• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ยังไม่เข็ด กว่างซีจับกุมและทำลายทุเรียน (ไทย) ที่นำเข้าแบบผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ยังไม่เข็ด กว่างซีจับกุมและทำลายทุเรียน (ไทย) ที่นำเข้าแบบผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศุลกากรในพื้นที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงพบปัญหาการลักลอบนำเข้าทุเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เจ้าหน้าที่หน่วยสืบสวนและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสิ่งผิดกฎหมายด่านศุลกากรสุยโข่วในเมืองฉงจั่ว ได้เข้าจับกุมและทำลายทุเรียน (ไทย) ที่นำเข้าแบบผิดกฎหมายอีกครั้ง ได้ของกลางน้ำหนัก 49.58 ตัน รวมมูลค่า 1.2 ล้านหยวน
  • ผู้ส่งออกผลไม้ไทยต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดในการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนอย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนผู้ส่งออกผักและผลไม้ การขอและออกใบรับรองสุขอนามัย รวมถึงข้อกำหนดเฉพาะสำหรับผลไม้บางชนิด
  • นอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนเกี่ยวกับชนิดของผลไม้ที่ประเทศจีนอนุญาตให้นำเข้าได้ รวมถึงการส่งผลไม้ไทยไปจีนผ่านทางบกเข้าที่ด่านในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงและมณฑลยูนนาน โดยด่านที่สามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้ต้องเป็นด่านสากลที่อยู่ภายใต้พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยกับจีนเท่านั้น รวมทั้งต้องติดตามสถานะของด่านด้วยว่าสามารถนำเข้าได้จริงในทางปฏิบัติแล้วหรือไม่

 

เจ้าหน้าที่หน่วยสืบสวนและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสิ่งผิดกฎหมายด่านศุลกากรสุยโข่วในเมืองฉงจั่วของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้เข้าจับกุมและทำลายทุเรียน (ไทย) ที่นำเข้าแบบผิดกฎหมายอีกครั้ง ได้ของกลางน้ำหนัก 49.58 ตัน รวมมูลค่า 1.2 ล้านหยวน

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศุลกากรในพื้นที่เขตฯ กว่างซีจ้วง พบปัญหาการลักลอบนำเข้าทุเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรสุยโข่ว ได้จับกุมและสั่งทำลายทุเรียนที่นำเข้าแบบผิดกฎหมายมาแล้ว 18.88 ตัน รวมมูลค่าสินค้า 3 แสนหยวน

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 เกิดเหตุเรือลักลอบบรรทุกทุเรียนล่มลงบริเวณพื้นที่น่านน้ำหาดว่านเหว่ยจินทานในอำเภอระดับเมืองตงซิงในเมืองฝางเฉิงก่าง โดยไม่ทราบแหล่งที่มาของทุเรียน ซึ่งทุเรียนลอยกระจัดกระจายเต็มท้องทะเล ชาวบ้านบริเวณดังกล่าวจึงออกเรือไปเก็บทุเรียนกลับมารับประทานจนเกิดอาการปวดท้อง อาเจียน และท้องเสียขั้นรุนแรง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เจ้าหน้าที่หน่วยสืบสวนและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสิ่งผิดกฎหมายด่านศุลกากรสุยโข่ว ได้บุกทลายจุดลักลอบนำเข้าทุเรียนแบบผิดกฎหมาย จับกุมรถบรรทุก 9 คัน และผู้กระทำผิด 5 คน โดยทุเรียนล็อตดังกล่าวไม่ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพและกักกันโรคพืช ไม่มีใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate) จากประเทศต้นทาง ไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน หากทุเรียนล็อตดังกล่าวเข้าสู่ตลาด อาจเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศในประเทศจีนและเป็นภัยต่อผู้บริโภค

ทั้งนี้ ได้ส่งทุเรียนทั้งหมดไปทำลายเพื่อทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ด้วยการบดและการกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชด้วยความร้อนสูงจนกระทั่งกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ได้เป็นปุ๋ยอินทรีย์น้ำหนักราว 30 ตัน

บีไอซี ขอย้ำว่า ผู้ส่งออกผลไม้ไทยจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดในการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนอย่างละเอียดถี่ถ้วน ตั้งแต่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนผู้ส่งออกผักและผลไม้ การขอและออกใบรับรองสุขอนามัย และข้อกำหนดเฉพาะสำหรับผลไม้บางชนิด เช่น ทุเรียน ซึ่งอยู่ภายใต้หน้าที่ความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ข้อมูลเพิ่มเติม คลิกลิงก์)

รวมทั้งต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนเกี่ยวกับชนิดของผลไม้ที่ประเทศปลายทางอนุญาตให้นำเข้าประเทศได้ อย่างจีนที่อนุมัติให้มีการนำเข้าผลไม้ไทยได้รับ 22 ชนิด และการส่งผลไม้ไทยไปจีนผ่านทางบกเข้าที่ด่านในเขตฯ กว่างซีจ้วง (ถนน R8 / R9 และ R12) และมณฑลยูนนาน (ถนน R3A) จะต้องเป็นด่านสากลที่อยู่ภายใต้พิธีสารฯ เท่านั้น โดยในเขตฯ กว่างซีจ้วงมีอยู่ 3 ด่าน ได้แก่ ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน ด่านรถไฟผิงเสียง และด่านทางบกตงซิง

แม้ว่าด่านทางบกตงซิงจะได้รับอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (General Administration of Customs, PR.C) หรือ GACC ให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากประเทศที่ 3 แล้ว แต่ในทางปฏิบัติ ด่านตงซิงยังไม่สามารถนำเข้าได้จริง เนื่องจาก ยังอยู่ระหว่างการตรวจรับรอง “จุดตรวจสอบควบคุมและกักกันโรคพืชสำหรับผลไม้” บริเวณด่านโดย GACC ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการผลักดันเพื่อให้ผ่านการตรวจรับในเร็ววันนี้

สำหรับ “การส่งออกผลไม้” การที่ผลไม้เป็นสินค้าเกษตรที่มีความอ่อนไหวสูง เนื่องจากเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชที่เป็นภัยต่อระบบนิเวศของประเทศผู้นำเข้า เมื่อปี 2552 สำนักงาน AQSIQ (ปี 2561 ได้ควบรวบเข้ากับสำนักงานศุลกากรแห่งชาติ) ได้นำหลักการกำหนดสิทธิการนำเข้าผลไม้ของด่านมาใช้ กล่าวคือ มีเพียงด่านที่ได้รับอนุมัติให้เป็น “ด่านนำเข้าผลไม้” และได้พัฒนา “จุดตรวจสอบควบคุมและกักกันโรคพืชสำหรับผลไม้” ให้มีมาตรฐานและผ่านการตรวจรับรองจาก GACC แล้วเท่านั้น จึงสามารถเริ่มนำเข้าผลไม้ได้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขแรกที่ใช้กับด่านนำเข้าทุกแห่งทั่วประเทศจีน

นอกจากนี้ เงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับการเป็น “ด่านทางบก” ในการนำเข้าผลไม้จากประเทศที่สาม (ประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกับจีนอย่างประเทศไทย) คือ ด่านทางบกแห่งนั้นจะต้องเป็นด่านที่ได้รับรองภายใต้ว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 21 สิงหาคม 2563
ภาพประกอบ www.doa.go.th / www.sohu.com

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]