• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • เซี่ยงไฮ้เปิดตัว “E-passport” กระตุ้นการท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด-19 – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

เซี่ยงไฮ้เปิดตัว “E-passport” กระตุ้นการท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด-19 – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

คลิปวิดิโอ A new cultural and tourism promotion of Shanghai

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2563 รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้เปิดตัว “E-passport” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่อยู่ภายในแอปพลิเคชัน Visit Shanghai (แอปฯ ท่องเที่ยวของเซี่ยงไฮ้) โดยอีพาสปอร์ตจัดเป็นหนึ่งในมาตรการช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายหลังที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

แพลตฟอร์ม E-passport ดีอย่างไร? หลัก ๆ คือช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเซี่ยงไฮ้ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยการแจกคูปองลดราคา โปรโมชั่น รวมไปถึงการสะสมแต้มให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการ ทั้งยังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวในเซี่ยงไฮ้ที่ผู้ใช้สามารถเข้ารับข้อมูลได้ด้วยระบบเสมือนจริง รวมไปถึงข้อมูลร้านอาหารและการเดินทางด้วย โดยส่วนลดที่นักท่องเที่ยวจะได้รับนั้นครอบคลุมส่วนลดสำหรับเข้าพักโรงแรมและบัตรท่องเที่ยวต่าง ๆ อาทิ บัตรเที่ยวเซี่ยงไฮ้รายวัน และบัตรเที่ยวรายปีในเขตพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ฯลฯ ซึ่งมีตัวเลือกมากมายกว่า 100 รายการ

ทั้งนี้ รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ต้องการจะเชื่อมช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเข้าไว้ด้วยกัน อีกทั้งประกอบกับสถานการณ์ในช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมาไม่เพียงแต่จะทำให้การท่องเที่ยวซบเซาลง แต่ผู้คนยังคงหวาดระแวงการออกจากบ้าน ซึ่งได้ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวมิอาจฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว การจัดกิจกรรมดังกล่าวจึงอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้ไม่น้อย อีกทั้งยังส่งผลดีให้ประชาชนได้ออกมาผ่อนคลายและฟื้นฟูสภาพจิตใจ รวมถึงลดความกังวลในการกลับมาใช้ชีวิตปกติหลังการกักตัวมาหลายเดือนด้วย

..                 

อย่างไรก็ดี ประชาชนในบางพื้นที่ที่อาจจะยังอยู่ภายใต้การควบคุมและเฝ้าระวัง จึงยังไม่สามารถท่องเที่ยวได้อย่างอิสระ แต่ก็สามารถที่จะไปเที่ยวได้เช่นกันแม้ว่าจะอยู่บ้าน เพราะเหล่าธุรกิจท่องเที่ยวต่างปรับตัวโดยประยุกต์ใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้าช่วยด้วยการจัดกิจกรรมถ่ายทอดสดท่องเที่ยว พร้อมกับนำเสนอสินค้าและบริการกันสด ๆ ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ส่งผลให้เกิดเป็นกระแสท่องเที่ยวออนไลน์อยู่ในขณะนี้

อยู่บ้าน… ก็เที่ยวได้ ง่าย ๆ แค่มีอินเทอร์เน็ต

การปรับตัวของบริษัทในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจีนช่วงสภาวะการแพร่ระบาดฯ นับว่าน่าจับตามอง ด้วยกระแสตอบรับที่ดีจากเหล่าผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยวแต่ไม่สามารถออกเดินทางได้อย่างอิสระมากนักในช่วงนี้ ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ ต่างหันมาวางแผนลงทุนใน “Tourism Webcast” หรือการถ่ายทอดสดท่องเที่ยวนั่นเอง

