ไฮไลท์
- เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีแผนก่อสร้างเส้นทางรถไฟขนส่งตู้คอนเทนเนอร์แบบสองชั้นในเส้นทาง “นครกุ้ยหยาง-นครหนานหนิง-ท่าเรือชินโจว” ซึ่งจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางรถไฟที่สำคัญในกรอบยุทธศาสตร์ “ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” (NWLSC)
- เส้นทางรถไฟขนส่งตู้สินค้าเป็นระบบรางรถไฟฟ้าทางคู่ (Electric traction) วิ่งด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทาง 630 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนรวมราว 9.2 หมื่นล้านหยวน โดยมีระยะทางที่อยู่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง 480 กิโลเมตร (76.2% ของเส้นทาง) ใช้เงินลงทุนราว 7 หมื่นล้านหยวน (76.1% ของเงินลงทุนรวม)
- จุดเด่นของรถไฟเส้นทางดังกล่าว คือ รถไฟเส้นทางตรง (Direct route) ระหว่างมณฑลทางภาคตะวันตกเฉียงหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้กับท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย”) ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้า(ตู้คอนเทนเนอร์ซ้อนสองชั้น)แล้ว ยังช่วยย่นระยะทาง ระยะเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าได้อย่างมาก
เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้เปิดประมูลงานวิจัยแผนงานก่อสร้างเส้นทางรถไฟขนส่งตู้คอนเทนเนอร์แบบสองชั้นในเส้นทาง “นครกุ้ยหยาง-นครหนานหนิง-ท่าเรือชินโจว” ซึ่งจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางรถไฟที่สำคัญในกรอบยุทธศาสตร์ “ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” (New Western Land-Sea Corridor – NWLSC /西部陆海新通道)
เส้นทางรถไฟขนส่งตู้สินค้าดังกล่าวเป็นระบบรางรถไฟฟ้าทางคู่ (Electric traction) วิ่งด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทาง 630 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนรวมราว 9.2 หมื่นล้านหยวน โดยมีระยะทางอยู่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง 480 กิโลเมตร (76.2% ของเส้นทาง) ใช้เงินลงทุนราว 7 หมื่นล้านหยวน (76.1% ของเงินลงทุนรวม)
ปัจจุบัน มณฑลกุ้ยโจวเป็นทางผ่านของการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างพื้นที่ตอนในทางภาคตะวันตกกับท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ แต่ยังไม่มีเส้นทางตรงจากเมืองในมณฑลกุ้ยโจวมาถึงนครหนานหนิง (ต้องอ้อมผ่านเมืองต่างๆ) อีกทั้ง รถไฟความเร็วสูง “นครกุ้ยหยาง-นครหนานหนิง” (ความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ที่กำลังดำเนินการสร้างอยู่ในขณะนี้ใช้เฉพาะการขนส่งผู้โดยสารเท่านั้น (ไม่รองรับการขนส่งสินค้า)
ขณะที่โครงการก่อสร้างรถไฟขนส่งสินค้าและผู้โดยสารในเส้นทางสายตะวันตก “เมืองไป่เซ่อ-หวงถ่ง (มณฑลกุ้ยโจว)” ที่รัฐบาลกว่างซีวางแผนจะดำเนินการภายในปี 2563 (ระบบรางรถไฟฟ้าทางเดี่ยว วิ่งด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) แม้จะสั้นกว่าเส้นทางอื่น แต่ก็ยังอ้อมอยู่เช่นกัน
ประโยชน์ของเส้นทางรถไฟสายดังกล่าว คือ การเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางรถไฟเส้นตรง (Direct route) ระหว่างมณฑลทางภาคตะวันตกเฉียงหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้กับท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย”) ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้า (ตู้คอนเทนเนอร์ซ้อนสองชั้น) แล้ว ที่สำคัญยังช่วยย่นระยะทาง ระยะเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าได้อย่างมาก
ความเคลื่อนไหวข้างต้นสะท้อนให้เห็นความกระตืนรือร้นของเขตฯ กว่างซีจ้วงในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อส่งตัวเองให้ไปถึงเป้าหมายการเป็น “ฮับ” โลจิสติกส์ของจีนตะวันตกกับต่างประเทศ(อาเซียน) ผ่านระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบทาง “เรือ+รถไฟ” โดยมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้และนครหนานหนิงเป็นหัวใจสำคัญของแผนงานดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่งดังกล่าวในการขนส่งสินค้าที่สะดวกรวดเร็วได้เช่นกัน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 17 มิถุนายน 2563
รูปประกอบ www.360che.com