วันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ภาพยนตร์เรื่องร้อยแปด(《一百零八》)หรือในชื่อภาษาอังกฤษWonder In The Templeภาพยนตร์ที่มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริงที่เชื่อว่าเป็นภาพยนตร์แห่งความประทับใจประจำปี 2020 ได้ลงฉายในโรงภาพยนตร์จีน
อู๋ จิง (吴京)ดาราชื่อดังของจีนได้ประจักษ์ด้วยสายตากับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเวิ่นชวนปี 2008และเมื่อเขามาแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้จึงทำให้ทั้งคนจีนและทั่วโลกที่มีความสนใจประเทศจีน ต่างได้รู้จักวัดอรหันต์สือฟาง นอกเหนือจากวัดเส้าหลินที่คนจีน คนไทยและคนทั่วโลกรู้จักกันดีจากภาพยนตร์จีน แม้วัดอรหันต์สือฟางจะไม่โด่งดังเรื่องมวยจีน แต่วัดนี้ได้ใช้เมตตาธรรมค้ำจุนโลกา มาทำให้คนทั่วโลกประทับใจ อยู่กันอย่างเมตตา ย่อมมีแต่สันติสุข วัดอรหันต์กับ “108ทารกอรหันต์ ” 108 คน เรื่องราวที่น่าประทับใจยากที่จะลืมเลือน
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2008 มณฑลเสฉวนที่อยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ริกเตอร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 69,226 คน บาดเจ็บ 374,643 คน หายสาบสูญ 17,923 คน ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่อำเภอเวิ่นชวน จึงเรียกแผ่นดินไหวครั้งนี้ว่า “แผ่นดินไหวเวิ่นชวน” โดยแผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลกระทบรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง
เมืองสือฟางเป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในเมืองมีวัดแห่งหนึ่งชื่อวัดอรหันต์ กุฏิวัดสั่นสะเทือน ตรงกันข้ามกับวัดที่ตั้งของเป็นโรงพยาบาลอนามัยแม่และเด็ก มีหญิงตั้งครรภ์กว่า 20 คนที่กำลังรอคลอด แต่อาคารนี้เป็นสถานที่อันตรายพร้อมที่จะถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ จึงต้องหาที่หลบภัยใหม่
หลังแผ่นดินไหว โรงพยาบาลในอำเภอและเมืองพังทลายเกือบหมด บางแห่งยังคงใช้งานได้ แต่ก็รองรับผู้บาดเจ็บจากแผ่นดินไหวจนเต็มแล้ว ทำอย่างไรกันดี?
วัดอรหันต์มีลานกว้างที่สามารถตั้งเต็นท์ชั่วคราวได้ แต่วัดเป็นสถานที่ปฏิบัติภาวนา โดยเฉพาะห้ามเห็นเลือดสดๆ ในวัด ทางวัดจะยอมไหม?
