เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรและป่าไม้ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (Northwest A & F University) ร่วมกับกองกิจการผลไม้ สนง. เกษตรและชนบทมณฑลส่านซี จัดตั้ง “ฐานวิจัยและทดลองแอปเปิ้ลพันธุ์พื้นเมือง” เมืองยวีหลิน ทางตอนเหนือของมณฑลส่านซี โดยถือเป็นฐานวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์แอปเปิ้ลพื้นเมืองสายพันธุ์ซานตี้” (榆林山地苹果) แห่งแรกของจีน
แอปเปิ้ลซานตี้เป็นแอปเปิ้ลพันธุ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงมากของเมืองยวีหลิน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมาตรฐานสินค้าที่มีสัญลักษณ์ทางภูมิศาสตร์” (Geographical Indication Trademark: GI) ตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากมีรสชาติดี อย่างไรก็ดี ปริมาณผลผลิตต่อปียังไม่สูงนักหากเปรียบเทียบกับการปลูกแอปเปิ้ลสายพันธุ์อื่น ๆ ของมณฑลส่านซี ปัจจุบัน แอปเปิ้ลซานตี้นิยมปลูกใน 8 อำเภอของเมืองยวีหลินเท่านั้น (พื้นที่เพาะปลูกรวม 1.15 ล้านหมู่หรือราว 471,311 ไร่ และมีผลผลิตราว 600,000 ตัน/ปี) คิดเป็นมูลค่า 4,000 ล้านหยวน
การก่อตั้งฐานวิจัยฯ ในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการเพาะปลูกสายพันธุ์พื้นเมืองให้ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มจำนวนผลผลิต โดยรัฐบาลเมืองยวีหลินยังได้สนับสนุนงบประมาณ 5 ล้านหยวนเพื่อการก่อตั้งฐานวิจัยฯ พร้อมลงนามข้อตกลงกับ Northwest A & F University ในการร่วมก่อสร้างสถานีสาธิตการทดสอบคุณภาพแอปเปิ้ล โดยใช้โมเดล 1+7 (1 ฐานสาธิต + 7 อำเภอนำร่อง) ทำการวิจัยและคัดเลือกสายพันธุ์ การพัฒนาเทคโนโลยี การบำรุงรักษา ตลอดจนการอบรมบุคลากร เพื่อให้แอปเปิ้ลพันธุ์ซานตี้มีความทนทานต่อสภาพอากาศ และได้คุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการ
นอกจากแอปเปิ้ลสายพันธุ์พื้นเมืองแล้ว ปัจจุบัน มณฑลส่านซียังเป็นฐานเพาะปลูกแอปเปิ้ลและผลไม้เมืองหนาวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีน โดยเฉพาะการเป็น 1 ใน 4 ฐานการผลิตแอปเปิ้ลรายใหญ่ของจีน ได้แก่ (1) เมืองเยียนไถ มณฑลซานตง (2) เมืองยวิ่นเฉิง มณฑลชานซี (3) เมืองอักซู เขตฯ ซินเจียงอุยกูร์ และ (4) เมืองเหยียนอาน มณฑลส่านซี ผลไม้เมืองหนาวที่มณฑลส่านซีผลิตได้นอกจากแอปเปิ้ล มีดังนี้
ผลไม้ |
ปริมาณที่ผลิตได้ (ล้านตัน) | อัตราการเติบโตเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 (%) |
1. กีวี | 1.07 | 13.1 |
2. สาลี่ | 1.046 | 4.9 |
3. พุทรา | 0.99 | 2 |
4. ท้อ | 0.783 | 9.2 |
5. ส้ม | 0.503 | 7.4 |
ข้อมูลจาก กองกิจการผลไม้มณฑลส่านซี สนง. เกษตรและป่าไม้มณฑลส่านซี
ในปี 2562 แอปเปิ้ลยังคงเป็นผลไม้ที่มณฑลส่านซีผลิตได้มากที่สุดถึง 11.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 12.6 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65.5 ของปริมาณผลไม้ทุกชนิดที่ผลิตได้ในพื้นที่ มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 9.22 ล้านหมู่ (ราว 3.78 ล้านไร่) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 2.8
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก สนง. ศุลกากรนครซีอานระบุว่า ในปี 2562 มณฑลส่านซีส่งออกแอปเปิ้ลไปต่างประเทศมากถึง 206,700 ตัน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.82 ของผลผลิตทั้งหมด) มูลค่า 1,611 ล้านหยวน ในจำนวนนี้แบ่งเป็น (1) การส่งออกแบบผลสด 57,900 ตัน มูลค่า 442 ล้านหยวน (2) การส่งออกน้ำแอปเปิ้ลสกัดเข้มข้น 147,600 ตัน มูลค่า 1,146 ล้านหยวน และ (3) การส่งออกแบบผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป 1,252 ตัน มูลค่า 23.24 ล้านหยวน
โดยในปี 2563 แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID19 แต่ผลผลิตทางการเกษตรของมณฑลส่านซียังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง การส่งออกผลิตผลทางการเกษตรหดตัวไม่มาก ข้อมูลจาก สนง. ศุลกากรนครซีอานระบุว่า ระหว่างเดือน ม.ค. – พ.ย. 2563 มณฑลส่านซีส่งออกผลไม้ทั้งหมดรวม 174,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 1.83 คิดเป็น 1,282 ล้านหยวน ในจำนวนนี้แบ่งเป็น (1) การส่งออกผลไม้แบบสด 38,100 ตัน มูลค่า 281 ล้านหยวน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 17.68 (2) การส่งออกน้ำผลไม้สกัดเข้มข้น 134,500 ตัน มูลค่า 977 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 8.87 และ 0.72 ตามลำดับ และ (3) การส่งส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปชนิดอื่น ๆ 1,426 ตัน มูลค่า 23.85 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 34.3 และ 13.94 ตามลำดับ
ข้อมูลอ้างอิง
- https://news.nwafu.edu.cn/mtwx/fd75730e16cc4145bc1cd77e3a610bb5.htm
- http://www.shaanxi.gov.cn/xw/ldx/ds/202012/t20201229_2147144_wap.html