• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • เส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติฉางอันห้าว ปี 2563 ทุบสถิติส่งออกมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ

เส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติฉางอันห้าว ปี 2563 ทุบสถิติส่งออกมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 เขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอาน (Xi’an International Trade and Logistics Park : ITL) รายงานผลการดำเนินงานของเส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติ “ฉางอันห้าว” ประจำปี 2563 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผนพัฒนาฯ) ฉบับที่ 13 (ปี 2559-2563) “ฉางอันห้าว” มีการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นกว่า 52 เท่าจากช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มีปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 29 เท่า และมีเส้นทางขนส่งสินค้าหลักรวม 15 เส้นทาง (ไม่รวมเส้นทางย่อยและเที่ยวขนส่งเฉพาะกิจ) อีกทั้งมีความร่วมมือกับท่าเรือขนาดใหญ่ของจีน อาทิ ท่าเรือชิงต่าว หนิงโป และเหลียนหยุนก่าง ในการเป็นข้อต่อการขนส่งที่สำคัญต่อไปยังเอเชียกลาง เอเชียใต้ และทวีปยุโรป 

นอกจากนี้ “ฉางอันห้าว” ยังได้รับประโยชน์จากการอนุมัติให้ ITL เป็นด่านนำเข้าธัญพืช เนื้อสัตว์ และรถยนต์ชนิดประกอบสำเร็จ โดยปริมาณการนำเข้ารถยนต์ชนิดประกอบสำเร็จยังมีปริมาณสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศอีกด้วย ที่ผ่านมา “ฉางอันห้าว” ยังเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในการกระจายสินค้าส่งออกของจีนไปยังทวีปยุโรป ด้วยมีจุดเด่นในเรื่องเครือข่ายคลังจัดเก็บสินค้าในต่างประเทศ การเดินรถที่มีจำนวนมาก ทำให้ “ฉางอันห้าว” ได้เปรียบในการเป็นข้อต่อกระจายสินค้าให้กับเส้นทางขนส่งสินค้าของมณฑลอื่น ๆ ที่ต้องการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ที่ผ่านมาโดยมีความร่วมมือกับ (1) เส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติ “เสียงซีโอว” ของมณฑลหูเป่ย (2) เส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติ “เปิ้งซีโอว” จากเมืองเปิ้งปู มณฑลอันฮุย เน้นขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศเอเชียกลาง และกรุงมินสก์ ของเบลารุส (3) “สวีซีโอว” จากเมืองสวีโจว มณฑลเจียงซู (4) “เซี่ยซีโอว” จากเมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน (5)  กุ้ยซีโอว เส้นทางขนส่งและกระจายสินค้าร่วมกับมณฑลกุ้ยโจว เป็นต้น

โดยในปี 2563 “ฉางอันห้าว” ได้ขยายเส้นทางขนส่งรองไปยังเมืองต่าง ๆ ทั้งในและนอกมณฑลส่านซีรวม 12 เส้นทาง ในจำนวนนี้เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าจากเมืองรองขนาดใหญ่ของมณฑลส่านซี 3 เส้นทาง ได้แก่ “อันซีโอว” (เมืองอันคัง ทางตอนใต้ของมณฑลส่านซี) “ยวีซีโอว” (เมืองยวีหลิน ทางตอนเหนือของมณฑลส่านซี) และ “เว่ยซีโอว” (เมืองเว่ยหนานทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลส่านซี) ซึ่งสามารถตอบโจทย์วิสาหกิจท้องถิ่นในการเพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้าไปต่างประเทศได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านเมืองหน้าด่านอีกต่อไป

ปี 2563 “ฉางอันห้าว” มีการบรรทุกสินค้าไปกว่า 3,720 เที่ยว (เฉพาะเดือน ธ.ค. 2563 เพิ่มขึ้นกว่า 279 เที่ยว) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ถึง 1.7 เท่า (เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ซึ่งเป็นปีแรกของการเดินรถ 80 เท่า) บรรทุกสินค้าไปกว่า 2.81 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 60 (เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ซึ่งเป็นปีแรกของการเดินรถ 40 เท่า) อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการบรรทุกอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อฯ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID19 ที่รุนแรงในทวีปยุโรปด้วย โดยได้ทำการขนส่งสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปกว่า 80,000 ตัน ปัจจุบัน “ฉางอันห้าว” มีสถิติการเดินรถเฉลี่ยวันละ 2 รอบ (ทั้งขาไป-กลับ) ทำให้สามารถลดอัตราการบรรทุกสิ้นเปลือง (เที่ยวเปล่า) ได้มากขึ้น ส่งผลให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนการขนส่งได้ดี โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ราว 200,000 หยวนต่อ 1 เที่ยวการขนส่ง 

ในปี 2564 “ฉางอันห้าว” ยังคงมุ่งพัฒนาบริการการขนส่งสินค้าให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมกับการมีบทบาทผู้ให้บริการขนส่งสินค้าแก่ท่าเรือ/ศูนย์กระจายสินค้าจากเมืองอื่น ๆ ด้วย (Public Freight Train) อย่างรอบด้าน เพื่อเป็นเครื่องมือหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

นอกเหนือจากแผนการพัฒนาเส้นทางการขนส่งสู่เอเชียกลางและทวีปยุโรปแล้ว ITL ยังมีแผนการขยายฐานโลจิสติกส์ทางรถไฟเพิ่มเติมเพื่อยกระดับการเชื่อมต่อเข้ากับเขตโลจิสต์ติกส์ระดับชาติ (National Demonstration Logistics Park) ของเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศอีกด้วย โดยวางตัวศูนย์บูรณาการโลจิสติกส์ทางรถไฟซินจู้ (Xi’an Xinzhu Railway Integrated Logistics Center) ซึ่งตั้งอยู่ใน ITL เป็นฐานหลักในการเชื่อมโยงกับเมืองต่าง ๆ ตามแผนดำเนินการหลักของเส้นทางขนส่งสินค้าทางบกและทางทะเลสายใหม่ (Master Plan of New International Land-Sea Trade Corridor- ILSTC) ระหว่างปี 2563-2568 (ค.ศ. 2019-2025) ที่กำหนดให้เส้นทางนี้เป็นหนึ่งในกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคตะวันตกที่คณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ประกาศไว้เมื่อเดือน ส.ค. 2563

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://m.xinhuanet.com/sn/2021-01/19/c_1126997774.htm
  2. https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_10837723
  3. http://esb.sxdaily.com.cn/pc/content/202101/19/content_746682.html

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]