เหตุใด…กว่างซีถึง “เนื้อหอม” ในสายตานักลงทุนต่างชาติ

ไฮไลท์

  • การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบคู่ขนาน (Dual Circulation) ของจีนที่มุ่งขยายตลาดภายในประเทศ ลดการพึ่งพาต่างประเทศที่มากเกินไป รวมถึงลดการพึ่งพาการนำเข้าและหันมาผลิตเองมากขึ้น เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ค้าไทยต้องเตรียมรับมือและปรับตัวในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ ทั้งภาคอุตสาหกรรมของไทยที่มีการผลิตและพึ่งพาส่งออกไปจีน และภาคอุตสาหกรรมไทยที่ยังมีความได้เปรียบและเป็นส่วนที่จีนขาดในห่วงโซ่อุตสาหกรรม อาจต้อง “ก้าวออกไป” ลงทุนในประเทศจีน หรือไม่ อย่างไร
  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นมณฑลที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุน ในฐานะ Gateway ความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกของจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) ในปี 2563 เขตทดลองฯ มีมูลค่าเงินลงทุนจริงคิดเป็นสัดส่วน 28% ของมูลค่าเงินลงทุนจริงจากต่างประเทศทั้งมณฑล มีบริษัททั้งหมด 21,098 ราย เป็นบริษัทรายใหม่ 17,285 ราย ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทต่างชาติรายใหม่ 145 ราย
  • กว่างซีมีปัจจัยเอื้ออำนวยหลายด้าน โดยเฉพาะตำแหน่งที่ตั้ง (ประตูสู่อาเซียน) ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ (โมเดลขนส่งแบบไร้รอยต่อ “เรือ+ราง”) รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน โดยรัฐบาลกว่างซีได้ปฏิรูประบบงานราชการให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น และได้จัด “ชุดของขวัญ” เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ โดยมุ่งพัฒนาให้เขตฯ กว่างซีจ้วง เป็นพื้นที่น่าลงทุนของธุรกิจต่างชาติ

 

ในภาพรวม แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (จีน) แต่นักลงทุนยังมีแผนขยายการลงทุนในกว่างซีอย่างต่อเนื่อง โดยกว่างซีมีปัจจัยเอื้ออำนวยหลายด้าน โดยเฉพาะตำแหน่งที่ตั้ง (ประตูสู่อาเซียน) ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ (โมเดลขนส่งแบบไร้รอยต่อ “เรือ+ราง”) รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน

ในฐานะ Gateway ความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกของจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน รัฐบาลกว่างซีได้จัด “ชุดของขวัญ” เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ (รวมถึงดินแดนนอกจีนแผ่นดินใหญ่) โดยมุ่งพัฒนาให้เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นพื้นที่น่าลงทุนของธุรกิจต่างชาติ

แคมเปญที่รัฐบาลกว่างซีใช้ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ อาทิ

  • นักลงทุนต่างชาติมีสิทธิได้รับเงินรางวัลสูงสุดไม่เกิน 100 ล้านหยวน สำหรับการลงทุนใหม่ในประเภทกิจการที่จีนให้การส่งเสริม โดยโครงการใหม่ในปีนั้นๆ จะต้องมีการใช้เงินลงทุนจริง (Actual utilization of foreign capital) มากกว่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • นักลงทุนต่างชาติรายใหม่ที่มีเงินลงทุนจริงภายใน 6 เดือน มากกว่า 5 ล้านดออลาร์สหรัฐ มีสิทธิได้รับเงินรางวัลแบบให้ครั้งเดียวเป็นจำนวนเงิน 5 แสนหยวน จากรัฐบาลท้องถิ่นที่จดทะเบียน
  • สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงโครงการส่งเสริมการจัดตั้งธุรกิจของบริษัทด้านเทคโนโลยีไฮเทค และธุรกิจที่เข้ามาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง จะได้รับเงินรางวัลแบบให้ครั้งเดียว โดยคำนวณจาก 1% ของมูลค่าเงินลงทุนจริงในปีนั้นๆ กรณีที่มีการลงทุนหลายโครงการ แต่ละโครงการมีสิทธิได้รับเงินรางวัลสูงสุดไม่เกิน 30 ล้านหยวน

ตามข้อมูลปี 2563 นักลงทุนต่างชาติรายใหม่ที่จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในกว่างซี มีจำนวน 500 ราย เพิ่มขึ้นราว 29% (YoY) มูลค่าการใช้เงินลงทุนจริงของนักลงทุนต่างชาติในกว่างซีขยายตัว 18.7% (YoY) มูลค่ารวม 1,317 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างสถิติสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นโครงการที่มีมูลค่ามากกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าเงินลงทุนที่ไหลเข้ามณฑล

