เราทุกคนคงทราบกันดีว่าหัวใจของการเกิด “นวัตกรรม” มาจาก “การวิจัยและพัฒนา” มณฑลกวางตุ้งซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีนได้ดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อการเป็นเบอร์หนึ่งด้านนวัตกรรมของจีน ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนได้จัดทำ “รายงานศักยภาพด้านนวัตกรรมของจีนประจำปี 2563” โดยศึกษาศักยภาพด้านการพัฒนานวัตกรรมของแต่ละพื้นที่ของจีน รายงานดังกล่าวระบุว่า มณฑลกวางตุ้งมีดัชนีศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมสูงเป็นอันดับ 1 ของจีน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 ปี ผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าอะไรทำให้ มณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีน โดยมีขนาด GDP มากที่สุดในจีนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 30 ปี ยังสามารถควบแชมป์ด้านนวัตกรรมเช่นนี้ได้ และอะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้
ทุ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา
เมื่อปี 2562 มณฑลกวางตุ้งใช้จ่ายงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนามูลค่า 309,850 ล้านหยวน (44,915 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยคิดเป็นร้อยละ 2.88 ของ GDP ของมณฑลกวางตุ้ง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในมณฑลกวางตุ้งจัดสรรงบประมาณและเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากเป็นอันดับ 1 ของจีนติดต่อกันนาน 3 ปี โดยมีมณฑลเจียงซูเป็นอันดับ 2 มูลค่า 277,950 ล้านหยวน (40,291 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) กรุงปักกิ่ง อันดับ 3 มูลค่า 223,360 ล้านหยวน (32,378 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นครเซี่ยงไฮ้ อันดับ 4 มูลค่า 152,460 ล้านหยวน (22,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมณฑลซานตง อันดับ 5 มูลค่า 149,470 ล้านหยวน (21,667 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
เดินหน้าปรับปรุงนโยบายด้านภาษี
ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญของจีน นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 โดยรัฐบาลกลางจีนได้ออกนโยบายเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาโดยมุ่งเน้นช่วยเหลือภาคเอกชนในการลดค่าใช้จ่ายด้วย “การลดภาษี” ซึ่งมณฑลกวางตุ้งก็ได้รับนโยบายดังกล่าวมาดำเนินการอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ภาคเอกชนบางรายอาจไม่สามารถใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวได้อย่างเต็มที่เนื่องจากความซับซ้อน และขั้นตอนที่ยุ่งยากในการขอรับการสนับสนุน ดังนั้น เพื่อให้การใช้นโยบายดังกล่าวมีความสะดวกมากขึ้น ลดความซับซ้อน และเพื่อสร้างความชัดเจนของประเภทโครงการวิจัยที่เข้าข่ายได้รับการสนับสนุน สำนักงานจัดเก็บภาษีประจำมณฑลกวางตุ้ง (Guangdong Provincial Tax Service) จึงได้จัดทำ “แนวทางการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมการวิจัยและพัฒนา” สำหรับโครงการวิจัยและพัฒนาใน 10 สาขาอุตสาหกรรม ซึ่งสำนักงานจัดเก็บภาษี ประจำมณฑลกวางตุ้งเรียบเรียงจากคู่มือการดำเนินนโยบาย หักลดภาษีสำหรับโครงการพัฒนาและวิจัยที่ประกาศโดยกระทรวงการจัดเก็บภาษีจีน (State Taxation Administration) เมื่อปี 2561 โดยแบ่งตามสาขาการวิจัยและพัฒนา ดังนี้
- เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรุ่นใหม่ (Next-Generation Information And Communication Technology) ได้แก่ โครงข่ายโทรคมนาคมยุคหน้า (Next Generation Network) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) เทคโนโลยีผสานเครือข่าย (Network Convergence) จอแบนรุ่นใหม่ (Next-Gen Flat-Panel Display) แผงวงจรรวมประสิทธิภาพสูง (High-Performance Integrated Circuit) และคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing)
- การผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูง (High-end Equipment Manufacturing) เช่น อุตสาหกรรมการผลิต
ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือใช้อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า - เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ (Green and Low-Carbon Technology) เช่น รถยนต์พลังงานใหม่ พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่
- ชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceutical) เช่น เทคโนโลยีการหาลำดับเบส (Next generation sequencing) ชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences) การรักษาโรคด้วยเซลล์ (Stem-cell Therapy) การตรวจหาโรคจากชิ้นเนื้อและของเหลว (liquid biopsy) การพิมพ์วัสดุชีวภาพสามมิติ (3D-bioprinting) แพทย์แผนจีนเพื่อสุขภาพ และวัคซีนใหม่ เป็นต้น
