เศรษฐกิจกานซู 3 ไตรมาสแรกปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ติดอันดับ 3 ของประเทศ

สนง. พาณิชย์มณฑลกานซู รายงานสภาวะเศรษฐกิจในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2563 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ผลผลิตภัณฑ์มวลรวมของมณฑลกานซู 3 ไตรมาสแรก มีมูลค่า 644,430 ล้านหยวน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 2.8 เป็นมณฑลที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากเขตฯ ทิเบต และมณฑลกุ้ยโจว

– อุตสาหกรรมปฐมภูมิ มูลค่า 88,930 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

– อุตสาหกรรมทุติยภูมิ มูลค่า 200,790 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

– อุตสาหกรรมตติยภูมิ มูลค่า 354,710 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

  1. ภาคการเกษตรและปศุสัตว์ปรับตัวเพิ่มต่อเนื่อง

ภาคการเกษตรและปศุสัตว์ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยจำแนกเป็น

– ผลผลิตผักสดและผลไม้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 และ 5.9 ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

– ผลผลิตสมุนไพร (แบบสด) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

– ผลผลิตเนื้อสุกร แพะ และวัว ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1  8.2 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

– ผลผลิตเนื้อในกลุ่มสัตว์ปีก ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

  1. การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม

การลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (Large Scale Industry) ของมณฑล เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 สร้างผลกำไรกว่า 15,580 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8  โดยอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มมากที่สุดที่ร้อยละ 31.7 โดยมีอุตสาหกรรมขุดเจาะถ่านหิน ปรับตัวลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 0.3

ภาคอุตสาหกรรม

อัตราการเติบโตเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

ภาคอุตสาหกรรม

อัตราการเติบโตเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

1. อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

31.7

4. การผลิตไฟฟ้า

10.8

2. อุตสาหกรรมการผลิตและประกอบเครื่องจักร

14.2

5. อุตสาหกรรมขุดเจาะและหลอมโลหะ

8

3. การผลิตยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์

11

6. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

5.8

 

  1. การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรช่วง 3 ไตรมาสแรกของมณฑลกานซู ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 แบ่งเป็น (1) การก่อสร้างของโครงการลงทุนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 (2) การลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 และ (3) การจำหน่ายห้องชุดสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

  1. การอุปโภคบริโภคภายในพื้นที่

3 ไตรมาสแรกของปี 2563 การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแบบค้าปลีก (Total Retail Sales of Consumer Goods) มูลค่า 256,360 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 4.3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 อย่างไรก็ดี การค้าออนไลน์กลับมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 81.8 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการสนับสนุนการทำการตลาดออนไลน์ในกลุ่ม SMEs ของรัฐบาลที่ส่งเสริมการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตให้ง่ายขึ้น รวมถึงการทำงานที่บ้านจากมาตรการ Lock down ส่งผลให้ประชาชนนิยมหันมาสั่งซื้อสินค้าและบริการผ่านแอปพลิเคชั่นออนไลน์

  1. การค้าระหว่างประเทศ

การค้าระหว่างประเทศของมณฑลกานซูในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2563 มีมูลค่า 27,180 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 แบ่งเป็น (1) การส่งออก มูลค่า 6,210 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 35.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 และ (2) การนำเข้า มูลค่า 20,970 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของ   ปี 2562

  1. อัตราการจ้างงานและรายได้ประชากรต่อหัว

ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID19 ในพื้นที่ดีขึ้น รัฐบาลมณฑลกานซูได้เร่งการสนับสนุนและฟื้นฟูกิจการเพื่อให้แรงงานกลับเข้าทำงานผ่านนโยบายสนับสนุนเงินช่วยเหลือวิสาหกิจ การงดจัดเก็บภาษี งดจัดเก็บค่าสาธารณูปโภคและยกเว้นการสมทบเบี้ยประกันสังคม ฯลฯ ส่งผลให้ปัจจุบันวิสาหกิจในพื้นที่สามารถดำเนินงานได้ครบ 100% ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2563 มณฑลกานซูมีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 290,400 คน

