เศรษฐกิจ BCG แนวทางการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืน | Thailand STI and Higher Education Day 2021

เศรษฐกิจ BCG แนวทางการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ


รูปแบบเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green หรือ BCG เป็นการนำแนวคิดของเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) ไปใช้ในการพัฒนาประเทศ เพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็งและประชาชนมีรายได้สูงขึ้น

  • เศรษฐศาสตร์ชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรธรรมชาติและชีวภาพ ตลอดจนสินค้าเกษตร
  • เศรษฐกิจหมุนเวียน คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ผ่านการนำกลับมาใช้ใหม่ (reuse) และรีไซเคิล (recycle)
  • เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร แก้ไขปัญหามลพิษเพื่อลดผลกระทบต่อโลกครอบคลุม 4 ด้าน คือ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ประเทศไทย มีความได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม และภูมิศาสตร์ โดยอุตสาหกรรมด้าน BCG นั้นมีขนาด 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติของประเทศไทยและสร้างงาน 16.5 ล้านตำแหน่ง ขณะเดียวกัน ความท้าทายของประเทศไทย คือ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ การเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ไม่ดี การพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีต่ำ และรายได้ต่ำ

รูปแบบเศรษฐกิจ BCG จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างการพึ่งพาตนเอง สร้างความยืดหยุ่น และเร่งการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19

เป้าหมาย 6 ด้าน (พ.ศ. 2564-2569)

เศรษฐกิจ BCG เป็นการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นที่การอนุรักษ์ การฟื้นฟู การใช้ประโยชน์ และการจัดการ ตลอดจนการสร้างคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม โดยมีแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย BCG Economy Model เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2564-2569 มีเป้าหมาย 6 ด้าน

  1. ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม
  2. การเกษตรและอาหาร
  3. การแพทย์และสุขภาพ
  4. พลังงาน วัสดุ และชีวเคมี
  5. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
  6. เศรษฐกิจหมุนเวียน

แผนปฏิบัติการสำหรับแต่ละพื้นที่ยุทธศาสตร์ จะมีดังต่อไปนี้

  1. เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและชีวภาพ มีแผนดำเนินการเพื่อสร้างสมดุลของการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ สร้างขีดความสามารถในการจัดการทรัพยากร และสร้างระบบการจัดการทรัพยากร
  2. เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจระดับรากหญ้า พัฒนาความมั่นคงด้านอาหาร สุขภาพ และพลังงาน อำนวยความสะดวกในการพัฒนาตามพื้นที่ และทำให้ความรู้และเทคโนโลยีเข้าถึงได้สำหรับระดับรากหญ้า
  3. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรม BCG ไทย ด้วยการพัฒนาตามภาคส่วนและจัดการกับองค์ประกอบหลายอย่างเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรม เช่น ผู้มีความสามารถและผู้ประกอบการ ตลาด กรอบการกำกับดูแล และโครงสร้างพื้นฐาน
  4. เพื่อสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้า การสร้างขีดความสามารถ และความร่วมมือระหว่างประเทศ

แผนงาน BCG ประกอบด้วย 3 ระยะ

ระยะที่ 1: 2564-2565
เน้นการสร้างรากฐานที่มั่นคง โดยการสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจ BCG ในทุกภาคส่วนเพื่อให้มีส่วนร่วม การเตรียมฐานข้อมูลที่ครอบคลุมของทรัพยากรชีวภาพ วัฒนธรรมท้องถิ่น และ สถานที่ท่องเที่ยว คัดเลือกโครงการและ Change Agent สำหรับการดำเนินการขยายผล ผ่อนคลายกฎหมายและระเบียบข้อบังคับบางประการ การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและกำลังคน การระบุและดำเนินการโครงการที่เป็น quick-win การพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญ เช่น พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ยาปฏิชีวนะ และการใช้สารเคมีในการเกษตร และเสริมสร้างระบบนิเวศแบบพลวัต

ระยะที่ 2 : 2023-2025
การดำเนินการเพื่อขยายผล และเสริมสร้างอุตสาหกรรมผ่านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการสนับสนุนผู้ประกอบการ และการตลาด

ระยะที่ 3 : 2569-2570
ในระยะสุดท้าย จะเน้นการขยายผลิตภัณฑ์และบริการไปสู่ตลาดโลก ขยายผลการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยขั้นแนวหน้า

รูปแบบเศรษฐกิจ BCG เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนในสังคม รวมทั้งภาครัฐ เอกชน วิชาการและการวิจัย ชุมชนและพันธมิตรระหว่างประเทศ จึงมีการกำหนดโครงสร้างและกลไกสำหรับการบริหารงาน ตลอดจนการติดตามและประเมินผล
มีการตั้งคณะกรรมการสามระดับเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการ BCG ประกอบด้วย

  1. คณะกรรมการนโยบาย BCG มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
  2. คณะกรรมการดำเนินการ BCG
  3. คณะอนุกรรมการ BCG ในแต่ละภาคส่วนเฉพาะ

ที่มา วารสาร “วิทย์ไมตรีไทย-จีน” ฉบับเดือนมิถุนายน 2564
Thailand STI and Higher Education Day 2021
วันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการอุดมศึกษาไทย ณ กรุงปักกิ่ง พ.ศ. 2564

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]