่นสะเทือนบริเวณรอบ ๆ ระหว่างการก่อสร้าง
การขุดเจาะอุโมงค์หลิวชุนเป็นงานวิศวกรรมที่มีความท้าทายสูง เนื่องจากต้องขุดเจาะลอดใต้รถไฟความเร็วสูง 6 สาย รถไฟใต้ดิน 1 สาย ถนนสายหลัก 6 เส้น และกลุ่มอาคารปลูกสร้างอีก 12 แห่ง กอปรกับสภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยาที่มีความซับซ้อนของชั้นดินและชั้นหินในพื้นที่ก่อสร้าง สภาพดินมีความหนืดสูง มีระดับการหดตัวและขยายตัวสูง และเป็นโพรงชั้นหินทราย หน้าตัดในการขุดเจาะอุโมงค์คิดเป็น 4 เท่าของการก่อสร้างรถไฟใต้ดิน ปริมาณเศษดินจากการขุดเจาะอยู่ที่ 7 แสนลูกบาศก์เมตร และเศษวัสดุอื่นอีก 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร
อุโมงค์รถไฟความเร็วสูงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จะแวะจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง ภายใต้โครงการพัฒนา “ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน” (Ground Transportation Centre – GTC) เพื่อการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในทุกมิติสำหรับการบริการสาธารณะ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าใต้ดิน และรถโดยสารประจำทาง ซึ่งจะช่วยทำให้สนามบินกับสถานีรถไฟความเร็วสูงสามารถเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อได้อย่างสมบูรณ์
ที่สำคัญ การก่อสร้างอุโมงค์ได้นำโซลูชันการจัดการก่อสร้างอัจฉริยะผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ได้แก่ ระบบควบคุมตรวจสอบระยะไกลแบบอัตโนมัติ (Remote Automatic Monitoring System) และระบบการจัดการทำงานร่วมกัน (Collaborative Management) มาใช้เพื่อให้สามารถควบคุมงานก่อสร้างแบบอัจฉริยะได้ตลอดทั้งกระบวนการ
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (广西中新社) วันที่ 2 พฤษภาคม 2563
เครดิตภาพ http://nanping.tiaomu.com/