จีนพบ ‘ตัวอย่างหินจากดวงจันทร์’ เป็น ‘หินบะซอลต์ชนิดใหม่’ | XinhuaThai

(แฟ้มภาพซินหัว : นักวิจัยจีนถือจานแก้วบรรจุตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ที่สถาบันธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน วันที่ 15 ต.ค. 2021)

ปักกิ่ง, 20 ต.ค. (ซินหัว) — ผลการจำแนกและวิเคราะห์หินที่ยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 (Chang’e-5) ของจีนเก็บรวบรวมมาจากดวงจันทร์ ชี้ให้เห็นว่าตัวอย่างหินเหล่านี้เป็นหินบะซอลต์บนดวงจันทร์ชนิดใหม่ ซึ่งแตกต่างจากหินที่ยานอวกาศในภารกิจอะพอลโล (Apollo) ของสหรัฐฯ และภารกิจลูนา (Luna) ของสหภาพโซเวียตในอดีต เคยเก็บรวบรวมมาได้

คณะนักวิจัยจากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติ (NAOC) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) วิเคราะห์อนุภาคหินที่มีขนาด 10-500 ไมครอน (1 ใน 4 ของความหนาบัตรเครดิต) และพบว่าลักษณะของหินเหล่านี้โดยหลักแล้วเป็นหินบะซอลต์ ซึ่งจะไม่เหมือนกับหินบะซอลต์บนโลกที่อุดมด้วยธาตุแมกนีเซียมและเหล็ก โดยหินบะซอลต์จากดวงจันทร์นั้นมีแมกนีเซียมต่ำและมีสารประกอบไอเอิร์นออกไซด์ (iron oxide) สูง

ผลการวิจัยดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันอังคาร (19 ต.ค.)

หลี่ชุนไหล นักวิจัยจากหอสังเกตการณ์ฯ ผู้เป็นหัวหน้าผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวว่าผลการวิเคราะห์ดังกล่าวอาจให้ข้อมูลหินบะซอลต์ประเภทใหม่ พร้อมเสริมว่าหินบะซอลต์ที่เพิ่งจำแนกได้ใหม่นี้ แตกต่างจากตัวอย่างที่เคยเก็บได้ในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งก่อนๆ ซึ่งอาจช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของภูเขาไฟบนดวงจันทร์

หลี่ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวอย่างบนดวงจันทร์ที่เก็บมาได้จากภารกิจอะพอลโลของสหรัฐฯ และภารกิจลูนาของสหภาพโซเวียต เมื่อหลายสิบปีก่อน ได้สร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของดวงจันทร์ ทว่าสถานที่สุ่มตัวอย่างของพวกเขาตั้งอยู่ในพื้นที่ละติจูดต่ำ ซึ่งไม่สามารถใช้เป็นตัวแทนในการสื่อถึงลักษณะที่ครอบคลุมพื้นผิวส่วนใหญ่ของดวงจันทร์ได้

อย่างไรก็ดี ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของยานฉางเอ๋อ-5 ของจีนจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ที่ใช้เก็บตัวอย่างยังไม่หลากหลายมากพอได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นการเก็บดินจากบริเวณละติจูดกลางของดวงจันทร์ อันเป็นพื้นที่ราบที่มืดและถูกขนานนามว่าเป็น “มหาสมุทรแห่งพายุ” (Ocean of Storms) โดยคณะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ตัวอย่างดินดังกล่าวจะเก็บรักษาหลักฐานการปะทุของภูเขาไฟที่เก่าแก่ที่สุดบนดวงจันทร์เอาไว้

“ตัวอย่างจากดวงจันทร์เหล่านี้จะเปิดหน้าต่างแห่งยุคใหม่สำหรับการศึกษาวิทยาศาสตร์ดวงจันทร์” หลี่กล่าว พร้อมย้ำว่าการศึกษาใหม่นี้จะให้ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง

ทั้งนี้ ยานฉางเอ๋อ-5 กลับสู่โลกเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2020 พร้อมเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ทั้งหมด 1,731 กรัม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหินและดินบนพื้นผิวดวงจันทร์ โดยองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ได้ส่งตัวอย่างประมาณ 17 กรัม ไปยังสถาบัน 13 แห่ง ที่สมัครเข้าร่วมโครงการวิจัย

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :

Xinhua

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]