ปักกิ่ง, 24 มิ.ย. (ซินหัว) — คณะนักวิจัยชาวจีนเตรียมใช้งาน ‘เอิร์ธแล็บ’ (EarthLab) ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการเสมือนจริง ในการจำลองระบบของสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ อากาศของโลกและอวกาศ ตลอดจนสำหรับการคาดการณ์และบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ
เอิร์ธแล็บ เป็นสถานที่จำลองเชิงตัวเลขของระบบโลก (Earth system) ที่ได้รับการเปิดตัวเมื่อวันพุธ (23 มิ.ย.) ณ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน โดยมีผู้พัฒนาหลักคือ สถาบันฟิสิกส์บรรยากาศ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) และเป็นที่คาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้เต็มรูปแบบและเปิดให้มหาวิทยาลัยและนักวิจัยทั่วโลกเข้าใช้งานได้ในปี 2022
จางเฮ่อ นักวิจัยของเอิร์ธแล็บกล่าวว่าระบบโลกมีขอบเขตกว้างขวางและความซับซ้อนอย่างยิ่ง ขณะที่ทฤษฎีและการสังเกตด้วยวิธีเดิมนั้นมีข้อจำกัดจนไม่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งหมดของบรรดานักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ ทว่าการใช้อุปกรณ์จำลองนี้จะช่วยปรับปรุงความแม่นยำของจีนในการพยากรณ์อากาศ
เอิร์ธแล็บ ถือเป็นห้องปฏิบัติการเสมือนจริงแห่งแรกของจีนที่ใช้สำหรับการจำลองระบบภูมิอากาศทางกายภาพ ระบบสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ระบบส่วนที่เป็นของแข็งของโลก (solid earth) และระบบสภาพอากาศในอวกาศ ด้วยแพลตฟอร์มการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพสูง
จางกล่าวว่า เอิร์ธแล็บจะช่วยสนับสนุนการทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกและการประเมินสถานการณ์ภาวะโลกร้อนในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้จีนบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แตะระดับสูงสุดตลอดจนบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน
อนึ่ง หลายประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ก็มีการสร้างอุปกรณ์จำลองเชิงตัวเลขของระบบโลกที่คล้ายคลึงกันนี้
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Xinhua