โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
อำเภอผิงเหอ เมืองจางโจว มณฑลฝูเจี้ยน มีที่ตั้งใกล้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 2 เมืองสำคัญ ได้แก่ เมืองเซี่ยเหมินและเมืองซัวเถา อำเภอผิงเหอได้รับขนานนามว่า “เมืองแห่งส้มโอจีน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ส้มโอกวนซี” ของอำเภอผิงเหอได้รับการยกย่องว่าเป็น “ราชาแห่งส้มโอจีน” และเป็น“ส้มโอบรรณาการ” เนื่องจากตั้งแต่ราชวงศ์ชิง ส้มโอกวนซีถูกจัดส่งไปยังพระราชวังเพื่อเป็นของบรรณาการ อำเภอผิงเหอจึงมีประวัติศาสตร์การปลูกส้มโอมากกว่า 500 ปี และได้กลายเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอำเภอ ปัจจุบัน อำเภอผิงเหอมีประชาชนกว่า 400,000 คน คิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ทำอาชีพเกษตรกรรมการปลูกส้มโอ ซึ่งช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจนทั้งหมดเมื่อเดือนมีนาคม 2562 โดยรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าจาก 2,141 หยวนในปี 2539 เป็น 19,285 หยวนในปี 2562
ในช่วงเดือนกันยายน-กลางเดือนตุลาคมของปี 2563 ซึ่งเป็นฤดูส้มโอ อำเภอผิงเหอมีปริมาณการจำหน่ายส้มโอผ่านระบบอีคอมเมิร์ชกว่า 975 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และคาดว่าจะมีมูลค่าการจำหน่ายส้มโอทะลุ 1.2 พันล้านหยวน ภายในสิ้นปี 2563 นอกจากนี้ อำเภอผิงเหอยังมีการแปรรูปส้มโอกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ อาทิ น้ำผลไม้ส้มโอ น้ำผึ้งส้มโอ ไวน์ส้มโอ น้ำหอมส้มโอ เป็นต้น
พื้นที่ปลูกส้มโอของอำเภอผิงเหอ โรงงานห่อบรรจุส้มโอ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน อำเภอผิงเหอมีพื้นที่ปลูกส้มโอทั้งหมด 291,666 ไร่ สูงเป็นอันดับหนึ่งของจีน มีปริมาณการผลิตกว่า 1.3 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของปริมาณการเพาะปลูกส้มโอทั่วประเทศ สร้างรายได้จากการจำหน่ายส้มโอสูงเป็นอันดับหนึ่งของจีนกว่า 5 พันล้านหยวน และสร้างมูลค่าแก่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกว่า 100 ล้านหยวน โดยตั้งแต่ปี 2546 ส้มโออำเภอผิงเหอเป็นผลไมัจำพวกส้มประเภทแรกของจีนที่เริ่มมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี อังกฤษ สหรัฐฯ ยูเออี แคนาดา รัสเซีย และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลท้องถิ่นได้จัดตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมส้มโอแห่งชาติ เพื่ออบรมบุคลากรและเกษตรกรในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนที่ปุ๋ยเคมี การควบคุมโรค และแมลงศัตรูพืช ซึ่งทำให้อำเภอผิงเหอได้รับรางวัลเป็น “อำเภอนิเวศวิทยาแห่งชาติ” และ “เขตได้เปรียบทางผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีลักษณะโดดเด่นของจีน”
การพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมหลักท้องถิ่นของรัฐบาลจีนอย่างเป็นระบบเป็นสิ่งที่ไทยน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากจะเพื่อยกระดับรายได้ของชุมชนแล้ว ยังเพื่อพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ในระยะยาว
แหล่งอ้างอิง https://fj.chinadaily.com.cn/a/202010/21/WS5f8ff895a3101e7ce972a816.html
http://www.chbcnet.com/web/deliver/content_114559.shtml
http://fjnews.fjsen.com/2019-10/17/content_30021873.htm