• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • “แจกกระหน่ำ” โปรโมชันดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) โอกาสของธุรกิจไทย – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

“แจกกระหน่ำ” โปรโมชันดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) โอกาสของธุรกิจไทย – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” ยังคงได้รับการจับตามองจากนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากกว่างซีมีปัจจัยเอื้อหลายด้าน โดยเฉพาะตำแหน่งที่ตั้ง (ประตูสู่อาเซียน) ทรัพยากรและวัตถุดิบ ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ (โมเดลขนส่งแบบไร้รอยต่อ “เรือ+ราง”) รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน
  • ในบรรดาพื้นที่ย่อย 3 แห่ง กล่าวได้ว่า “พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง” เป็นเป้าหมายการลงทุนที่เนื้อหอมที่สุดในสายตานักลงทุนต่างประเทศ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่น่าสนใจและได้รับการส่งเสริมให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ย่อยนครหนานหนิง คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ โดยเฉพาะบิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และคลาวด์คอมพิวติง
  • นอกจากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้อาเซียนแล้ว ยังมีนโยบาย/สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน การเงินเและภาษี เงินรางวัล เงินสนับสนุน และเงินอุดหนุนต่างๆ รวมถึงการลดระเบียบและขั้นตอนการบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐ การลดจำนวนเอกสารและขั้นตอนการตรวสอบและอนุมัติให้รวดเร็วยิ่งขึ้น การพัฒนาระบบบริการเชิงลึกสำหรับธุรกิจต่างชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามให้บริการนักลงทุนต่างชาติ (Customer Service) และการให้ช่วยเหลือนักลงทุนต่างชาติ (Customer Support)

 

ในฐานะ Gateway ความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกของจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน รัฐบาลกว่างซีได้จัด “ชุดของขวัญ” เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ (รวมถึงดินแดนนอกจีนแผ่นดินใหญ่) เพื่อพัฒนาให้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นพื้นที่น่าลงทุนของธุรกิจต่างชาติ โดย “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ดึงดูดและรองรับเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

รัฐบาลกลางได้อนุมัติการจัดตั้ง “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 ประกอบด้วย 3 พื้นที่ย่อย ได้แก่ นครหนานหนิง (เมืองเอก) เมืองชินโจว (เมืองท่า) และเมืองฉงจั่ว (เมืองชายแดน) โดยได้รับนโยบายพิเศษด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน และเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าได้แบบปลอดภาษี รวมถึงการนำเข้าสินค้าสำหรับการแปรรูปเพื่อส่งออก เหมือนกับ “เขตทดลองการค้าเสรีนครเซี่ยงไฮ้” ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกในประเทศจีน

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” ยังคงได้รับการจับตามองจากนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากกว่างซีมีปัจจัยหลายด้าน โดยเฉพาะตำแหน่งที่ตั้ง (ประตูสู่อาเซียน) ทรัพยากรและวัตถุดิบ ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ (โมเดลขนส่งแบบไร้รอยต่อ “เรือ+ราง”) รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน

ตามข้อมูล พบว่า ไตรมาสแรกของปี 2564 เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) มีบริษัทจดทะเบียนรายใหม่จำนวน 6,320 ราย เพิ่มขึ้น 402% (YoY) ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทใหม่ที่ดำเนินธุรกิจในสาขาที่ได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ (Key Sector) คิดเป็นสัดส่วน 42% โดยเฉพาะสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล การค้าระหว่างประเทศ และโลจิสติกส์

ในบรรดาพื้นที่ย่อย 3  แห่ง กล่าวได้ว่า “พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง” เป็นเป้าหมายการลงทุนที่เนื้อหอมที่สุดในสายตานักลงทุนต่างประเทศ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่น่าสนใจและได้รับการส่งเสริมให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ย่อยนครหนานหนิง คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ โดยเฉพาะบิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และคลาวด์คอมพิวติง ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 นักลงทุนต่างชาติรายใหม่ที่จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่ย่อยนครหนานหนิง มีจำนวน 85 ราย มูลค่าเงินลงทุนจริง 259.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้อาเซียนแล้ว นโยบาย/สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน การเงินเและภาษี เงินรางวัล เงินสนับสนุนและเงินอุดหนุนต่างๆ เป็นจำนวนมาก กล่าวคือ

