• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • มณฑลฝูเจี้ยนไปไกล โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝูชิง “หัวหลง-1” แห่งแรกของจีน เริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์

มณฑลฝูเจี้ยนไปไกล โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝูชิง “หัวหลง-1” แห่งแรกของจีน เริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์

โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

 

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2564 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝูชิง “หัวหลง-1” (Hualong-1) แห่งแรกของจีนประกาศเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ซึ่งใช้เงินทุนก่อสร้างมากกว่า 1 แสนล้านหยวน และได้รับการออกแบบโดยบริษัทสาขาพลังงานนิวเคลียร์ยักษ์ใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท China National Nuclear Corporation และบริษัท China General Nuclear Power Corporation

โครงการดังกล่าวใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 67 เดือน รวมคนงานก่อสร้างทั้งหมดกว่า 200,000 คน และการจัดหาอุปกรณ์จากกว่า 5,300 แห่ง ความสำเร็จในการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝูชิง “หัวหลง-1” ได้ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ของจีน ทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีการออกแบบเตาปฏิกรณ์รุ่นที่ 3 ที่พัฒนาขึ้นเองภายในประเทศได้สำเร็จ ต่อจากสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และรัสเซีย โดยชิ้นส่วนประกอบสำคัญของการผลิตเตาปฏิกรณ์ฝูชิง “หัวหลง-1” ทั้งหมดผลิตภายในประเทศ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝูชิง “หัวหลง-1” มีเครื่องปฏิกรณ์ทั้งหมด 6 เครื่อง โดยแต่ละเครื่องปฏิกรณ์มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าเฉลี่ย 1 หมื่นล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการในการใช้ไฟฟ้าของประชากรกลุ่มประเทศพัฒนาปานกลางได้กว่า 1 ล้านคนต่อปี และยังช่วยลดการใช้ถ่านหินกว่า 3.12 ล้านตันต่อปี และช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 8.16 ล้านตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้มากกว่า 70 ล้านต้นต่อปี

เครื่องปฏิกรณ์ดังกล่าวถูกออกแบบให้มีอายุการใช้งานถึง 60 ปี โดยเติมเชื้อเพลิงทุก ๆ 18 เดือน และมีการใช้นวัตกรรมการผสมระบบความปลอดภัยที่ผ่านข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดระหว่างประเทศ ขณะที่ยังสามารถทนต่อแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.0 แมกนิจูดได้ ตลอดจนสามารถทนต่อแรงชนที่เกิดจากอากาศยานได้เช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝูชิง “หัวหลง-1” จะมีมูลค่าการผลิตกว่า 2 หมื่นล้านหยวนต่อปี สามารถดึงดูดการลงทุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อย่างน้อย 3 แสนล้านหยวน และมีการสร้างแรงงานกว่า 30,000 คน ทั้งนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “หัวหลง-1” หมายเลข 5 ได้เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฯ หมายเลข 1 ถึง 4 ซึ่งเริ่มใช้งานตั้งแต่เดือนกันยายนของปี 2560 จนถึงปัจจุบัน มีการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมด 1.3 แสนล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 105 ล้านตันเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “หัวหลง-1” ในหมู่บ้านเฉียนซุย ตำบลซานซาน อำเภอรองเมืองฝูชิง มณฑลฝูเจี้ยน

สิ่งที่ไทยเรียนรู้ได้ สำนักงานพลังงานแห่งชาติจีนระบุว่า ในปี 2562 การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของจีน โดยการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝูชิง “หัวหลง-1” นี้เป็นไปเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี ค.ศ. 2060 รวมทั้งเพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ของจีนเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่เมืองฝูชิงนับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญที่ไทยสามารถเรียนรู้เพื่อประเมินข้อดีและข้อเสียสำหรับประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบายเกี่ยวกับการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของไทยในอนาคต

แหล่งอ้างอิง http://www.chinanews.com/gn/2021/01-11/9384017.shtml

https://www.in-en.com/article/html/energy-2300876.shtml

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]