เมื่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลอนามัยแม่และเด็กไปติดต่อกับหลวงพ่อซู่ฉวน เจ้าอาวาสวัดอรหันต์ หลวงพ่อหารือกับพระในวัดสักครู่ แล้วตัดสินใจตกลงให้ใช้ลานวัด เป็นการเปิดประตูวัดโดยปราศจากเงื่อนไข 3 ประการ คือ หนึ่ง รับผู้ประสบภัยทั้งหมด รวมถึงหญิงตั้งครรภ์เข้าวัด สอง สนับสนุนสิ่งของทุกอย่างที่โรงพยาบาลใช้ได้ สาม ให้ผู้ประสบภัยรวมถึงหญิงตั้งครรภ์กินอยู่ฟรี
นอกจากนั้น ยังมีข้อที่อนุโลมให้เป็นพิเศษคือ อนุญาตให้หญิงตั้งครรภ์และที่คลอดลูกแล้วกินเนื้อไก่ แต่ผู้ประสบภัยคนอื่นๆ ห้ามกินเนื้อทุกอย่างในวัด เนื่องจากตามปกติวัดในจีนจะอนุญาตเฉพาะอาหารเจ ห้ามนำเนื้อสัตว์เข้าไป
วันแรกที่โรงพยาบาลฯย้ายผู้ป่วยเข้ามาอยู่ในวัด มีฝนตกหนักและลมแรง ห้องเกือบทุกห้องในวัดมีน้ำรั่วลงมา ทว่ามีว่าที่คุณแม่คนหนึ่งรอไม่ไหว ยังไงก็ต้องคลอด เวลานั้น มีแต่หอฉันที่พอใช้เป็นสถานที่คลอดได้ แต่ก็ไม่มีเตียง จึงต้องใช้โต๊ะอาหาร 3 ตัวมาประกอบเป็นเตียง ปูกระดาษข้างบน ไม่มีไฟฟ้า ก็ใช้ไฟฉายแทน
เวลาประมาณ 07.00 น.เช้าวันที่ 13 พฤษภาคม เสียงร้องอุแว๊ ๆ ของเด็กดังขึ้นในวัด “ทารกอรหันต์” คนแรกของวัดอรหันต์ลืมตาขึ้นดูโลกด้วยความปลอดภัย หลวงพ่อตั้งชื่อให้ทารกว่า “เจิ้นเวิ่น” เจิ้นแปลว่า แผ่นดินไหว เวิ่นหมายถึงอำเภอเวิ่นชวน สถานที่เกิดแผ่นดินไหว
หลังจากนั้น ที่วัดแห่งนี้มีทารกแรกเกิดทยอยกันลืมตาขึ้นมาดูโลกรวมแล้ว 108 คน ชาวท้องถิ่นเล่ากันว่า นี่เป็น“ทารกอรหันต์” 108 คนที่พระพุทธเจ้าประทานมาให้
ขณะคลอด ทางวัดอรหันต์คงไม่มีความพร้อมและอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคใดๆ แต่เด็ก 108 คนนี้ ล้วนลืมตาดูโลกด้วยความปลอดภัย ไม่มีการติดเชื้อหรือเสียชีวิตสักคน นี่เป็นสิ่งมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่ง
ปัจจุบันที่ห้องเก็บเอกสารของวัดอรหันต์ ยังมีเอกสารของ “ทารกอรหันต์” 108 คน ที่มีการบันทึกไว้ว่าคุณหมอคนไหนทำหน้าที่ทำคลอด น้ำหนักแรกเกิดเท่าใด พ่อแม่ชื่ออะไร บ้านพักอยู่ที่ไหน เป็นต้น
ช่วงเวลากว่า 1 เดือนหลังแผ่นดินไหว วัดอรหันต์ได้รองรับผู้ประสบภัยกว่า 2,000 คน ทางวัดต้มน้ำร้อนแจกจ่ายตลอด 24 ชั่วโมง หม้อต้มน้ำร้อนใช้งานหนักจนเสียต้องเปลี่ยนหม้อใหม่ 2 หม้อ เผาถ่านหินมากเท่ากับปริมาณการใช้ถ่านหินทั้งปีของวัดในยามปกติ รถยนต์เล็กหลายคันของวัดที่ใช้ในการกู้ภัยนั้น เสียค่าน้ำมันกว่า 20,000 หยวน (ราว 100,000 บาท)
หลวงพ่อซู่ฉวนกล่าวว่า “การสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นเป็นความสุขที่สำคัญที่สุดในชีวิต”
เมื่อเผชิญภัยพิบัติ หวงพ่อซู่ฉวนยอมผ่อนปรนวัตรปฏิบัติบางข้อ พร้อมทั้งใช้รูปแบบที่เรียบง่ายที่สุดเพื่อต้อนรับชีวิตใหม่ให้ลืมตามาดูโลก นี่น่าจะเป็นความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
ลึกชัดกับผิงผิง