นโยบาย/สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ย่อยนครหนานหนิงสำหรับบริษัทต่างชาติที่ดำเนินกิจการผลิต (ตั้งโรงงานผลิต) หากมีมูลค่าเงินลงทุนจริงมากกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสิทธิได้รับเงินรางวัล 2.5% ของมูลค่าเงินลงทุนจริง โดยแต่ละรายมีสิทธิได้รับเงินรางวัลสะสมสูงสุด 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทที่ดำเนินธุรกิจภาคการผลิตสมัยใหม่ มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งธุรกิจระยะแรกสูงสุดไม่เกิน 3 แสนหยวน หากบริษัทซื้อหรือเช่าโรงงานมาตรฐานเพื่อใช้ในกิจกรรมการผลิต มีสิทธิได้รับเงินสนับสนุนการลงทุนอุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อใช้ในการผลิตได้สูงสุด 30 ล้านหยวน

เพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่างชาติขยายการลงทุน เขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยหนานหนิงพร้อมให้เงินอุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 6 ล้านหยวน นอกจากนี้ บริษัทต่างชาติที่จัดตั้งกิจการอยู่แล้ว หากจดทะเบียนเพิ่มทุนต่างชาติเพื่อขยายกำลังการผลิต หรือเพื่อขยายขีดความสามารถในงานวิจัยและพัฒนา หรือเพื่อปรับปรุงยกระดับเทคโนโลยี มีสิทธิได้รับเงินรางวัลสูงสุด 10 ล้านหยวน และหากนักลงทุนต่างชาติเข้าควบซื้อกิจการในนครหนานหนิง มีสิทธิได้รับเงินรางวัลสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านหยวน

ด้านทรัพยากรบุคคล ชาวต่างชาติที่ทำงานในพื้นที่ย่อยนครหนานหนิง ในตำแหน่งงานด้านบริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้มีทักษะฝีมือเฉพาะด้าน มีสิทธิได้รับรางวัลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ปัจจัยเสริมที่รัฐบาลกว่างซีใช้สร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ได้แก่ การลดระเบียบและขั้นตอนการบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐ การลดจำนวนเอกสารที่ต้องจัดเตรียมในการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจให้กระชับมากขึ้น และการกระจายอำนาจให้หน่วยงานรัฐท้องถิ่นในการตรวสอบและอนุมัติที่รวดเร็ว รวมถึงการพัฒนาระบบบริการเชิงลึกสำหรับธุรกิจต่างชาติในเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) โดยมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามให้บริการนักลงทุนต่างชาติ (Customer Service) และการให้ช่วยเหลือนักลงทุนต่างชาติ (Customer Support) เพื่ออำนวยความสะดวกและยกระดับสภาพแวดล้อมทางการลงทุนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาจัดตั้งธุรกิจในกว่างซี รวมทั้งช่วยสนับสนุนธุรกิจต่างชาติให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงและมั่นคง

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วง 2-3 ปีมานี้ กว่างซีได้รับนโยบายหลายอย่างจากรัฐบาลกลางที่เอื้อต่อการพัฒนา  เสริมสร้างและขยายความร่วมมือกับอาเซียน ภายใต้ยุทธศาสตร์การเป็น Gateway to ASEAN ของจีน โดยมี “เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี)” เป็นแพลตฟอร์มสำคัญ สะท้อนถึงศักยภาพการเติบโตของกว่างซีและเป็นอีกโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่สนใจทำการค้าและการลงทุนในกว่างซีของจีน

การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบคู่ขนาน (Dual Circulation) ที่มุ่งขยายตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ลดการพึ่งพาต่างประเทศที่มากเกินไป ซึ่งเดิมเน้นการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงลดการพึ่งพาการนำเข้าและหันมาผลิตเองมากขึ้น เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่14 (ปี 2564-2568) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ค้าไทยต้องปรับตัวเพื่อรับมือ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีน อุตสาหกรรมที่ไทยยังมีความได้เปรียบและเป็นส่วนที่จีนขาดในห่วงโซ่อุตสาหกรรม รวมถึงการ “ก้าวออกไป” ลงทุนในประเทศจีน นับเป็นโจทย์ที่นักลงทุนไทยควรนำไปประกอบการพิจารณา

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 7 และ 9 พฤษภาคม 2564

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]