หนึ่งในพื้นที่เป้าหมายการจัดตั้งธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) โดยมูลค่าเงินลงทุนจริงคิดเป็นสัดส่วน 28% ของมูลค่าเงินลงทุนจริงจากต่างประเทศทั้งมณฑล หรือราว 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 เขตทดลองฯ มีบริษัททั้งหมด 21,098 ราย เป็นบริษัทรายใหม่ 17,285 ราย ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทต่างชาติรายใหม่ 145 ราย มีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออก 1.58 แสนล้านหยวน คิดเป็น 33% ของมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งมณฑล ขณะที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี 7 แห่งในมณฑล การลงทุนหลักอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต มูลค่าเงินลงทุนจริงคิดเป็นสัดส่วน 30% ของทั้งมณฑล

หากมองรายเมือง พบว่า “นครหนานหนิง” เป็นพื้นที่ที่เนื้อหอมที่สุดของนักลงทุนต่างประเทศ มีการใช้เงินลงทุนจริงเป็นมูลค่า 440.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 41.9% (YoY) ในจำนวนนี้ มีโครงการลงทุนที่มีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 13 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนจริงรวม 397.57 ล้านดออลาร์สหรัฐ โดยฮ่องกงยังคงเป็นแหล่งเงินทุนต่างชาติรายใหญ่ของนครหนานหนิง มีเม็ดเงินลงทุนจริงเพิ่มขึ้น 29.83% (YoY)

สาขาธุรกิจที่ต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในนครหนานหนิง ได้แก่ (1) พลังงานสะอาด เช่น สถานีผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำและพลังงานลม มีมูลค่าเงินลงทุน 118.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 26.84% ของมูลค่าการใช้เงินลงทุนจริงของนักลงทุนต่างชาติ (2) การลงทุนและบริหารสินทรัพย์ มีมูลค่าเงินลงทุน 83.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 19.06% และ (3) อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่าเงินลงทุน 74.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 16.99%

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รัฐบาลกว่างซีกำลังเดินหน้าดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) ซึ่งภาครัฐได้ปฏิรูประบบงานราชการเพื่อเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมทางการลงทุนและสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่มากขึ้น เช่น การกระจายอำนาจให้หน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีอำนาจในการตรวจสอบอนุมัติคำร้องในกระบวนการจัดตั้งกิจการของบริษัทต่างชาติ การลดขั้นตอน/เอกสาร การดำเนินงานเชิงรุกเพื่อเยี่ยมเยือนและประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านนโยบายและสิทธิประโยชน์ทางการลงทุนให้แก่ธุรกิจต่างชาติ และการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมเพื่อรับเรื่องร้องเรียนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่น่าสนใจและได้รับการส่งเสริมให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ช่วยต่อยอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมของกว่างซี เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ยานยนต์พลังงานทางเลือก อะไหล่ยานยนต์ รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้อง โลจิสติกส์ วัสดุสมัยใหม่ พลังงานทางเลือก การผลิตอัจฉริยะ ยาและชีวภาพ การแปรรูปโลหะนอกกลุ่มเหล็กในเชิงลึก

การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบคู่ขนาน (Dual Circulation) ที่มุ่งขยายตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ลดการพึ่งพาต่างประเทศที่มากเกินไป ซึ่งเดิมเน้นการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงลดการพึ่งพาการนำเข้าและหันมาผลิตเองมากขึ้น เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่14 (ปี 2564-2568) เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ค้าไทยต้องปรับตัวและเตรียมรับมือ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีน อุตสาหกรรมที่ไทยเรายังมีความได้เปรียบและและเป็นส่วนที่จีนขาดในห่วงโซ่อุตสาหกรรม รวมถึงการ “ก้าวออกไป” ลงทุนในประเทศจีนเป็นโจทย์ที่นักลงทุนไทยควรนำไปพิจารณา

 

ที่มา หนังสือพิมพ์หนานหนิง เดลี่ (南宁日报) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564
       เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
       เว็บไซต์ http://swt.gxzf.gov.cn (广西商务厅) วันที่ 20 มกราคม 2564
       เว็บไซต์ http://tjj.gxzf.gov.cn (广西统计局)
       เว็บไซต์ www.xxtq.gov.cn (广西壮族自治区人民政府办公厅)

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]