  1. การแก้ไขปัญหาความยากจน

หนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจปี 2563 ของมณฑลกานซู คือการยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรให้หลุดพ้นความยากจนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันการผิดพลาด เร่งพัฒนาการจัดสรรพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกรที่ยากจน พร้อมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ในการปลูกพืชเศรษฐกิจผ่านโครงการอบรมของภาครัฐ พัฒนาระบบสำรวจสำมะโนครัวประชากร โดยเฉพาะในพื้นที่เข้าถึงยากหรือพื้นที่ตกสำรวจ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ

สถิติตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ค. 2563 มีประชากรพ้นเกณฑ์ความยากจนเพิ่มขึ้น 935,000 คน ใน 31 อำเภอทั่วมณฑลเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากจำนวนประชากรที่พ้นเกณฑ์ความยากจนทั่วประเทศปี 2562 ปัจจุบัน สัดส่วนประชากรที่ประสบความยากจน (Poverty Rate of the Whole Province) ลดลงจากปี 2559 ที่ร้อยละ 5.6 เหลือเพียงร้อยละ 0.9

โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2563 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรของมณฑลกานซูยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แบ่งเป็น (1) รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในตัวเมือง (Disposable Income Per Capita of Urban Residents) เฉลี่ย 25,064 หยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 4.2 และ (2) รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในชนบท (Disposable Income Per Capita of Rural Residents) เฉลี่ย 6,877 หยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 6.7

  1. การลงทุนในโครงการ 10 สาขาอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Ecological Industries)

เมื่อปี 2561 รัฐบาลมณฑลกานซูได้ประกาศสนับสนุน 10 สาขาอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Ecological Industries) ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมการอนุรักษ์พลังงานและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (节能环保产业) (2) อุตสาหกรรมการผลิตสีเขียว (节能环保产业) (3) อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสะอาด (清洁能源产业) (4) การเกษตรหมุนเวียน (循环农业) (5) อุตสาหกรรมยาสมุนไพรจีน (中医中药产业) (6) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (文化旅游产业) (7) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (通道物流产业) (8) รูปแบบอุตสาหกรรมที่ผสมผสานระหว่างการทหารและพลเรือน (军民融合产业) (9) อุตสาหกรรมข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ และ (10) อุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (先进制造产业)

โดยในปี 2562 รัฐบาลมณฑลกานซูยังได้เร่งดำเนินการผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียวเพิ่มเติม ได้แก่ (1) เร่งผลักดันเขต Lanzhou New Area ให้เป็นฐานอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน (Energy Conservation and Environmental Protection Industrial Base) (2) สนับสนุนการดำเนินงานของฐานสาธิตอุตสาหกรรมเหมืองแร่เขตหงกู่ (Honggu District National Level “City Mineral” Demonstration Base) (3) ผลักดันให้มีการลงทุนจากวิสาหกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับประเทศอย่างน้อย 1 ราย และ (4) ผลักดันให้มีวิสาหกิจด้านการผลิตเชิงนวัตกรรมระดับมณฑลเกิดใหม่ไม่น้อยกว่า 2 ราย และวิสาหกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับมณฑลเกิดใหม่ไม่น้อยกว่า 10 ราย

ล่าสุด ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2563 มณฑลกานซูมีการลงทุนในโครงการข้างต้นเพิ่มขึ้น 133,570 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.7 ของ GDP มณฑลกานซู โดยรัฐบาลมณฑลกานซูตั้งเป้าดึงดูดการลงทุนใน 10 สาขาอุตสาหกรรมสีเขียวให้มีสัดส่วนการลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของ GDP ภายในปี 2568

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://lanzhou.customs.gov.cn/lanzhou_customs/553124/553126/553127/3341081/index.html
  2. http://www.gansu.gov.cn/art/2020/5/20/art_36_454960.html
  3. https://www.ndrc.gov.cn/fggz/fgzh/gnjjjc/dqjj/202010/t20201030_1249528.html

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]