ยกตัวอย่างเว็บไซต์ท่องเที่ยวครบวงจรชั้นนำของจีนอย่าง Trip.com ก็ได้ปรับใช้กลยุทธ์นี้ด้วยเช่นกัน โดยนาย James Liang ประธานบริษัทฯ ได้เดินทางไปยัง 6 มณฑลในจีนด้วยตนเอง ภายในระยะเวลา 1 เดือน (มีระยะเดินทางรวมกว่า 9,000 ก.ม.) เพื่อทำการถ่ายทอดสดแบ่งปันบรรยากาศของสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ พร้อมกับเสนอขายแพคเกจท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไปด้วย ซึ่งสร้างรายได้ไปร่วมกว่า 100 ล้านหยวนในการออกอากาศเพียง 6 ครั้ง ขณะเดียวกัน เมื่อปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเซี่ยงไฮ้ก็ได้ร่วมกับผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวจัดถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ Lvmama.com (บริษัทผู้ดำเนินการเว็บไซต์ท่องเที่ยวของเซี่ยงไฮ้) ด้วย ซึ่งช่วยกระตุ้นกระแสการท่องเที่ยวภายหลังการแพร่ระบาดที่เริ่มคลี่คลายลงแล้วเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ เว็บไซต์รัฐบาลเซี่ยงไฮ้รายงานว่า บริษัทด้านการท่องเที่ยวในจีนต่างวางแผนที่จะลงทุนด้านการถ่ายทอดสดผ่านทางเว็บไซต์ในวงกว้าง ซึ่งมีบริษัทฯ มากกว่าร้อยละ 40 จากทั้งหมดในจีนจะทุ่มเงินทุนประมาณ 10,000-50,000 หยวน มีบริษัทฯ อีกร้อยละ 12.79 จะลงทุนประมาณ 100,000 หยวน และบริษัทฯ อีกร้อยละ 3.88 จะทุ่มเงินลงทุนมากกว่า 100,000 หยวน นอกจากนี้ เว็บไซต์ฯ ยังระบุด้วยว่าผู้ชมการถ่ายทอดสดด้านท่องเที่ยวส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50 เป็นผู้ชมที่เกิดหลังปี ค.ศ. 1985 เป็นต้นไป (อายุต่ำกว่า 35 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สนใจในความสดใหม่ที่ถ่ายทอดออกมาแบบสด ๆ ร้อน ๆ ณ ขณะนั้น (มิใช่การบันทึกไว้ล่วงหน้า) ดังนั้นการถ่ายทอดสดท่องเที่ยวจึงเติมเต็มทั้งความบันเทิงและตอบรับกลุ่มคนเหล่านี้ได้อย่างดี

บทสรุป

ย้อนกลับมามองประเทศไทยที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจัดเป็นอุตสาหกรรมต้น ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การรับมือและปรับตัวภายหลังภาวการณ์แพร่ระบาดนั้นอาจเป็นความท้าทายอย่างมากต่อธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ที่จะต้องดึงความมั่นใจจากลูกค้าและนักท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ดี BIC หวังเป็นอย่างยิ่งว่าไอเดียที่ได้นำเสนอในข่าวนี้จะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยนำไปพิจารณาปรับใช้ตามเหมาะสม หลังจากที่เห็นแล้วว่ากลยุทธ์นี้มีกระแสตอบรับที่ดีและใช้ได้ผลจริงในจีน

 

********************************

 

จัดทำโดย: น.ส. พรฤทัย ศักดิ์สกุลพรชัย/ ศูนย์ BIC นครเซี่ยงไฮ้
ที่มา: เว็บไซต์ Sh.gov.cn หัวข้อ E-passport aims to spur tourism industry ลงวันที่ 24 เม.ย. 2563/ http://www.shanghai.gov.cn/shanghai/n46669/n48081/u22ai128902.html
และหัวข้อ Cloud tours become the trend as webcasts revitalize travel market ลงวันที่ 27 เม.ย. 2563/ http://www.sh.gov.cn/shanghai/n46669/n48081/u22ai128887.html
วิดิโอส่งเสริมการท่องเที่ยวล่าสุดของนครเซี่ยงไฮ้ ลงวันที่ 20 ก.ค. 2563/ https://www.shine.cn/news/metro/2005208481/

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]