- เศรษฐกิจดิจิดัล (Digital Economy) เช่น ระบบซอฟต์แวร์ประมวลข้อมูล ซอฟต์แวร์พื้นฐาน การจัดเก็บข้อมูล และแอปพลิเคชัน เป็นต้น
- วัสดุใหม่ (New Materials) ได้แก่ (1) เทคโนโลยีวัสดุโลหะ (metallic materials) อาทิ เทคโนโลยีวัสดุสำหรับเซมิคอนดักเตอร์ (2) วัสดุที่ไม่ใช่โลหะ (Non-metallic materials) อาทิ เทคโนโลยีวัสดุเสริมความแข็งแกร่งของเซรามิก (3) วัสดุโพลีเมอร์ (Polymer Material) อาทิ เทคโนโลยีการรีไซเคิลโพลีเมอร์ (4) วัสดุชีวภาพทางการแพทย์ (Biomedical Materials) อาทิ เทคโนโลยีกระดูกเทียม (5) สารเคมีพิเศษ อาทิ เทคโนโลยีสารเคมีสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ (6) วัสดุใหม่ด้านศิลปะและวัฒนธรรม
- เศรษฐกิจทางทะเล (Marine Economy) ได้แก่ การประมงทะเล (Marine Fisheries) การขนส่งทางทะเล การต่อเรือเดินทะเล อุตสาหกรรมเกลือทะเล และการท่องเที่ยวทางทะเล
- อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์สมัยใหม่และการเกษตรความแม่นยำสูง (Modern Seed Industry and Precision Agriculture) ได้แก่ อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการเกษตรความแม่นยำสูง ความปลอดภัยของอาหาร และอุปกรณ์การเกษตรอัจฉริยะ
- วิศวกรรมสมัยใหม่ (Modern Engineering Technology) ได้แก่ เทคโนโลยีการก่อสร้างโครงการพื้นฐาน เทคโนโลยีการควบคุมบริหารจัดการและประหยัดน้ำ เทคโนโลยีการจัดสรรพื้นที่เมืองและการรีไซเคิล เทคโนโลยีอาคารสีเขียวอัจฉริยะ และเทคโนโลยีวิศวกรรมสมัยใหม่
- สารกึ่งตัวนำและวงจรรวม (Semiconductors and Integrated Circuits)
ลดภาษีสูงสุดร้อยละ 70 หวังสร้างสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นและกาเซลล์
นายหลิว เคอ (Liu Ke) ผู้อำนวยการกองภาษีรายได้นิติบุคคล กรมจัดเก็บภาษี ประจำมณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่า กรมจัดเก็บภาษี ประจำมณฑลกวางตุ้งได้จัดทำแนวทางเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมการวิจัยและพัฒนาใน 10 สาขาอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมโครงการวิจัยและพัฒนาที่ดำเนินในช่วงปี มกราคม 2561 – ธันวาคม 2563 โดยแบ่งออกเป็น 3 นโยบายสำคัญเรียกว่า “หนึ่งปรับ หนึ่งขยาย และหนึ่งเพิ่ม” ซึ่งประกอบด้วย (1) หนึ่งปรับ คือ ปรับอัตราส่วนการหักภาษีโครงการวิจัยและพัฒนาสูงสุดร้อยละ 70 จากเดิมร้อยละ 50 (2) หนึ่งขยาย คือ ขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาของโครงการฯ ที่สามารถรับประโยชน์จากนโยบายฯ ได้นานที่สุด 10 ปี จากเดิม 5 ปีและ (3) หนึ่งเพิ่ม คือ เพิ่มเงื่อนไขพิเศษให้กับบริษัทซอฟต์แวร์และแผงวงจรรวม โดยบริษัทเทคโนโลยี ศูนย์บ่มเพาะทางเทคโนโลยี (Technology Business Incubator) รวมถึงบริษัทที่ดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ (new business model company) ในมณฑลกวางตุ้ง สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์นี้
นายหลิวฯ ยังกล่าวด้วยว่า นโยบายหักลดภาษีให้แก่โครงการวิจัยและพัฒนาจะสามารถกระตุ้นให้มณฑลกวางตุ้ง มีสิ่งแวดล้อมสำหรับการพัฒนานวัตกรรมที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งมณฑลกวางตุ้งมุ่งหวังที่จะสร้างบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วระดับยูนิคอร์น (unicorn) และบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วและมีผลกำไรมากระดับกาเซลล์ (gazelle company) ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
เชื่อได้ว่า นโยบายด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะใน 10 สาขาอุตสาหกรรมดังที่กล่าวมาข้างต้น จะนำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในมณฑลกวางตุ้งมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนด้านภาษีล้วนแล้วสอดคล้องกับสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งพัฒนาภายใต้โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) หากสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยในไทยสามารถมีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาในด้านต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วจะเป็นโอกาสอันดีที่ไทยกับมณฑลกวางตุ้งสามารถแบ่งปันผลงานการวิจัยเพื่อนำไปผลิตนวัตกรรมสำหรับการใช้ในไทย และเปลี่ยนเป็นแรงขับเคลื่อนให้แก่เศรษฐกิจไทยในยุคดิจิทัลต่อไป ในอนาคต
แหล่งที่มาของข้อมูล
มณฑลกวางตุ้งปัดฝุ่นนโยบาย “ลดภาษีสำหรับโครงการวิจัยและพัฒนา” หวังยืนหนึ่งด้านนวัตกรรม