ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าหลักในมณฑลเสฉวน ได้เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากการขนส่งทางอากาศเป็นการขนส่งผ่านทางรถไฟ จีน – ยุโรป ส่วนใหญ่ขนส่งสินค้าจำพวกอิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่าจะมีการระบาดของไวรัสโคโรน่าในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่กระทบต่อการขนส่งทางรถไฟ เฉิงตู – ยุโรป ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการขนส่งเพิ่มขึ้นกว่าปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 76.9 ปริมาณการขนส่งสูงถึง 116,000 ตัน โดยในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ บริษัทรถยนต์วอลโว่ ได้ส่งออกรถยนต์จำนวน 85 คัน ผ่านทางเส้นทางรถไฟ เฉิงตู – ยุโรป ด้วย
นอกจากนี้ บริษัท Chengdu Jazzy Ideal Mix (JIM) Co.,Ltd ซึ่งเป็นบริษัทที่มีการส่งออกสินค้าประเภทรองเท้าหนังเป็นจำนวนมาก มีความต้องการกระจายสินค้าไปยังรัสเซีย จึงเริ่มใช้บริการเส้นทางรถไฟสาย เฉิงตู – ยุโรป ทำให้สามารถขนส่งสินค้าได้สะดวกและตรงตามเป้าหมายยิ่งขึ้น ทางผู้จัดการบริษัท Chengdu JIM กล่าวว่า บริษัทมีการพัฒนาโปรแกรมการส่งออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการบริการขนส่งแบบครบวงจร และจากการส่งออกไปยังรัสเซียที่ผ่านมา ผลการประเมินพบว่า ลูกค้ามีความพึงพอใจทั้งด้านราคาและระยะเวลาในการขนส่ง หลังจากเกิดโรคระบาดที่ผ่านมา ทำให้การส่งทางถนนได้รับผลกระทบ สินค้าจำนวนมากค้างอยู่ในคลังสินค้า บริษัทจึงแก้ไขปัญหาโดยการนำรายการสินค้าที่ถูกจองตั้งแต่ปลายปี 2562 รวมถึงปัจจุบัน เปลี่ยนเส้นทางการขนส่งเป็นการขนส่งทางรถไฟ เฉิงตู – ยุโรป แทน โดยมีปริมาณสินค้าทั้งหมด 400 ตู้คอนเทนเนอร์ นับว่าท่ารถไฟนานาชาตินครเฉิงตู ยังคงรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดได้ดี โดยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งออกให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกการค้าให้เป็นไปอย่างราบรื่น
จัดทำโดย
นางสาวณัฐสินี พงษ์จิรวณิช นักศึกษาฝึกงาน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
เรียบเรียงโดย
1. นางสาวชญานุช หนูทอง เจ้าหน้าที่ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
2. นางสาวอรพรรณ พงษ์กิจการุณ เจ้าหน้าที่ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
แหล่งที่มา เว็บไซต์ BELT AND ROAD PORTAL YIDAIYILU.GOV.CN โดยอ้างอิงจากสำนักข่าว CHINA GOVERNMENT หัวข้อ ไวรัสโคโรน่า ไม่มีผลกระทบต่อเส้นทางรถไฟ เฉิงตู-ยุโรป แถมเศรษฐกิจเติบโตขึ้น 76.9 % ฉบับ (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563)
ภาพประกอบจาก www.cen.ce.cn